“ขนมไทยอ่อนหวาน” ของหวาน ทานได้
ที่มา : แฟนเพจกินดีmeสุข
ภาพประกอบจากแฟนเพจกินดีmeสุข โดยภาพจาก ริน ขนมไทย
เคยไหม อยากทานเหลือเกิ้น…เหลือเกิน "ขนมหวาน" ใจหนึ่งอดห่วงไม่ได้ว่า อ้วน!!…แต่สุดท้าย แพ้ใจตัวเอง ทานค่ะ หลังทานแล้ว รู้สึกผิด!!
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทานของหวาน หรือขนมหวาน ก่อให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน และอีกหลายโรคตามมา ซึ่งหน่วยงานของรัฐ หรือ องค์กรต่าง ๆ ได้ออกมาสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้
กลุ่มของผู้ขายขนมไทยได้ให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องสุขภาพของลูกค้า จึงได้เข้าร่วม “โครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อสุขภาพ” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อย่าง "ริน ขนมไทย” ร้านขนมไทยต้นตำนานย่านชื่อดัง เมืองแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นอีกหนึ่งร้านที่ขานรับและเห็นด้วยต่อการมีส่วนร่วมใส่ใจสุขภาพลูกค้า จึงได้ลดระดับความหวานของขนมไทยเป็นสูตร "ขนมไทยอ่อนหวาน"
โดยเฉพาะ “ขนมกระยาสารท” ต้นตำรับและจุดเริ่มขนมไทยแห่งร้านริน ได้ปรับลดความหวานลงมาถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนขนมไทยชนิดอื่นในร้านกว่า 40 ชนิด ได้ปรับลดความวานลงด้วยเช่นกัน
แต่เป็นไปตามสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้เก็บค้างคืนได้ตามเวลาที่สมควร โดยยังคงคุณค่าและมาตรฐานของขนมไทยไว้
ที่ผ่านมาลูกค้าแทบไม่รู้สึกว่า ขนมที่ทานจาก “ริน ขนมไทย” ได้ปรับความหวานลดลง แต่เป็นการปรับลดทีละน้อย ๆ ค่อย ๆ ลดลง จนลูกค้าที่ทานประจำรู้สึกถึงความแตกต่างได้น้อยมาก
ด้วยความซื่อสัตย์ที่มีต่อลูกค้า ร้านรินขนมไทย เขียนติดไว้ชัดเจนว่า เป็นขนมไทย สูตรอ่อนหวาน โดยเฉพาะ “ขนมตระกูลทอง” ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ ล้วนปรับลดเป็นสูตรอ่อนหวานแล้วทั้งหมดโดยนำมาวางไว้ในตู้เย็นขนาดใหญ่ มีป้ายติดไว้ชัดเจนว่า “ขนมไทยอ่อนหวาน”
แต่ก็มีขนมไทยบางชนิดที่ไม่สามารถยกเลิกสูตรดั้งเดิมได้ เพราะเป็นสูตรต้นตำรับ มีลูกค้าทานมาก เช่น กระยาสารท จึงต้องทำทั้งสูตรดั้งเดิมและหวานน้อย วางขายคู่กันให้ลูกค้าเลือกทาน
“การลดความหวานในขนมจากสูตรดั้งเดิมที่เคยทำ ไม่ใช่หวังเรื่องผลกำไร แต่ที่ต้องปรับเป็นสูตรหวานน้อย หรือ อ่อนหวาน เพราะห่วงเรื่องสุขภาพของลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง คิดง่าย ๆ คือ เราเองก็อยากมีสุขภาพดี ลูกค้าก็คงอยากมีสุขภาพดีเช่นกัน"
นางวรพรรณี น้อยใจบุญ ต้นตำนานและผู้เริ่มต้นผู้ผลิต “ริน ขนมไทย” กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น พร้อมกับขยายความเพิ่มว่า เริ่มทำ “ขนมไทยอ่อนหวาน” มาได้ประมาณ 4 ปีแล้ว หลังจากเข้าไปอบรมกับ สสส. เกี่ยวกับเรื่องลดเค็ม ลดหวาน แล้วรู้สึกเห็นด้วยอย่างมาก จึงได้นำมาปรับใช้กับการผลิตขนมหวานของตนเอง
ด้วยความคิดที่ว่า เราขายขนมหวานเพื่อความอยู่รอด ก็ต้องห่วงใยสุขภาพคนอื่นด้วย จึงได้ปรับสูตรใหม่เป็นสูตรขนมไทยอ่อนหวาน และแม้จะอ่อนหวาน แต่คุณค่าของขนมไทย ซึ่งเป็นจุดแข็งและจุดขายของที่ร้านไม่เปลี่ยน
“หลังจากมีขนมในร้านเป็นสูตรอ่อนหวานก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้ลูกค้าใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น จึงเป็นผลดีเรายังขายได้ ส่วนลูกค้าทานแล้วไม่หวานมาก ดีต่อสุขภาพด้วย”
รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ นายกสมาคม โภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ชื่นชมว่า “ริน ขนมไทย” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี เจ้าของร้านพร้อมปรับเปลี่ยนทุกอย่างเพื่อให้ลูกค้าได้สิ่งดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของการลดหวานในขนมที่ผลิตออกมาขาย ถ้ามีร้านค้าที่เป็นเช่นนี้จำนวนมากก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
“ถ้ามีร้านค้าที่มีคุณภาพเช่นนี้มาก ๆ ก็จะช่วยกันขับเคลื่อนสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ สังคมก็จะมีคนสุขภาพดีเพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย”
ปัจจุบันยังมีร้านขนมไทย ซึ่งทำขนมรสชาติอ่อนหวานแบบนี้อีก ได้แก่ เอกชัยสาลี่ จ.สุพรรณบุรี และ บ้านขนมนันทวัน จ.เพชรบุรี