ก้าวที่สำคัญยิ่งของ “ทีวีสาธารณะ”
ส่งผลให้คนไทยรับข้อมูลอย่างเปิดกว้าง
หากจะเรียนการเกิดขึ้นของทีวีสาธารณะ ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย ก็คงไม่ผิดนัก เพราะอุตสาหกรรมการสื่อสารได้ถูกใช้เป็นจุดแบ่งช่วงเวลาของประวัติศาสตร์โลกมาโดยตลอดสังคมสมัยใหม่ และการแพร่หลายของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นการเข้าสู่ยุคสมัยสังคมสมัยใหม่
ที่ว่าทีวีสาธารณะเป็นจุดเปลี่ยนของยุคสมัยในสังคมไทย ก็เพราะการเกิดขึ้นของทีวีช่องนี้ ที่ใช้ชื่อย่อว่า TPBS จะนำมาซึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในหลายๆ ด้านด้วยกัน เช่น
คนไทยจะสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่าง”เปิดกว้าง”และ”เท่าเทียม”มีความมั่นใจได้มากขึ้นว่า ข่าวสารที่จะได้รับนี้จะมีความ”เป็นกลาง” ปราศจากการแทรกแซงข่าวจากกลุ่มอำนาจต่างๆ จนทำให้ข้อเท็จจริงถูกบิดเบือน และทำให้คนไทยมักรับรู้ความจริงแบบส่วนเสี้ยวเดียว
เด็กและเยาวชนไทย จะมีโอกาสได้”เรียนรู้”จากรายการที่มีสาระบันเทิงที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยตอบสนองพัฒนาการได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มวัยรุ่น มิใช่รายการเด็กที่เต็มไปด้วยความรุนแรง หรือแฝงด้วยโฆษณาที่เป็นพิษภัยต่อเด็กๆ
ผู้ชมจะค่อยๆ เปลี่ยนสถานะจากการถูกทำให้เป็นเพียงผู้บริโภค(consumer)ของโฆษณาสินค้าในรายการทีวี มาเป็น “พลเมือง” (citizen)ที่มีคุณภาพ มีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น และเห็นแก่ประโยชน์/ของสาธารณะมากกว่าการสนองตอบความต้องการส่วนตัว
คนทุกกลุ่มทุกวัยในสังคมจะเริ่มมีจิตสำนึกทาง”ประชาธิปไตย”ที่เข้มแข็งขึ้น ผ่านการรับรู้และมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะที่ทีวีช่องนี้จะจัดขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นรากฐานที่สำคัญของการเป็นสังคมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มิใช่ประชาธิปไตยแบบที่ใช้เงินซื้อเสียงได้ง่าย
คนทุกคนในสังคมไทยจะรู้จักเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างกัน เพราะได้รู้จัก”ความหลากหลาย” ทั้งทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่อยู่ร่วมกันได้อันจะนำไปสู่สังคมสมานฉันท์ที่เราทั้งหลายใฝ่ฝันเหตุที่ผู้เขียนเชื่อว่า TPBS จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้ก็เพราะทีวีสาธารณะแห่งนี้ มีภารกิจและเป้าหมายที่แตกต่างไปจากทีวีทุกช่องที่มีอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ
ประการแรก TPBS มีความเป็น”อิสระ” เรื่องเงินทุน เพราะได้รับงบประมาณตรงจากภาษีสรรพสามิตสุรายาสูบ เหมือนกับสสส. จึงไม่ต้องขึ้นกับงบประมาณเป็นรายปีของรัฐ และไม่ต้องหวังจะพึ่งพารายได้จากโฆษณา ตามเงื่อนไขทางการตลาดของกลุ่มธุรกิจ ทำให้ TPBS ปลอดจากการถูกแทรกแซง และแรงกดดันจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน
ประการที่สอง TPBS มีเป้าหมายหลัก คือการเป็น”พื้นที่สาธารณะแห่งการเรียนรู้” ของประชาชน ดังนั้น เนื้อหารายการของสถานีแห่งนี้จึงต้องพุ่งไปที่การตอบสนองประโยชน์โดยรวมของประชาชน(มิใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง) และต้องกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวเกิดความเข้าใจ และเกิดจิตสำนึกร่วมในการเป็นเจ้าของทีวีสาธารณะ
ประการที่สาม TPBS เน้นเรื่องความ”โปร่งใส” และการ”ตรวจสอบได้”ตลอดทั้งกระบวนการ จึงกำหนดให้มีโครงสร้าง และกลไกลการตรวจสอบมากมาย เริ่มตั้งแต่โครงสร้างของคณะกรรมการนโยบาย จำนวน 9 คน ซึ่งจะต้องเป็นตัวแทนจากผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการสื่อสารมวลชน ด้านการบริหารจัดการองค์กร และด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย พัฒนาชุมชน การเรียนรู้ การส่งเสริมเด็ก เยาวชน ครอบครัว และผู้ด้อยโอกาส
โดยมีเงื่อนไขว่าคณะกรรมการนโยบายต้องไม่เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อป้องกันการส่งคนเข้ามาแทรกแซงจากฝ่ายรัฐ เช่นเดียวกับที่ระบุว่ากรรมการต้องไม่เป็นผู้ประกอบกิจการหรือมีหุ้นส่วนอยู่ในกิจการสื่อสารมวลชน เพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในด้านของการตรวจสอบ พรบ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ยังกำหนดให้มี สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 50 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพรายการและภารกิจการให้บริการของสถานีว่าสอดคล้องกับหลักการของการเป็นทีวีสาธารณะหรือไม่ รวมทั้งการเปิดรับฟังเสียงสะท้อนจากสังคมอย่างกว้างขวางด้วย
นับจากนี้ไป ย่อมจะมีความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่ชัดเจนขึ้นใน TPBS ไม่ส่าจะเป็นการทำงานของคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวทั้ง 1 ก.พ.นี้ การจัดจ้างบุคลากรที่มีฝีมือและเข้าใจหลักการของทีวีสาธารณะ และการจัดสรรหางบประมาณให้เหมาะสม ไปจนถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาจำนวน 15 คน ที่จะเป็นผู้คัดเลือกกรรมการนโยบายถาวรภายใน 6 เดือนจากนี้ไป รวมทั้งการเกิดขึ้นของสภาผู้ชมและผู้ฟัง ที่จะมีตัวแทนของประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค เข้ามาร่วมเป็นสมาชิก
ในช่วงเช้าก้าวแรกๆของ TPBS นี้ ย่อมจะเจอกับสิ่งที่ท้าทายมากมายเพราะนี่คือ “ของใหม่” สำหรับสังคมไทย แต่หากเครือข่ายสุขภาวะ และพลังทางสังคมทั้งหลาย ช่วยกันทำความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมในทีวีช่องนี้ ย่อมจะเป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้สังคมในวงกว้าง เข้าใจและช่วยกันปกป้องดูแลทีวีสาธารณะ
เพราะนี่คือทีวีที่ทุกๆ คนร่วมเป็นเจ้าของ
สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.ro.th สอบถาม 0-22980500 ต่อ 1222
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:28-07-51