กินดี – เรียนดี เริ่มที่โรงเรียน
โครงการนำร่องอาหารปลอดภัยกับการยกระดับสุขภาพอนามัยในโรงเรียนเป็นโครงงานสร้างทักษะให้แต่ละโรงเรียนสร้างสุขภาวะในด้านการบริโภค
“เพื่อนที่อ้วน ต้องเอาเข้ามาร่วมกิจกรรมกับเราให้ได้ บริเวณที่ติดบอร์ดของโรงเรียนจะมีป้ายนิเทศแนะนำเมนูอาหารสำหรับคนอ้วน วิธีบริหารร่างกายด้วยการแกว่งแขน ใครเอาไปปฏิบัติตามจะช่วยลดพุงได้” จุฑามาศ เดชเกาะเก่า นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนบ้านนา นายกพิทยากร จ.นครนายก เล่าส่วนหนึ่งของกิจกรรมยกระดับสุขภาพอนามัยในโรงเรียนที่เธอและเพื่อนร่วมกันทำ
เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างจากเวทีถอดบทเรียน “โครงการนำร่องอาหารปลอดภัยกับการยกระดับสุขภาพอนามัยในโรงเรียน” ซึ่งศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่อยอดจากโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า โดยไม่ลืมนำความเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์มาพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจริง
อย่าลืมว่าเรื่องของสุขภาพ โภชนาการ ตลอดจนพฤติกรรมการบริโภคไม่ใช่แค่วาระที่ต้องเอาจริงเอาจังแค่ในกลุ่มผู้ใหญ่เท่านั้น กับพื้นที่โรงเรียนซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของเยาวชนเองล้วนมีหลากเรื่องราวที่ว่าด้วยคุณภาพชีวิต สุขอนามัยที่ต้องเอาใจใส่กันตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะเรื่องอาหารการกินเกี่ยวเนื่องกับความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ฯลฯ โดยที่ทั้งหมดเชื่อมโยงกับประสิทธิภาพของการเรียน การกินดีจึงไม่ต่างอะไรกับเป็น “ต้นทุน” ที่ดีของสติปัญญา
จุฑามาศ เล่าว่า หลังระดมสมองร่วมกับเพื่อนๆ และครูที่ปรึกษาได้ข้อสรุปว่าคุณภาพชีวิตที่ดีมีสาเหตุจากหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่สะอาดมีคุณค่า การรู้ทันโรคที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทาน การออกกำลังกาย รวมไปถึงการสร้างความตระหนักรู้ในโรงเรียน เหตุนี้โครงงานกิจกรรมจึงต้องขยับทุกด้านไปพร้อมกัน
“เรื่องความสะอาด เรามองไปที่โรงอาหารซึ่งเป็นสถานที่ที่ทุกคนในโรงเรียนต้องมาใช้ทานอาหาร จึงมีทีมสังเกตเรื่องภาชนะ ขั้นตอนการปรุง และการสุ่มตรวจหาสารปนเปื้อนด้วยชุดเครื่องมือวิทยาศาสตร์ หากส่วนใดมีข้อสงสัยโรงเรียนจะขอความร่วมมือกับผู้ค้าให้พัฒนาให้ดีขึ้น ถ้ายังไม่ปรับปรุงอีกอาจนำไปสู่การเสนอไม่ต่อสัญญาได้ สิ่งสำคัญคือต้องให้เพื่อนๆเห็นด้วยและมาช่วยกัน เราแบ่งเวรกันพูดผ่านเสียงตามสาย ให้ความรู้ผ่านบอร์ด หนังสือพิมพ์โรงเรียนว่าอาหารใดที่ควรจะเลือกซื้อรับประทาน สมกับเงินที่จะต้องจ่ายไป”
ขณะที่เรื่องการออกกำลังกาย“เธอ”บอกว่าทุกคนในโรงเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่หลายคนยังใช้เวลาว่างนั่งหน้าจอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ดังนั้นจึงต้องอาศัยกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจหลายรูปแบบ เช่น การเต้นแอโรบิค การขี่จักรยานปลูกป่า รวมไปถึงการทำเกษตรปลูกผักปลอดสารพิษรับประทานเองซึ่งกระบวนการอย่างหลังนี้ได้ประโยชน์ทั้งด้านการมีผักรับประทานและยังสร้างกิจกรรมร่วมกันในโรงเรียนด้วย
ส่วนบทเรียนของโรงเรียนปากพลีวิทยาคาร จ.นครนายก “ขวัญฤดี นวลโฉม” นักเรียนชั้น ม.3 เล่าให้เพื่อนฟังในเวทีเดียวกันนี้ว่า นอกจากเรื่องของความสะอาดแล้วนักเรียนต้องรู้เท่าทันกับสิ่งที่บริโภคเข้าไปด้วย นั้นจึงเป็นที่มาขอของกิจกรรม “อย.น้อย” (มาจาก องค์การอาหารและยา อย.) ซึ่งพวกเธอแบ่งหน้าที่ร่วมกันบันทึกอาหารที่นักเรียนชอบรับประทาน การประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญของการอ่านฉลากอาหารก่อนจะซื้อมาบริโภคเพื่อให้รู้ถึงกระบวนการผลิต ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
“พวกเรารวบรวมกลุ่มนักเรียนแกนนำที่มาจากหลายชั้นเรียนมาร่วมทำโครงงานอาหารปลอดภัย ทำกิจกรรมให้เพื่อนในโรงเรียนเห็นความจำเป็นของการเลือกบริโภคให้เหมาะกับตัวเอง เช่น เพื่อนที่มีรูปร่างอ้วนควรจะงดอาหารพวกแป้ง น้ำตาล หรือเพื่อนที่ตัวเล็กก็ต้องรับประทานโปรตีนให้มาก นอกจากนี้ยังเสนอให้มีกิจกรรมแข่งขันลดความอ้วนในชั่วโมงกิจกรรมด้วยเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าความอ้วนไม่ได้มีผลเสียแค่เรื่องความสวยงามแต่ที่ต้องระมัดระวังเพราะมีผลต่อเรื่องสุขภาพตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันอุดตัน”
ด้านมุมมองของครูที่ปรึกษาโครงงาน อ.ชวนพิศ ชูรัตน์ โรงเรียนบ้านนา นายกพิทยากรฯ มองว่า ความสำคัญของการทำโครงงานอาหารปลอดภัยนี้ไม่ใช่การเน้นเฉพาะเรื่องอาหารเพียงอย่างเดียว แต่นักเรียนต้องตระหนักถึงวิธีการดูแลสุขภาพอย่างเป็นระบบทั้งในกลุ่มที่อ้วนเกินไปหรือตัวเล็กผอมเกินไปไม่สมวัย ดังนั้นนอกจากภาคกิจกรรมที่นักเรียนร่วมกันทำแล้วโรงเรียนยังต้องหนุนเสริมเรื่องความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้วย เช่นที่โรงเรียนได้ติดต่อคุณหมอ-เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลบ้านนา มาตรวจสุขภาพฟัน และมาพูดเรื่องข้อควรระวังในการเลือกทานอาหารอย่างครบวงจร
“อาหารปลอดภัยเป็นเพียงจุดเริ่มต้นหนึ่ง เพื่อไปสู่การดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กทั้งระบบ พวกเขาจะรู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี”
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ขอบคุณภาพประกอบจาก : แฟนเพจ “โครงการนำร่อง อาหารปลอดภัยฯ ในโรงเรียน-สสส.”