กินส้มตำปลาร้าดิบเสี่ยง อาหารเป็นพิษ

/data/content/24818/cms/e_abdfghkprtw8.jpg


          ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ประกาศเตือน กินส้มตำใส่ปลาร้าดิบและปูดิบ เสี่ยงท้องเสีย-อาหารเป็นพิษ ควรหลีกเลี่ยง


          นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ได้รับรายงานผู้ป่วยท้องร่วง ท้องเสีย จากอาหารเป็นพิษจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการรับประทานส้มตำใส่ปลาร้าดิบและปูดิบ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องบิด ถ่ายเป็นน้ำ อาเจียนและไข้ ตามลำดับ ขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ได้ออกสอบสวนโรค พร้อมเก็บตัวอย่างเชื้อ ส่งตรวจและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการร้านค้า ที่คาดว่าจะเป็นแหล่งที่ประกอบอาหารที่มีเชื้อโรคนั้นแล้ว


          นพ.ศรายุธ เปิดเผยต่อว่า สำหรับวิธีป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ต้องป้องกันที่สาเหตุ คือ การป้องกันการติดเชื้อทางอาหาร น้ำดื่ม และทางมือ คือ 1. ถ้าปรุงอาหารเอง ควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท ไม่เก็บในที่ร้อน หรือนานเกินไป ควรทำให้ร้อนก่อนกิน 2. กรณีใช้อาหารกระป๋องสำเร็จรูป เลือกยี่ห้อและร้านค้าที่เชื่อถือได้ ฉลากอยู่ครบ มีวันหมดอายุชัดเจน กระป๋องไม่มีรอยบุบ หรือโป่ง 3. เมื่อกินอาหารตามร้าน ควรเลือกร้านที่ได้รับการรับรอง เลือกกินอาหารปรุงสุก ใช้วัตถุดิบสด จัดเก็บได้ถูกต้อง ไม่มีแมลงวันตอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทส้มตำ ควรเลือกร้านที่ใช้ปลาร้าต้มสุก 4. เลือกซื้ออาหารที่ไม่ปรุงอาหารทิ้งไว้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะอาหารที่มีกะทิประกอบ 5. หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่คุ้นเคย 6. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนเตรียมอาหารและกินอาหาร รวมทั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ 7. ดื่มน้ำสะอาด ถ้าต้องดื่มน้ำนอกบ้าน เลือกดื่มน้ำเปล่าบริสุทธิ์ที่มีตรา อย.


          นพ.ศรายุธ เปิดเผยอีกว่า สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ควรจะจัดเตรียมสถานที่รับประทานอาหาร เตรียม-ปรุง-ประกอบอาหาร ต้องสะอาดเป็นระเบียบ และจัดเป็นสัดส่วน เตรียมปรุงอาหารบนโต๊ะที่สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม. อาหารสดต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุง หรือเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส ผู้สัมผัสอาหารจะต้องแต่งกายสะอาด สวมเสื้อมีแขน ผู้ปรุงต้องผูกผ้ากันเปื้อนที่สะอาด สวมหมวกหรือเนตคลุมผม ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมปรุง ประกอบ จำหน่ายอาหารทุกครั้ง ใช้อุปกรณ์ในการหยิบจับอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วทุกชนิด


          ทั้งนี้ โรคอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่จะหายได้เอง ถ้าป้องกันและรักษาภาวะการขาดน้ำ และให้อาหารที่เหมาะสม การกินยาหยุดถ่ายหรือยาแก้ท้องเสียทำให้ลำไส้ต้องเก็บกักเชื้อโรคไว้นานขึ้น นอกจากนั้นการใช้ยาหยุดถ่ายเกินขนาดในเด็กเล็ก อาจเกิดภาวะพิษได้ซึ่งเป็นอันตรายมาก การกินยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น อาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ยาหรือดื้อยาได้ การใช้ยาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาใดๆ


 


 


          ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code