กิจกรรมทางกายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็ก
ที่มา : คู่มือการจัดกิจกรรมทางกายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็ก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
กิจกรรมทางกายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็ก
จากแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพตลอดช่วงชีวิต (Life-Course Approach) ซึ่งเป็นแนวคิดสากล มีหลักการบนพื้นฐานความจริงที่ว่า ตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา จนเกิดมาเป็นทารกและเจริญเติบโตขึ้นเป็นเด็กวัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยสูงอายุ ทุกคนควรมีสิทธิและมีโอกาสที่จะมีสุขภาพดี พอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขตามสมควรในสังคม การสร้างเสริมสุขภาพตลอดช่วงชีวิต สำหรับบุคคลทุกกลุ่มวัย ด้วยการสร้างโอกาสให้ทุกคนสามารถทำกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสมกับวัย ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในชีวิตประจำวัน(Daily Life) ชีวิตการทำงาน (Work Life) และชีวิตยามว่าง (Leisure Life) จึงเป็นความจำเป็นเพื่อการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพสำหรับประชากรไทย โดยเฉพาะในวัยแรกเกิดถึง 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่อยู่ระหว่างการมีพัฒนาการทางกลไกการเคลื่อนไหว (Motor Development) กิจกรรมทางกายที่เหมาะสมในช่วงวัยนี้จึงต้องเป็นกิจกรรมที่ได้รับการออกแบบให้ส่งเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวพื้นฐาน (Fundamental Movement)
กิจกรรมทางกายที่เหมาะสมในช่วงวัยนี้จึงต้องเป็นกิจกรรมที่ได้รับการออกแบบให้ส่งเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวพื้นฐาน (Fundamental Movement) ของเด็กเล็ก ได้แก่ กิจกรรมการเดิน การทรงตัว การวิ่ง กระโด ปีนป่าย ขว้างปา ฯลฯ ทั้งนี้การใช้ร่างกายเป็นสื่อในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก มีผลต่อพัฒนาการของระบบกล้ามเนื้อโครงร่าง พัฒนาการเคลื่อนไหว รวมทั้งพัฒนาการประสานสัมพันธ์ของระบบอวัยวะต่างๆ ที่ช่วยในการทรงตัว ขณะเคลื่อนไหวไปตามอุปกรณ์ที่ออกแบบไว้ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในความสามารถของตน สร้างความมั่นใจและความรู้จักตนเอง (Self Esteem) ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านบุคลิกภาพของตัวเด็กเองในอนาคต
การพัฒนาสมองของเด็ก จึงควรใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวเป็นเครื่องกระตุ้น โดยสมองจะสั่งการให้อวัยวะรับรู้สภาพแวดล้อมขณะทำการเคลื่อนไหว ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาความสามารถในด้านการรับข้อมูลจากการทำกิจกรรมไปด้วยพร้อมๆ กัน และยังรวมไปถึงการช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ของระบบประสาทสัมผัส และกล้ามเนื้อ ตลอดจนการรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ของเด็ก