“กินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ” คัมภีร์กินอาหารหน้าร้อนปลอดภัย
อากาศร้อนทีไร ต้องหาอาหารและเครื่องดื่มคลายร้อนทุกที แต่การบริโภคอาหารอย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บในหน้าร้อน เป็นเรื่องที่อย่ามองข้าม เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อยู่ในชีวิตประจำวัน
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า การรับประทานอาหารหน้าร้อนมีสิ่งที่ต้องระวังทั้งเรื่องอาหารและน้ำดื่ม เพราะเป็นสื่อพาหะเกิดการเจ็บป่วยได้ เนื่องจากฤดูร้อนเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ส่งผลให้อาหารเกิดการบูดเน่าเสียได้ง่าย โดยมีการผลิตสารท็อกซินออกมาส่งผลต่อการเจ็บป่วยของร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคบิด โรคท้องร่วง อหิวาตกโรค เป็นต้น ดังนั้น จึงขอเตือนผู้บริโภคในการตระหนักถึงความสะอาดและการเลือกรับประทานอาหาร โดยขอยกตัวอย่างอาหาร 7 อย่างที่ต้องระวัง
1.อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ลู่ที่อาจมีพยาธิปะปน ซึ่งการปรุงอาหารลักษณะนี้ไม่ว่าหน้าไหน ฤดูใดก็ควรระมัดระวัง
2.อาหารทะเล ที่เกิดการบูดเน่าเสียง่าย หากเก็บรักษาไม่ดี โดยเฉพาะหอยแครงลวก ยำปลาหมึก
3.อาหารยำๆ เช่น ลาบ ส้มตำ การรับประทานอาหารประเภทนี้ในหน้าร้อน ปู ปลาร้าควรต้มสุกก่อนนำมาประกอบอาหาร หรือผักเครื่องเคียงต่างๆ ที่อาจล้างไม่สะอาดก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน เป็นต้น
4.ขนมจีน ไม่ควรเก็บนานเกิน 4 ชั่วโมง น้ำกะทิ ผักเครื่องเคียงก็ควรเลือกรับประทานที่สะอาด
5.อาหารปรุงกะทิ แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน อาหารที่นำกะทิมาเป็นส่วนประกอบจะทำให้บูดเร็วมาก หากเหลือและจำเป็นต้องเก็บควรอุ่นก่อนแล้วนำเก็บเข้าตู้เย็น
6.อาหารค้างคืนก็เช่นกัน ควรรับประทานให้หมดภายใน 1 มื้อ แต่หากต้องเก็บก็ควรเก็บในตู้เย็นและนำมาอุ่นก่อนรับประทาน
7.อาหารที่มีแมลงวันตอม
สำหรับน้ำดื่มหน้าร้อน น้ำที่ดีที่สุดคือน้ำสะอาดบรรจุขวดที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด เพราะจะส่งผลต่อลำไส้และกระเพาะอาหารหดเกร็งตัว น้ำซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยและขับปัสสาวะออกมา ควรเลือกดื่มน้ำที่อุณหภูมิปกติ หรือกรณีที่สูญเสียเหงื่อมาก ให้จิบน้ำทีละน้อย อย่าดื่มอย่างรวดเร็ว เพราะการดื่มน้ำทีละมากๆ และเร็ว จะทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างน้ำในเซลล์และน้ำนอกเซลล์ จนเกิดอาการตะคริวได้ พร้อมทั้งควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่นชา กาแฟ เพราะสารคาเฟอีนมีผลให้ขับน้ำออกจากร่างกาย สำหรับน้ำอัดลม แม้ดื่มแล้วจะรู้สึกสดชื่นนั้นก็เป็นเพียงความรู้สึก แต่การดื่มน้ำอัดลมทำให้ร่างกายรับสารคาเฟอีนเช่นกัน และที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างมากคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ควรงดรับประทานอาหารรสเค็มจัด เพราะร่างกายจะได้รับโซเดียมมากเกินไป และมีความต้องการน้ำมากขึ้นกว่าปกติ รวมทั้งอาหารที่มีรสหวานจัด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว ทั้งโรคเบาหวาน หัวใจ โดยเฉพาะความดันโลหิตสูง อากาศที่ร้อนยิ่งเพิ่มภาวะความดันให้สูงขึ้น ดังนั้นต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด
แล้วเราควรจะรับประทานอะไรที่เหมาะแก่ร้อนนี้ !!
อาจารย์สง่าบอกว่า อาหารและเครื่องดื่มที่ควรรับประทานคือ ผักผลไม้ ที่มีเปอร์เซ็นต์ของน้ำมาก เช่น แตงกวา ฟัก ชมพู่ ส้มโอ มะละกอ ส้ม สับปะรด และฝรั่ง ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำอยู่ถึง 80-90%โดยอาหารประเภทนี้จะให้สารพฤกษาเคมี และสารต่อต้านอนุมูลอิสระ
อาจสงสัยว่าแล้วสารต้านอนุมูลอิสระคืออะไร?
จากข้อมูลของหมอชาวบ้านระบุว่า ในทางเคมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) คือ สารประกอบที่สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชั่น กระบวนการออกซิเดชั่นมีได้หลายรูปแบบ เช่น กระบวนการออกซิเดชั่นที่ทำให้เหล็กกลายเป็นสนิม ทำให้แอปเปิ้ลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือทำให้น้ำมันพืชเหม็นหืน หรือกระบวนการออกซิเดชั่นที่เกิดในร่างกาย เช่น การย่อยสลายโปรตีนและไขมันจากอาหารที่กินเข้าไป มลพิษทางอากาศ การหายใจ ควันบุหรี่ รังสียูวี ล้วนทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกายของเราซึ่งสร้างความเสียหายต่อร่างกายได้ ในความเป็นจริงไม่มีสารประกอบสารใดสารหนึ่งสามารถป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นได้ทั้งหมด แต่ละกลไกอาจต้องใช้สารต้านอนุมูลอิสระที่แตกต่างกันในการหยุดกระบวนการออกซิเดชั่น ในอีกทางหนึ่ง กระบวนการออกซิเดชั่นเป็นกระบวนการที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น เราใช้ออกซิเจนจากอากาศที่หายใจเข้าไปไปเผาผลาญอาหารที่ร่างกายได้รับให้เป็นพลังงานสำหรับการทำงานของเซลล์ต่างๆ แต่ก็ทำให้เกิดอนุมูลอิสระเป็นผลพลอยได้ อนุมูลอิสระต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะทำปฏิกิริยากับโมเลกุลที่สำคัญในร่างกาย เช่น ไขมัน โปรตีน ดีเอ็นเอ ทำให้เกิดความเสียหายต่อโมเลกุลดังกล่าว ตัวอย่างเช่น เมื่ออนุมูลอิสระทำปฏิกิริยากับแอลดีแอล (LDL : low-density lipoprotein) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลตัวเลวทำให้เกิดออกซิไดซ์แอลดีแอล (oxidized LDL) ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่า ออกซิไดซ์แอลดีแอลเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดและเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจ
สารต้านอนุมูลอิสระหรือสารแอนติออกซิแดนซ์ (antioxidants) ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี ซีลีเนียม บีตาแคโรทีน วิตามินเอ พฤกษาเคมีต่างๆ (phytochemicals) เช่น สารประกอบฟีโนลิก (polyphenol) จากชาและสมุนไพรบางชนิด ไอโซฟลาโวน (isoflavones) จากถั่วเหลือง เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระพอเพียงกับความต้องการ เราควรกินผักผลไม้สีเข้มเป็นประจำโดยล้างให้สะอาดทุกครั้ง นอกจากจะได้รับสารต้านอนุมูลอิสระแล้ว ยังจะได้รับใยอาหารด้วย ร่างกายของเราจำเป็นต้องได้รับใยอาหารเช่นกัน เนื่องจากใยอาหาร ช่วยในการขับถ่าย ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ ช่วยป้องกัน อาการท้องผูก ช่วยนำโคเลสเตอรอลออกจากร่างกาย เร่งการนำสารพิษที่อาจทำให้เป็นมะเร็งบางชนิดออกจากร่างกายเร็วขึ้น
และเมื่อยามร้อนแบบนี้ “การอาบน้ำ” ก็เป็นอีกสิ่งที่คนนิยมทำเพื่อคลายร้อน เรื่องนี้ อาจารย์สง่าแนะนำว่า ไม่ควรอาบน้ำเกินวันละ 3 ครั้งต่อวัน เพราะการถูสบู่บ่อยๆ จะทำให้ไขมันหลุดออกจากผิวหนัง และขาดความชุ่มชื้น โดยอาจหาเสื้อบางๆ สวมใส่แทน และอยู่ในอากาศถ่ายเทสะดวกปลอดโปร่ง และสวมแว่นตาดำ
อาจารย์สง่าฝากทิ้งท้ายว่า คัมภีร์สำคัญของการบริโภคอาหารหน้าร้อนหรือไม่ว่าจะฤดูไหนก็ตาม คือ “กินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ” สำคัญที่สุด
เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th