ก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม

เรื่องโดย อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก งานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี และหนังสือปกขาวข้อเสนอนโยบายสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ

ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    เพราะ “มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะคุณจะเป็นใคร ก็สามารถพัฒนาศักยภาพชีวิตของตนเองได้ หากได้รับสิทธิและโอกาสอย่างเท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะเสียงเล็ก ๆ ของประชากรกลุ่มเฉพาะ กับสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเขาเหล่านี้ควรจะได้รับอย่างเท่าเทียม ดุจเช่นประชากรทั่ว ๆ ไป แม้พูดดังเท่าไรก็ไม่มีใครได้ยิน…”

                    จึงเป็นที่มาของงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชาการกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2” (Voice of the voiceless : the vulnerable population) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดขึ้นเพื่อสื่อสารรับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม จากสังคมถึงนโยบายที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะของประชากรกลุ่มเฉพาะ ภายใต้ 9 นโยบายการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนฯให้มีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ ประกอบไปด้วย

  1. การเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นธรรม
  2. หลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต
  3. การเตรียมพร้อมสู่สังคมสูงวัย
  4. หลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต
  5. การลดความรุนแรงบนฐานเพศ
  6. การจัดสวัสดิการถ้วนหน้า
  7. เสริมพลังกลุ่มประชากรเฉพาะ
  8. การมีส่วนร่วมชุน
  9. สานพลังภาคประชาสังคม

                    ใน 9 นโยบายการเปลี่ยนแปลงสู่การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพอย่างยั่งยืน ดังกล่าว เท่ากับว่า  สสส. ยังมุ่งมั่นและยืนหยัดสนับสนุนพัฒนานวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะแก่ประชากรกลุ่มเฉพาะให้มีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ

                    มุ่งเน้นการสร้างทัศนคติและความเข้าใจในคุณค่าของประชากรกลุ่มต่าง ๆ พร้อมร่วมสานพลังกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนให้ประชากรกลุ่มเฉพาะได้รับสิทธิและเสรีภาพในสังคมอย่างเท่าเทียม มาช่วยกันส่งเสียงเล็ก ๆ ที่คนอื่นไม่ได้ยินให้ดังยิ่งขึ้น เพื่อการพัฒนาศักยภาพในการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากความแตกต่าง

                    ในเรื่องนี้ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงความสำคัญว่า “…การมีสุขภาวะที่ดี ทั้งกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสากล ที่ทุกคนควรได้รับการดูแลให้เข้าถึงสิทธิบริการทางสุขภาพ สวัสดิการต่าง ๆ ที่เท่าเทียมกัน และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อประชาชนทุกคนต้องเห็นความสำคัญในเรื่องการดูแลสุขภาวะของตนเองก่อน”

                    และในขณะเดียวกัน สสส.ก็จะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสิทธิ สวัสดิการให้ประชากรกลุ่มเฉพาะ ที่จำเป็นต้องได้รับสิทธิการปกป้องคุ้มครองให้มีคุณภาพชีวิต มีสุขภาวะที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับพลเมืองและชุมชนต่าง ๆ  อย่างเท่าเทียมและยั่งยืนเช่นกัน

                    นางภรณี กล่าวถึงในทศวรรษต่อไปด้วยว่า  สสส.ต้องการปรับเปลี่ยนผลลัพธ์อย่างก้าวกระโดด เพื่อการขยายต้นแบบในการสร้างเสริมสุขภาวะให้เข้ากับโลกยุคดิจิทัลที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของประชากรในปัจจุบันอย่างยิ่ง และถือเป็นความท้าทายสำคัญในการลดความไม่เป็นธรรมทั้งทางสังคมและทางสุขภาพ ให้อยู่บนฐานของสังคมสวัสดิการที่เหมาะสม

                    อีกทั้งลดความแตกต่างในการเข้าถึงสิทธิและโอกาสที่สำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพในการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดี โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะและสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

                    สสส. และภาคีเครือข่ายยังคงมุ่งมั่น สานพลัง ให้ความสำคัญกับการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเฉพาะ ด้วยการสนับสนุนกลไกและกระบวนการสร้างเสริมสุขภาวะในทุกมิติทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ทุกคนได้รับการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการทางสังคมอย่างเท่าเทียมมุ่งสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนประชากรกลุ่มเฉพาะทุกกลุ่ม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Shares:
QR Code :
QR Code