กิจกรรมชุมชน สร้างภูมิคุ้มกัน ‘เรื่องเพศ’

เมื่อเรื่อง ‘เพศ’ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ไม่สามารถแยกออกไปจากชีวิตของคนเรา การส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงแนวทางการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจเรื่องเพศแบบผิดๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริม และเร่งแก้ไข ไม่เช่นนั้นแล้ว ปัญหาท้องทำแท้ง ท้องวัยเรียน แม่วัยรุ่น หรือแม้กระทั่งการกีดกั้นสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน ก็จะยังคงเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เมื่อไม่นานมานี้ ใน งานประชุมเพศวิถีศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 4 มีวงเสวนา “รวมพลคนทำ รัก จากหมู่บ้าน” เพื่อนำเสนอวิธีขับเคลื่อนการทำงานในการสร้างเสริมความเข้าใจเรื่องเพศในระดับชุมชน โดยใช้ครอบครัวเป็นเครื่องมือในการส่งผ่านบทเรียนสู่เด็กวัยรุ่น เป็นบทเรียนซึ่งกลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์จากนักปฏิบัติการในพื้นที่

สุราทิพย์ ชูกำแพง หรือกล้อมแกล้ม นักปฏิบัติการจากมูลนิธิขวัญชุมชน จ.สุรินทร์ ได้เล่าประสบการณ์ที่ได้รับจากการลงพื้นที่ว่า “ในช่วงแรกๆ ที่เข้าไปผู้ใหญ่ในชุมชนยังมีความกลัวที่จะคุยเรื่องเพศกัน เพราะคิดว่าเรื่องเพศควรจะคุยกันแค่ภายในบ้าน ไม่ใช่นำมาพูดกันในที่สาธารณะ แต่เราใช้วิธีจัดกิจกรรม บ้านเรียนวิถีเพศ โดยจัดศาลากลางหมู่บ้าน ให้ทุกๆ คนในหมู่บ้านเข้ามาคุยเรื่องเพศกัน ทำให้ทุกคนเข้าใจใหม่ว่าเรื่องเพศไม่ใช่แค่เรื่องบนเตียง” กล้อมแกล้มกล่าว

กล้อมแกล้มอธิบายกิจกรรมที่ทำในหมู่บ้านว่า  “ใช้ศาลากลางหมู่บ้านเป็นพื้นที่เปิดในการคุยเรื่องเพศ โดยทุกเย็นจะมีอาสาสมัครมาเป็นแกนหลักกับพ่อแม่ แล้วให้อาสาสมัครเป็นผู้ที่ให้ความรู้เรื่องเพศ จากนั้นจะร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ให้ทุกคนสามารถคุยกันได้อย่างเปิดเผย คนมาส่วนใหญ่เป็นแม่ 90% ที่มีลูกวัยรุ่น ซึ่งสาเหตุที่มาก็เพราะพ่อแม่เป็นห่วงลูก กลัวเด็กจะเรียนไม่จบ หรือท้องก่อนวัยอันควร จึงยอมที่จะคุยกับลูกตรงๆ แทนที่จะให้ลูกไปปรึกษาเพื่อนหรือลองผิดลองถูกกันเอง” กล้อมแกล้มกล่าว

ด้านนักปฏิบัติการจาก กุลนันท์ เผดิมวรรณพงษ์ หรือตี้ จาก มูลนิธิศักยภาพเยาวชน จ.เชียงใหม่ ที่ได้ลงไปสัมผัสกับชุมชน ต.หนองผึ้ง อ.สาระภี จ.เชียงใหม่ เล่าว่า เริ่มต้นจาการจัดกิจกรรมในชุมชม ทำให้ผู้ปกครองของเด็กในชุมชนเห็นว่า ลักษณะการทำกิจกรรมเป็นอย่างไร ทำให้ผู้ปกครองมีความเข้าใจมากขึ้นว่าลูกของพวกเขามาพูดคุยเรื่องเพศเพื่อศึกษา และสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องเพศให้กับชีวิต แต่กว่าจะเกิดกิจกรรมนี้ได้ ก็มีปัญหาในส่วนที่พ่อแม่บางคนคิดว่า ลูกสามารถไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ดีกว่า เช่น เรียนพิเศษ แทนที่จะเข้าค่ายความรู้เรื่องเพศ เป็นต้น

สำหรับการหาแนวร่วมในการทำความเข้าใจกับชุมชน นักปฏิบัติการบอกว่า “เนื่องจากพ่อแม่ของเด็กที่มาเข้าร่วมกิจกรรมมีตำแหน่งเป็นนายกอบต. อสม. ประธานกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ จึงมีกระบอกเสียงที่ช่วยให้พ่อแม่คนอื่นๆ ไว้วางใจให้ลูกเข้ามาร่วมกิจกรรมแล้วขยายกิจกรรมไปยังหมู่บ้านอื่นได้ ลักษณะการทำงานจึงเริ่มจากค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่ไปทีละหมู่บ้าน จากหนึ่งกลายเป็นสองและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทั่วทั้งอำเภอ” กุลนันท์กล่าว

เพราะเรื่อง “เพศ” เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ แม้การรณรงค์ส่งเสริมในวันนี้ จะยังไม่เห็นผลสำเร็จในทันที แต่เชื่อว่า เมื่อเริ่มเดินไปข้างหน้าแล้วหนึ่งก้าว ก้าวต่อไปจะตามมา 

 

 

ที่มา : ชรินทร เรืองลายคราม team content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code