‘กินเจ’ระวังสารพิษตกค้างในผัก
“กรมอนามัย”ห่วงสารพิษตกค้างในผัก 10 ชนิด เผยพบเชื้ออีโคไล-ซาลโมเนลลาก่ออาหารเป็นพิษในผักกินสดๆ แนะล้างให้สะอาดผ่านน้ำไหลอย่างน้อย 2 นาที
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานจัดงานรณรงค์ “กินเจ ถูกอนามัย อิ่มบุญ อิ่มใจ สุขภาพดี” ที่ตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขนว่า การกินผักมีผลดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือปัญหาสารเคมีตกค้างในผักที่อาจเข้าไปสะสมในร่างกาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เสี่ยงป่วยเป็นมะเร็ง เบาหวาน โรคต่อมไร้ท่อและโรคอื่นๆ เนื่องจากการเพาะปลูกของไทยหลายพื้นที่ ยังคงใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช และยังตรวจพบการตกค้างของสารเคมีในพืชผักอยู่เสมอ โดยเฉพาะผักสด10 ชนิดในท้องตลาดที่พบมีการตกค้างของสารเคมีในปริมาณที่สูงได้แก่ กวางตุ้ง คะน้า ถั่วฝักยาว พริก แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักบุ้งจีน มะเขือ ผักชี
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังตรวจพบการปนเปื้อนเชื้ออีโคไลและเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งก่อโรคอาหารเป็นพิษในผักที่นิยมรับประทานแบบสดๆ เช่น ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี กะหล่ำปลี ผักชีฝรั่ง โหระพา สะระแหน่ ใบบัวบก ถั่วพู แตงกวา ซึ่งอาจเป็นผลมาจากใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ในการเพาะปลูก โดยเชื้อจะอาศัยอยู่ในลำไส้สัตว์และถูกขับถ่าย เมื่อนำปุ๋ยมูลสัตว์มาใช้ในการเกษตรเชื้อโรคนี้ก็อาจปนเปื้อนในผลผลิตได้ ทั้งนี้ ก่อนกินหรือนำผักมาปรุงอาหารต้องล้างให้สะอาดทุกครั้ง ผ่านน้ำก๊อกที่ไหลนาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมเกลือ หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชู ทิ้งไว้ 10-15 นาที หรือแช่ในน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 กะละมัง หรือน้ำประมาณ4 ลิตร จากนั้นล้างน้ำสะอาดอีก2-3 ครั้ง สำหรับผัก เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปล้างน้ำหลายๆครั้ง คลี่ใบถูหรือล้างโดยเปิดน้ำไหลผ่านอย่างน้อย 2 นาที
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต