ก้าวใหม่ ISPAH 2016 ยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกาย
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
แฟ้มภาพ
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า แต่ละปีประชากรโลก 35 ล้านคน ต้องเสียชีวิตเพราะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจ ความดัน มะเร็ง เบาหวาน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ที่มีปัจจัยเสี่ยงจาก เหล้า บุหรี่ อาหาร และขาดกิจกรรมทางกาย
เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องกิจกรรมทางกาย และผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ในการเปิด การประชุมนานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6 th International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ISPAH 2016 Congress) หรือ ISPAH 2016 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายนนี้ ณศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร เป็น เจ้าภาพร่วม โดยองค์การอนามัยโลก เป็นผู้สนับ สนุนสำคัญ ซึ่งภายในงานมีนักวิชาการ นักวิจัย ภาครัฐ และองค์กร เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน จาก 80 ประเทศ ก่อนเปิดการประชุมผู้เข้าประชุมทั้งหมดร่วมกันยืนสงบนิ่ง เพื่อแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเวลา 89 วินาที หลังจากนั้น พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุน สสส. เป็นประธานเปิดการประชุม และเยี่ยมชม นิทรรศการภายในงาน
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการประชุม ISPAH 2016 ว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายจากหลากหลายประเทศทั่วโลก มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความรู้วิชาการที่เกี่ยวข้อง กับกิจกรรมทางกาย ซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงปัญหาสถานการณ์ และนำไปสู่การนำเสนอนโยบายกิจกรรมทางกายในระดับประเทศต่อไป ทั้งนี้ หนึ่งในเป้าหมาย ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือSDGs คือ การมุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีของประชากรในทุกช่วงวัย โดยลดอัตราการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NonCommunicable Diseases หรือ NCDs) ให้ได้ 1ใน 3 ภายในปี 2573
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวเพิ่มว่า การขาดกิจกรรมทางกายถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักสำหรับกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาจจะนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง และเบาหวาน ดังนั้น ในการแก้ปัญหาการขาดกิจกรรมทางกายนี้ ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะนำไป สู่การบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากการจัดประชุม ISPAH จะมีการร่างยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนทุกกลุ่มวัย ผ่านมิติต่างๆ ทั้งระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ระบบคมนาคม ระบบผังเมือง ชุมชน ซึ่งในขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายแห่งชาติฉบับแรกของไทย โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนให้เห็นผลจริงภายในอีก 5 ปีข้างหน้า
"ที่ผ่านมาในประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ สสส. ได้สนับสนุนให้ประชาชนหันมามีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการวิ่งเพื่อสุขภาพ การปั่นจักรยาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ เราต้องทำอีก คือ ควรจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายให้มากขึ้นและง่ายขึ้น เช่น การมีเลนขี่จักรยาน สวนสาธารณะที่ใช้งานได้เส้นทางการเดินเท้าที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และยังรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมทางสังคมในเชิงกฎหมาย และนโยบายต่างๆ ที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้มากขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างอย่างยั่งยืนได้" พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว
ขณะที่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก่อให้เกิดภาระในการรักษาโรค มีการศึกษาแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางกายถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อกลุ่มโรคดังกล่าว ไม่แพ้การ สูบบุหรี่ จึงจำเป็นต้องสนับสนุนให้คนมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น ซึ่งการจัดสภาพแวดล้อม รวมถึงการร่างนโยบายต่างๆ เพื่อเอื้อและส่งเสริมให้คนมีกิจกรรมทางกายมากขึ้นก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมต่างๆ มาร่วมกันแก้ไขปัญหา
"สสส.เป็นองค์กรที่มีนวัตกรรมในการ ส่งเสริมด้านสุขภาพรูปแบบใหม่ โดยมีภารกิจหลักเพื่อให้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ทั้ง กาย จิตใจ สังคม และปัญญา ด้วยการดำเนินงานและร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ สาธารณสุข ชุมชนท้องถิ่น และในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัย มาสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่ดีขึ้น เพื่อที่จะผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับสากล โดยเชื่อว่าการประชุมในครั้งนี้ จะสามารถผลักดันการดำเนินงานในเชิงกิจกรรมทางกาย ทำให้คนไทยรวมไปถึงทั่วโลกมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้" ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
การประชุมนานาชาติ ISPAH 2016 ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดัน "กิจกรรมทางกาย" ให้กลายเป็นวาระระดับชาติของประเทศไทยในอนาคต