“ก้าวที่กล้า ลดเหลื่อมล้ำของ สำนัก 9 สสส.”
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพโดย สสส.
เชื่อไหม…ในเมืองไทยมีประชากรกลุ่มเฉพาะ หรือเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยินเป็นจำนวนมากถึง 92.473,000 ล้านคน แยกเป็นแรงงานนอกระบบ 38.3 ล้านคน ผู้หญิง 33.3 ล้านคน ผู้สูงอายุ 10.9 ล้านคน ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและประชากรข้ามชาติ 4.7 ล้านคน มุสลิม 3.43 ล้านคน คนพิการ 1.8 ล้านคน ผู้ต้องขังหญิง 4 หมื่นคน คนไร้บ้าน 3 พันคน
สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. ทำงานภายใต้ฐานคิด "สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาวะกับกลุ่มคนที่ "ถูกละเลยหลงลืม" ในสังคม" การแสดงชุด "Voice of the Voiceless" ห้อง Grand Diamond อิมแพ็ค ฟอรั่ม 2 เมืองทองธานี เพื่อสะท้อนแสงเล็ก ๆ ที่รวมกันเป็นพลังเสียงที่ยิ่งใหญ่ อย่าลังเลในการส่งเสียงออกไป เราคือผู้ลิขิตชีวิตตัวเราเอง Doo Doo เธอเชื่อในลิขิตฟ้าดินไหม ปล่อยชีวิตไปตามโชคชะตา ผิดหวังในใจบ่อยมาก เพราะฟ้าไม่มีหัวใจ จะเลวหรือดีมันอยู่ที่คน จะมีหรือจนมันอยู่ที่ใจ ดินฟ้าไม่เคยลิขิต ชีวิตจะเป็นเช่นไร จงไขว่คว้า จะฝ่าฟัน ไม่ยอมให้ฟ้าลิขิต อยากมีชีวิตที่ใฝ่ฝัน ตั้งแต่วันนี้นี่คือชีวิตที่ลิขิตของเรา……เปลี่ยนชีวิตเป็นดั่งบทละคร หรือยอมให้ใครเขียนบทของเรา ชีวิตจะเป็นเช่นไรก็ขอให้เป็นเพราะตัวเรา เรื่องราวที่เราต้องลิขิตด้วยตัวเราเอง..
"สังคมเลวเพราะคนเฉย" เสื้อยืดสกรีนข้อความที่ตัวแทนประชากรกลุ่มเฉพาะศูนย์คนพิการจาก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น สวมใส่เข้าร่วมงาน โดยมีสมาชิกในครอบครัวติดตามมาด้วย ล่ามเมียนมาที่ทำงานกับกลุ่มประชากรเฉพาะสื่อสารภาษาเมียนมาให้แพทย์-พยาบาลเข้าใจคนไข้ เป็นตัวแทนมาจาก รพ.สมุทรสาคร ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมท่าจีน สารินซิตี้ สมุทรสาคร ตัวแทนมูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ ตัวแทนมูลนิธิสยามกัมมาจล ฯลฯ
พิธีกรหญิง: ฉัฐญา (ฟอร์จูน) รัตนชวลิต พิธีกรชายรับเชิญ: กฤษณะ ละไล (ไชยรัตน์) สื่อมวลชนเครือเนชั่น พิธีกรทีวีช่อง 3 และ เนชั่นทีวี ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ประธานคณะทำงานอารยสถาปัตย์ไทยสู่ประชาคมอาเซียน การประชุมครั้งนี้มีภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม นักวิชาการ ล่ามที่ใช้ภาษามือสื่อสารให้ผู้พิการทางหูและได้ยินเข้าใจถึงการถ่ายทอดด้วยสัญลักษณ์ เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุม 2,400 คน ชูกำปั้นสูง ๆ พร้อมเสียงเฮ…เพื่อเซลฟีภาพหมู่พร้อมกับผู้จัดงาน สสส.และภาคีเครือข่ายเป็นที่ระลึกในงาน "Voice of the Voiceless"
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยจุดยืนสำนัก 9 ด้วยแนวคิดโลกต้องเอาจริงในเรื่องความเป็นธรรม ด้วยการสนับสนุนนิยามใหม่ทางสุขภาพที่กว้างกว่า ปราศจากการเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ครอบคลุมถึงความปกติสุขของคุณภาพชีวิตโดยรวม ซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคม และความเป็นธรรมทางสังคม เน้นการทำงานสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพกับกลุ่มคนที่ "ถูกละเลย หลงลืม" ในสังคม "ก้าวที่กล้าด้วยพันธกิจที่ท้าทายยิ่ง เราต้องทำงานกับมายาคติของสังคม ลดอคติ ลดการประทับตราที่มีต่อประชากรกลุ่มเฉพาะ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และยืนยันซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้กับคนทุกคน"
สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำหนังสือจากหนังสือเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน การสร้างเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ในโลกใบนี้ (ME) มีเราอยู่ด้วย 05.00 น. แสงสีส้มเรื่อที่ค่อย ๆ ปรากฏขึ้นจากดวงตะวัน มาแทนที่สีน้ำเงินเข้มของท้องฟ้า บนตึกแห่งนั้นไฟยังคงสว่างไสว และมีคนหนุ่มสาวหน้าตาดี ร่างกายสมส่วน แข็งแรง มุ่งมั่นกับการออกกำลังกายในสถานฟิตเนส เบื้องล่างของตึก ภายใต้ชายคา ใกล้ผนังคอนกรีต มีคนบางคนปูแผ่นพลาสติกนอนคุดคู้อยู่ตรงนั้น รุ่งสางอย่างนี้บนถนนยังมีรถไม่มากนัก มีแท็กซี่สีสดใสจอดให้ผู้สูงอายุสองคนลงมา ค่อย ๆ ประคองกันไปที่โรงพยาบาลที่อยู่ไม่ไกลจากสถานฟิตเนสแห่งนั้น
คนเหล่านั้นอยู่ในสังคมของเรา ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้าน คนสูงอายุ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ มุสลิม คนไร้สถานะ ผู้หญิง ผู้ต้องขัง คนพิการ และถึงแม้จะเกิดชะตากรรมใดๆ กับชีวิตของคนเหล่านี้ เราก็อาจรู้สึกเพียงสงสาร เห็นใจ ทำได้เพียงเท่านี้ ด้วยเหตุว่าคนเหล่านี้อยู่ไกลจากตัวเราทั้งในความสัมพันธ์ วิถีชีวิต เพราะลำพังต้องพาตัวเองฝ่าข้ามความเหน็ดเหนื่อยยุ่งยากจากภาระในชีวิตประจำวันก็หนักหนาพออยู่แล้ว เอาเวลาหรือความใส่ใจไปกับเรื่องราวอันหนักหนาของคนเหล่านั้นอีกคงหนักเกินจะรับไหว
ประชากรกลุ่มเฉพาะก็คือกลุ่มคนที่ต้องประสบกับภาวะความไร้ตัวตนในสังคม ถูกมองข้าม ละเลย เข้าไม่ถึงทรัพยากร ถูกผลักภาระให้รับผิดชอบชีวิตและชะตากรรมไปตามที่ต้องประสบ มีความเสี่ยงในการใช้ชีวิตสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ขาดอำนาจในการต่อรองทำให้จิตสำนึกที่จำยอม หรือต้องยอมจำนนให้กับความไม่เที่ยงธรรม หรือตามคำนิยามของสำนัก 9 "ประชากรกลุ่มเฉพาะ" คือประชากรบางกลุ่มที่มีทั้งความเปราะบาง มีความเสี่ยง หรือต้องการกระบวนการพิเศษในการเข้าถึงการสร้างเสริมสุขภาพ สุขภาวะอันเป็นปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพที่ทำให้สูญเสียงสุขภาวะ เข้าไม่ถึงบริการ และไม่ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมสุขภาพตามนโยบายในภาพรวม
ประชาชนกลุ่มเฉพาะหรือกลุ่มคนชายขอบ คือบุคคลหรือกลุ่มคนส่วนน้อยซึ่งสังคมไม่รับรู้ ไม่สนใจ เป็นผู้ที่ถูกทำให้มีความสำคัญ และมีชีวิตอยู่ตามชายแดนหรือริมขอบของพื้นที่ในสังคม ทั้งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ศาสนา การศึกษา ภาษา วิถีชีวิตทางเพศ การจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งการเท่าทันกระแสความทันสมัยในยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเป็นธรรมแล้ว คนชายขอบยิ่งอยู่ห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่าความเป็นธรรม ไม่ถูกนับรวมไว้เป็นพวกเดียวกันกับคนส่วนใหญ่ของสังคม
ปัญหาสุขภาพไม่ได้เกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว หากมีเงื่อนไขและปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพให้คนนั้น ๆ มีสุขภาพเป็นเช่นไร จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในสังคมไทยในเวลานี้ เป็นผลกระทบโดยตรงที่มาจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคม…
การมุ่งสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในทุก ๆ มิติให้กับประชากรกลุ่มเฉพาะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่การทำงานของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เชื่อมร้อยให้คนทุกกลุ่มในสังคมหันมา "ส่งเสียง" ในเรื่องเดียวกัน เพื่อทำให้เสียงที่เคยแผ่วเบาหรือแทบจะไม่ได้มีคนได้ยินดังขึ้น และกลายเป็นพลังมากพอที่จะสะท้อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมที่กำลังเงียบงันนี้
ประชากรกลุ่มเฉพาะไม่ได้มีเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น ในสังคมโลกทุกประเทศก็มีประชากรกลุ่มนี้อยู่แทบทุกสังคม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยเป็นผลจากการพัฒนา ความเป็นโลกาภิวัตน์ ความเป็นชาตินิยม การเหยียดผิว การเหยียดเพศ การเหยียดอายุ ความเชื่อทางศาสนา และความต่างของชาติพันธุ์ หรือกลุ่มคนชายขอบ แต่สังคมที่ความเหลื่อมล้ำน้อย และความเป็นธรรมมีอย่างเสมอภาคเที่ยงตรง และการยึดหลักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประชากรกลุ่มนี้เบาบางลง