กินด่วนให้ ‘ดี’ ขึ้นได้อย่างไร?
ที่มาและภาพประกอบ : https://www.greenery.org
แม้วิถีชีวิตจะเร่งด่วนจนการทำอาหารดีๆ ให้ตัวเองกลายเป็นเรื่องยาก แต่เรายังพอสั่งอาหารนอกบ้านให้ดีขึ้นด้วยการเลือกให้มากขึ้นได้ ในวิถีกินเร็ว กินด่วน เราสามารถลดความมักง่ายในการกินได้ดังนี้
1.หยุดตัวเองก่อนจะกดสั่งอาหารตามความเคยชิน แล้วถามตัวเองทุกครั้งว่าเหตุผลในการกดสั่งอาหารแต่ละครั้งคืออะไร เราจำเป็นมากน้อยแค่ไหน มีร้านอาหารใกล้ๆ ที่สามารถเลือกซื้อได้ไหม
2.ลองสำรวจร้านอาหารใกล้ๆ ตัว นอกจากโอกาสที่จะได้เจอร้านอาหารอร่อย คุณภาพดี ที่ปรุงด้วยความใส่ใจ การออกไปเดินเพียงวันละ 30 นาที เป็นประจำ 4-5 วันต่อสัปดาห์ ยังเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้อีกด้วย
3.หากจำเป็นต้องสั่งจริงๆ ลองไม่สั่งอาหารจากร้านเดิมที่เราคุ้นเคย แล้วค้นหาร้านอาหารใหม่ๆ เช่น ร้านอาหารสุขภาพหรือร้านอาหารโฮมเมดที่ปรุงอาหารสดใหม่ทุกเมนู
4.หลีกเลี่ยงของทอดและของย่าง ควรเลือกเป็นเมนูต้ม ตุ๋น นึ่ง หรืออบ ถ้าเป็นไปได้หาเลือกเมนูที่มีผักเป็นส่วนประกอบ ซึ่งแต่ละวันเราควรกินผัก 400 กรัม หรือประมาณครึ่งหนึ่งของเมนูทั้งหมด
5.หากสามารถระบุรายละเอียดลงไปได้ในแต่ละเมนู เช่น ไม่เติมน้ำตาลในก๋วยเตี๋ยว ไม่ใส่ผงชูรส หรือไม่รับน้ำปลาพริก ก็ช่วยควบคุมไม่ให้มีรสจัดเกินไปได้อีกทางหนึ่ง
6.ในทุกๆ ออเดอร์ควรจะพยายามลดขยะเท่าที่จะทำได้ กำกับพี่พนักงานเดลิเวอรี่ไว้ว่าไม่รับช้อนส้อมพลาสติก ไม่รับถุงพลาสติกหรือรวมถุงหากสั่งหลายเมนู
แม้ว่าบริการ food delivery นั้นตอบโจทย์คนเมืองที่ใช้ชีวิตรีบเร่งได้อย่างตรงจุด แต่ถ้าใช้บริการนี้บ่อยเกินไป ก็สามารถสร้างผลกระทบได้ทั้งกับวิถีการกินของตัวเองและสิ่งแวดล้อม เราจึงไม่ควรปล่อยให้ตนเองเคยชินกับความกินง่าย จนมองลืมใส่ใจเรื่องคุณภาพ คุณค่า ที่มาและที่ไปของอาหารแต่ละมื้อ