ก่อนจะเป็นโรงงานสีขาวเลิกเหล้า


ชีวิตคนงาน…..วงจรหนี้สินไม่สิ้นสุด


การทำให้เป็น โรงงานสีขาวเลิกเหล้า ดูเหมือนเป็นเรื่องยากแต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างบริษัท ยางโอตานิจำกัดและสหภาพแรงงานน้ำใจสัมพันธ์ในที่สุดโรงงานต้นแบบเลิกเหล้า บริษัทแรกในจังหวัดนครปฐมก็ได้ก่อเกิดขึ้น


บริษัท ยางโอตานิ จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2529 บริหารโดย ดร.เกียรติชัย ลิมปิโชติพงษ์และคุณแสงอรุณ ลิมปิโชติพงษ์ ตั้งอยู่เลขที่ 55 หมู่ 7 ต.คลองใหม่ อ.สามพราน จ.นครปฐม ผลิตยางรถยนต์นั่ง รถบรรทุกเล็ก รถโดยสาร รถการเกษตร ยางรถอุตสาหกรรมหนักทุกชนิด มีพนักงานประมาณ 750 คน ร้อยละ 90 เป็นพนักงานผู้ชาย


เนื่องจากมีรายได้ดี พนักงานจึงหมดเงินกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในวันที่เงินเดือนออก บางรายดื่มจนเป็นหนี้สิน เกิดอุบัติเหตุในขณะมึนเมา อาจจะเจ็บเล็กน้อยสูญเสียอวัยวะหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต


การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของพนักงานนำไปสู่ปัญหาหนี้สินการดื่มของพนักงานมีทั้งดื่มที่ร้านค้า ร้านคาราโอเกะ หอพักพนักงานมีทั้งจ่ายโดยเงินสดและเงินเชื่อ โดยเซ็นชื่อไว้และชำระในวันเงินเดือนออก ซึ่งออกทุก 15 วัน เงินเดือนที่ได้รับมาในแต่ละเดือนนั้นส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว ส่วนหนึ่งชำระหนี้ค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางรายเงินเดือนเกือบทั้งหมดต้องจ่ายชำระหนี้ค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อไม่สามารถชำระได้หมด เจ้าหนี้จึงยึดบัตรเอทีเอ็มไว้


นอกจากปัญหาหนี้สิน ปัญหาหนึ่งที่พบคือ พนักงานมีอาการเมาค้างเมื่อมาทำงานก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีปากเสียงกับผู้บังคับบัญชา ขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติงานเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปทำให้พนักงานขาดการควบคุมตัวเองขาดสติ บางรายขาดงาน หยุดงานเป็นประจำเพราะเมาเหล้ามาทำงานไม่ไหว


นายวิชัย พูนเกิด กรรมการสหภาพแรงงานอธิบายให้ฟังว่ามีลูกน้องขี้เมาค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และมีแหล่งอบายมุขรอบโรงงานค่อนข้างมาก ลูกน้องที่เมา มีกลิ่นเหล้ามาทำงานก็พบบ่อย บางรายเมาค้างก็จำเป็นต้องให้กลับบ้าน เพราะถ้ายังฝืนให้ทำงานต่อไป อาจจะเกิดอันตรายได้ และงานที่ออกมาก็คงไม่มีประสิทธิภาพ บางคนยังไม่ฟื้นเลยก็มี บางคนลุกจากวงเหล้าแล้วมาทำงานก็มี


ขณะที่ นายบุญมี จิตรใจ ผู้จัดการ บริษัท ยางโอตานิ จำกัดเล่าว่า “จุดเปลี่ยนในปี 2550 ทางสหภาพแรงงานเข้าเริ่มรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษากันเองก่อนเป็นกลุ่มเล็กๆ ในปี 51 ทางสหภาพแรงงานและมูลนิธิเพื่อนหญิงก็เข้ามาคุยกับบริษัทฯ ชวนทำงดเหล้าเข้าพรรษา ในใจผู้บริหารอยากทำอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ตอนแรกยังไม่ได้คุยรายละเอียดกันแต่ก็บอกฝ่ายบุคคลว่ารับโครงการมาเลย ยินดีที่จะทำ จากตรงนั้นเราก็เริ่มทำ งดเหล้าเข้าพรรษาในปี 51 ปีแรกที่เราทำพนักงานเจ็ดร้อยกว่าเข้ามาร่วมประมาณสองร้อยกว่าคน”


นายบุญมี กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ กีฬาสี ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมาเพราะภายในงานปลอดเหล้า ปลอดอบายมุข และงานนี้สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและผู้บริหารได้เป็นอย่างดี ทำให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการจัดนิทรรศการเรื่องผลกระทบจากเหล้าและบุหรี่ ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก มีซุ้มเกม และการตอบคำถามชิงรางวัล อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ากิจกรรมนี้ถือเป็นจุดเริ่มที่เรามองว่าเราค่อนข้างประสบความสำเร็จ ในเรื่องของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นอย่างดี


ปัจจุบันนี้ทุกกิจกรรมที่จัดในโรงงานแห่งนี้ จะสอดแทรกในเรื่องของเหล้า บุหรี่ และยาเสพติด จนกลายเป็นเนื้อเดียวกันซึ่งเป็นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกโดยที่พนักงานไม่รู้ตัว และในที่สุดก็เกิดเป็นโรงงานสีขาวลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ และยาเสพติด


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน โดย มูลนิธิเพื่อนหญิง


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ