ก่อนเข้าสู่วัยรุ่น หนังสือแบบไหน ‘โดนใจลูก ถูกใจพ่อแม่’
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
พัฒนาการของเด็กในช่วงวัยอายุ 6-11 ปี หรือที่เรียกว่าช่วงก่อนวัยรุ่น (Pre-Teen) นับว่าเป็นอีกหนึ่งช่วงวัยสำคัญที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดพัฒนาการทางด้านความคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ เพื่อให้เด็กได้ก้าวเข้าสู่วัยนี้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข ซึ่งกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน โดยการเลือกหนังสือให้เหมาะสมกับเด็ก จึงเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมพัฒนาการที่พ่อแม่ต้องมีส่วนช่วยเหลือแนะนำ เพื่อให้เด็กได้อ่านหนังสือตามช่วงวัยที่เหมาะสมกับวัย
SOOK สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดเสวนา BOOK TALK ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ หนังสือสร้างแรงบันดาลใจ ตอน Pre-Teen Books หนังสือแบบไหน โดนใจลูก ถูกใจพ่อแม่ เพื่อช่วยให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองได้เข้าใจการเจริญเติบโต วิวัฒนาการ ความคิด อารมณ์ของเด็กในช่วงวัยนี้ และการเลือกหนังสือให้ลูกได้มากขึ้น
สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท พาสเอ็ดดูเคชั่น จำกัด ได้มาร่วมแชร์ความคิดเห็นในครั้งนี้ กล่าวว่า การให้เด็กช่วงก่อนวัยรุ่นสนใจอ่านหนังสือควรจะต้องเริ่มตั้งแต่อายุ 0-6 ขวบ เพราะเด็กจะเกิดนิสัยรักการอ่าน ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเด็กในช่วงวัย Pre-Teen มีการอ่านที่ก้าวกระโดดอย่างมาก เห็นได้จากความนิยม ความสนใจในนิยาย ความรักวัยรุ่น นิยายวาย การ์ตูนจะได้รับความสนใจมากขึ้น
"หนังสือวรรณกรรมเป็นหนังสืออีกประเภทหนึ่งที่สามารถสร้างจินตนาการ และให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ได้ แต่บางทีในสังคมปัจจุบัน การให้เด็กสนใจอ่านวรรณกรรมต้องเกิดกระบวนการให้คำแนะหรือรีวิวหนังสือเพื่อให้เด็กเกิดความสนใจ หนังสือวรรณกรรมเยาวชนที่ให้แนวคิดมีมากมาย อย่างหนังสือความสุขของกะทิ ที่นำเสนอเรื่องราวของเด็กหญิงวัย 9 ขวบ ที่จะต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่สูญเสียแม่ แล้วกะทิสามารถผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้อย่างไร เด็กก็จะสามารถทำความเข้าใจเหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้" นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าว
สุชาดา กล่าวต่อว่า ในส่วนของการจัดเรตหนังสือแต่ละประเภทเชื่อว่าทุกสำนักพิมพ์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะหนังสือทุกเล่มจะแจ้งที่หลังปกหนังสือว่าหนังสือประเภทนี้เหมาะกับช่วงวัยใด แต่การที่จะห้ามไม่ให้เด็กอ่านหนังสือที่ไม่เหมาะกับช่วงวัยคงยาก เพราะการเข้าร้านหนังสือเด็กก็สามารถเลือกซื้อเลือกหยิบอ่านได้ด้วยตนเอง และในปัจจุบันการอ่านได้ถูกย่อขนาดไปอยู่บนหน้าจอสี่เหลี่ยมในมือเด็กอย่างง่ายดาย ดังนั้นการป้องกัน นอกจากจะอยู่ที่นักเขียนที่ต้องใส่ใจการเล่าเรื่องเพื่อให้เหมาะสำหรับผู้อ่านตัวน้อยแล้ว พ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ต้องสร้างภูมิต้านทานให้บุตรด้วย ด้วยการให้คำแนะนำ หรือข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เด็กได้เข้าใจมากขึ้นในเรื่องนั้นๆ
ด้านชมพูนุท เหลืองอังกูร นักเขียน นักวาดหนังสือภาพสำหรับเด็กและนักออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ได้กล่าวเสริมว่า ในช่วงก่อนวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่สำคัญเพราะยังสามารถป้อนสิ่งๆ ที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องการได้ เพราะหากเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น พฤติกรรมต่างๆ จะเริ่มเปลี่ยนไป มีความคิดเป็นของตัวเองและความเป็นส่วนตัว สิ่งแวดล้อมรอบตัวของเด็ก เช่น ครอบครัว เพื่อน ซึ่งสองส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เด็กรักการอ่าน ในส่วนของโรงเรียนที่มีห้องสมุด การเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเสริมทักษะให้เด็กวัยนี้ได้ เหมือนกับที่รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นได้ส่งเสริมการเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด ไม่ใช่เพื่อให้เด็กฉลาดแต่เพื่อให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ เกิดจินตนาการ ดึงความเป็นตัวของตัวเองออกมาได้
"เด็กช่วงก่อนวัยรุ่น ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยแห่งการเปลี่ยนด้านความรู้สึกต่างๆ ซึ่งจะต้องเริ่มให้เขาได้เรียนรู้ หนังสือก็เป็นการเรียนรู้ที่ดี เช่นหนังสือ 'ต้นไม้ ไข่ไก่ และหัวใจหกคะเมน' เป็นวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งจะช่วยให้เด็กวัยนี้ได้เรียนรู้ถึงรักครั้งแรก เพราะหนังสือสามารถบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรักได้ดี และอีกเล่มคือหนังสือ 'ชีวิตมหัศจรรย์ของ ออกัสต์' ที่ได้ถ่ายทอดให้เขาเข้าใจความแตกต่างของตัวเขาเอง สังคมและเพื่อนๆ จากตัวละครที่มีหน้าตาไม่หล่อ แต่สามารถก้าวไปอยู่ในสังคมได้อย่างไร เด็กจะสามารถคัดกรองและเรียนรู้ได้จากการอ่าน" ชมพูนุทกล่าว
การพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ล้วนเริ่มต้นมาจากการอ่าน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใด เพราะจะช่วยให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างมีความสุข เพื่อเป็นอนาคตของชาติที่มีประสิทธิภาพ ช่วยกันพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า