‘ก่อการครู’ พลิก ‘การเรียน’ ในห้องเรียน

ที่มา : มติชนออนไลน์ 


ภาพประกอบจากมติชนออนไลน์ 


'ก่อการครู' พลิก 'การเรียน' ในห้องเรียน thaihealth


การเรียนรู้ตามธรรมชาติที่ก่อให้เกิดทักษะและการพัฒนา คือ การเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experience) ซึ่งมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยแก่ตนเอง แต่กระนั้นหากย้อนมองประสบการณ์การเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทย เสียงหนึ่งที่อื้ออึงมาโดยตลอด คือ เราจะเรียนเรื่องนี้ไปทำไม?


คุณเคยลองนึกเล่นๆ ไหมว่าคำถามนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เป็นเพราะ เนื้อหาการเรียนรู้ไม่เกิดประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตหรือเปล่า?


จากโจทย์ดังกล่าวที่เป็นปัญหาร่วมของการศึกษาไทย โครงการก่อการครู โดยโครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (LSEd) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ครู อาจารย์ กระบวนกร ผู้ประกอบการทางสังคมจากหลากสาขาและองค์กร จึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเด็นการเรียนรู้หลักในโครงการ โมดูลที่ 3 ปีที่ 1 เวทีพัฒนาและออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อชวนเพื่อนครู กระบวนกร และทีมงานกว่า 100 ชีวิต มาคิดนอกกรอบ ผลักดันการเรียนรู้อย่างแท้จริงกลับสู่ห้องเรียน


ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. หนึ่งในกระบวนกรของโครงการ ได้อธิบายว่า การเรียนรู้อย่างแท้จริง (Authentic Learning) มีการใช้ในหลายบริบทและมีการนิยามการใช้เอาไว้หลายแนวทาง ทีมกระบวนกรจึงดึงเอาหัวใจสำคัญมาใช้แบบไม่ซับซ้อนเพื่อให้ครูสะดวกต่อการนำไปประยุกต์ใช้ เป็น การจัดการเรียนรู้ให้สัมพันธ์กับชีวิตจริงของผู้เรียน เพื่อให้การเรียนรู้นั้นมีความหมาย


'ก่อการครู' พลิก 'การเรียน' ในห้องเรียน thaihealth


องค์ประกอบสำคัญมี 3 เรื่อง คือ 1.การออกแบบกระบวนการให้เชื่อมโยงกับประสบการณ์จริงของผู้เรียนและทักษะที่ต้องการจะสอน 2.มีโจทย์คำถามที่เป็นปลายเปิด เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้จากประเด็นที่ตั้งไว้และสามารถนำไปปรับใช้ได้ 3.ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกัน (Collaboration) เพราะเป็นทักษะสำคัญของชีวิต


ดร.สิทธิชัย บอกว่า สาเหตุที่โครงการดึงประเด็นนี้ขึ้นมาเพราะเรื่องนี้เป็นช่องโหว่ที่เกิดขึ้นในการศึกษาไทย หลายคนเคยมีประสบการณ์ว่าการเรียนตามหลักสูตรไม่รู้ว่าต้องเรียนไปเพื่ออะไร เชื่อว่าลึกๆ แล้ว การสอนตามเนื้อหาในหลักสูตรก็ทำให้ครูถามตัวเองว่า แท้จริงแล้วเด็กควรเรียนเรื่องนี้หรือเปล่า เขาจะได้ประโยชน์อะไร ดังนั้นการนำการเรียนรู้อย่างแท้จริง (Authentic Learning) เข้าสู่ห้องเรียน จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และสามารถตอบโจทย์ตัวชี้วัดคุณภาพการเรียนในหลักสูตรที่เด็กควรได้รับอย่างแน่นอน


ในเวทีก่อการครูครั้งนี้ ทีมกระบวนกรได้ชวนกันทำกิจกรรมนอกกรอบ โดยนำเอาหนึ่งในทักษะและเนื้อหาที่เป็นตัวชี้วัดในหลักสูตรมาชวนครูผู้ก่อการทลายกรอบการเรียนรู้แบบเดิมๆ เช่นกัน โดยนำตัวชี้วัดเรื่อง ทักษะการจัดจำแนก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาสิ่งมีชีวิตในวิชาชีววิทยา มาจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านการนำการ์ดผักนานาชนิดที่รู้จักกันทั่วไปบนแผงตลาดมาให้ครูเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ว่าจะจัดจำแนกแบบไหนด้วยเหตุผลอะไร ทั้งจากการจินตนาการถึงมุมมองของแม่ค้า และจากประสบการณ์ของตนเอง ก่อนจะให้พลิกหลังการ์ดอ่านข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แล้วจัดใหม่ตามหลักอนุกรมวิธาน (Taxonomy) หลังจากได้สัมผัสประสบการณ์จะพบว่า การจัดจำแนกมีหลักการ คือ การนำเอาเป้าหมายของการจำแนกมาเป็นตัวตั้งในการคัดแยกสิ่งต่างๆ เพื่อสะดวกต่อการศึกษาเพิ่มเติมหรือนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งหากเข้าใจหลักการนี้แล้วจะสามารถศึกษาเรื่องอนุกรมวิธานด้วยความเข้าใจมากขึ้น ส่งผลต่อไปถึงความสนุกในการศึกษาต่อยอดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงต่อไป


'ก่อการครู' พลิก 'การเรียน' ในห้องเรียน thaihealth


นอกจากตัวอย่างกิจกรรมข้างต้นแล้ว ทีมกระบวนกรยังได้คิดค้น แผนผังการออกแบบกิจกรรม (Activity Design Canvas) เพื่อช่วยในการออกแบบ การเรียนรู้อย่างแท้จริง (Authentic Learning) โดยเห็นถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ 6 ส่วน ได้แก่ 1.คำสำคัญในการเรียน 2.การระบุปัญหา 3.กระบวนการจัดการเรียนรู้ 4.ประสบการณ์ผู้เรียน 5.การวัดประเมินผล และ 6.ผลการเรียนรู้


แผนผังนี้จะช่วยครูในการออกแบบและทบทวนความเชื่อมโยงของแผนทั้งหมด ว่ามีความสอดคล้องพร้อมแก่การจัดกระบวนการเรียนรู้หรือไม่ ผ่านการทดสอบใช้งานมาแล้วโดยครูกว่า 80 คน ได้รับกระแสตอบรับดีมากในเรื่องการใช้งานง่าย และช่วยอุดช่องโหว่ในการคิดกระบวนการสอนได้เป็นอย่างดี ครูณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ หนึ่งในครูผู้ร่วมก่อการ ได้สะท้อนถึงประสบการณ์การเรียนรู้และการออกแบบกระบวนการว่า การได้เรียนรู้อย่างแท้จริงทำให้เราสังเกตว่า จริงๆ แล้ว การเรียนรู้เกิดจากสิ่งรอบตัว ถ้าเรามองนอกกรอบคิดจากสิ่งแวดล้อม เราจะสามารถนำประสบการณ์ที่มีไปต่อยอดสร้างประสบการณ์และองค์ความรู้ใหม่ การเรียนรู้แบบนี้จะทำให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน สร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายและยั่งยืน


สำหรับผู้ที่สนใจนำเครื่องมือ แผนผังการออกแบบกิจกรรม (Activity Design Canvas) ไปใช้สามารถศึกษาและดาวน์โหลดแผนผังได้แล้วจากเฟซบุ๊กโครงการผู้นำแห่งอนาคต และก่อการครู

Shares:
QR Code :
QR Code