กินเห็ดอย่างไรไม่เจอแบบมีพิษ?
แนะวิธีป้องกันเมื่อเกิดอาการ ‘เมาเห็ด’
กระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้เรื่องพิษในเห็ดบางชนิด ตั้งแต่การเริ่มสังเกตว่า หากเป็นผู้เก็บเห็ดนั้นๆ เอง ต้องมั่นใจจริงว่ารู้จักเห็ดชนิดนั้น หนังสือคู่มือจำแนกชนิดเห็ดอาจช่วยได้แต่ไม่ควรพึ่งโดยไม่มีผู้รู้จริงไปด้วย และอย่าได้ทดลองเพราะไม่คุ้มค่า เวลาเก็บเห็ดต้องเก็บให้ครบทุกส่วน โดยขุดให้ลึก เพราะหากเด็ดแต่ด้านบน ลักษณะจำเพาะบางอย่าง เช่น กระเปาะซึ่งอยู่ติดกับดิน และใช้บ่งบอกชนิดของเห็ดพิษร้ายจะไม่ติดขึ้นมาด้วย ทำให้การจำแนกชนิดผิดพลาดได้
ให้เก็บแต่เห็ดที่มีรูปร่างลักษณะสมบูรณ์เท่านั้น หลีกเลี่ยงเห็ดที่อ่อนเกินไปซึ่งลักษณะต่างๆ ที่ใช้จำแนกชนิดยังไม่เจริญพอ หลีกเลี่ยงเห็ดที่แก่หรือเริ่มเน่าเปื่อย เพราะเห็ดดีๆ เมื่อแก่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีจนทำให้มีพิษอย่างอ่อนได้ และเวลาเก็บให้แยกชนิดเป็นชั้น โดยนำกระดาษรองในตะกร้าเพื่อป้องกันการปนเปื้อนหากเก็บเห็ดพิษปะปนมาด้วย อย่าเก็บเห็ดภายหลังพายุฝนใหม่ๆ ด้วยเห็ดบางชนิดที่สีบนหมวกอาจถูกชะล้างให้จางลงได้
ห้ามกินเห็ดดิบๆ ส่วนเห็ดที่ไม่เคยกินควรกินแต่เพียงเล็กน้อยในครั้งแรก เห็ดที่ไม่เป็นพิษสำหรับคนหนึ่งอาจเป็นพิษกับอีกคนหนึ่ง ไม่เก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี สนามกอล์ฟ ข้างถนน เพราะเห็ดและเชื้อรามีคุณสมบัติดูดซับสารพิษสะสมไว้มาก รวมถึงโลหะหนัก
การเกิดภาวะเห็ดเป็นพิษบ่อยครั้งเกิดจากการมั่นใจมากเกินไปและการดูรูปร่างผิด การบ่งชี้ชนิดของเห็ดโดยรูปร่างภายนอกบางครั้งแม้ผู้เชี่ยวชาญก็ยังแยกแยะไม่ได้ ต้องอาศัยวิธีตรวจ spore print หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ
กระทรวงสาธารณสุขระบุลักษณะของเห็ดที่ไม่ควรบริโภค ได้แก่ เห็ดที่เป็นสีน้ำตาล เห็ดที่มีหมวกเห็ดสีขาว เห็ดที่มีปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรูปๆ แทนที่จะเป็นช่องๆ คล้ายครีบปลา เห็ดที่มีลักษณะคล้ายสมองหรืออานม้า เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์
การบริโภคเห็ดโดยทั่วไปควรปฏิบัติดังนี้ กินอาหารที่ประกอบด้วยเห็ดแต่พอควร อย่ากินจนอิ่มเกินไป เพราะเห็ดย่อยยาก อาจทำให้ผู้มีระบบย่อยอาหารที่อ่อนแอเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ ต้องคัดเห็ดที่เน่าเสียออกก่อนนำไปปรุงอาหาร เพราะเห็ดที่เน่าเสียทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน
อย่ากินอาหารจากเห็ดที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ หรือเห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางชนิดมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้กินจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษ เมื่อกินหลายครั้งก็สะสมพิษมากขึ้น และเป็นพิษร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ในภายหลัง อย่ากินเห็ดพร้อมกับดื่มแอลกอฮอล์ เห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันทีหากดื่มสุราภายหลังด้วยภายใน 48 ชั่วโมง การดื่มสุราเข้าไปจะเป็นการช่วยให้พิษกระจายได้รวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น
อาการพิษของเห็ดจะแสดงอาการหลังกินหลายชั่วโมง ซึ่งพิษกระจายไปมากแล้ว จึงจำเป็นต้องรู้วิธีปฐมพยาบาลก่อนส่งแพทย์ด่วน ต้องทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มาก และดูดพิษโดยใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน activated charcoal ให้ดื่ม 2 แก้ว แก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาก่อน แล้วดื่มแก้วที่ 2 ล้วงคอให้อาเจียนอีกครั้ง นำส่งแพทย์พร้อมตัวอย่างเห็ดหากเหลืออยู่ ห้ามล้างท้องด้วยการสวนทวารหนัก ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น เพราะวิธีนี้เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหากร่างกายขาดน้ำ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update 21-05-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก