กำหนด 9 มาตรการ รร.ปลอดควันบุหรี่

สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เด็กและเยาวชนทดลองสูบบุหรี่จนเสพติด มาจากพฤติกรรมอยากทดลอง และคำชักชวนจากเพื่อนๆ เพราะอยากเท่และอยากให้ดูเป็นผู้ใหญ่ โดยหารู้ไม่ว่าหากเสพติดไปแล้วก็จะเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาให้ทดลองยาเสพติดอื่นๆ ที่รุนแรงกว่า รวมทั้งยังสร้างโรคภัยไข้เจ็บในอนาคต และสถานที่ซึ่งเป็นจุดบ่มให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ได้ ก็ไม่พ้นโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษานั่นเอง

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จับมือกับเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ จากการสนับสนุนของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภาคีของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.  และสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข จัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินการโรงเรียนปลอดบุหรี่ของทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อนำบทเรียนการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ขยายผลไปยังโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสังกัด สพฐ. รวม 469 แห่งทั่วประเทศ เมื่อไม่นานมานี้

ครูสุวิมล จันทร์เปรมปรุง หัวหน้าคณะทำงานเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2554 พบว่าเยาวชนที่เริ่มสูบบุหรี่เป็นประจำอายุเฉลี่ยที่น้อยลง คือจาก 18.5 ปี เป็น 17.4 ปี หรือประมาณชั้น ม.5 ดังนั้น เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่จึงได้คิดค้นรูปแบบการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ เพื่อเร่งป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสูบบุหรี่ในช่วงอายุดังกล่าว

โดยกำหนดมาตรการ 9 ด้านของการดำเนินงานเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ และได้นำมาตรการนี้ไปดำเนินการในโรงเรียน 5 จังหวัดพื้นที่นำร่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี สงขลาและกรุงเทพมหานคร และได้สรุปบทเรียนจากการดำเนินงานของโรงเรียน 285 แห่งที่เข้าร่วมโครงการออกมาเป็นชุดบทเรียนการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ เพื่อให้โรงเรียนและหน่วยงานที่สนใจได้นำไปประยุกต์ใช้

สำหรับมาตรการ 9 ด้านเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ คือ 1.ตั้งคณะทำงานเพื่อรับผิด ชอบการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่  2.ผู้บริหารสถานศึกษาประกาศนโยบายโรงเรียนปลอดบุหรี่ 3.ติดป้ายประกาศให้ทราบว่าโรง เรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ในจุดที่เห็นได้เด่นชัด 4.ติดสติกเกอร์เขตปลอดบุหรี่ทั่วบริเวณโรง เรียน 5.ประชาสัมพันธ์นโยบายและเฝ้าระวังการสูบบุหรี่ในบริเวณโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

6.สอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตร 7.ส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโรงเรียน ปลอดบุหรี่ 8.มีมาตรการดูแลช่วยเหลือนัก เรียนให้เลิกสูบบุหรี่ 9.ขยายผลการดำเนิน งานไปยังผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนรอบ โรงเรียน การสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ และจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่

ครูสุวิมลกล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายครูฯ ได้จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพคุณครูในโรงเรียนต่างๆ เพื่อขยายผลการนำบทเรียนดังกล่าวไปใช้ยังจังหวัดใหม่เพิ่มขึ้นอีก 8 แห่ง ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก นครราชสีมา มหาสารคาม อุบลราชธานี นนทบุรี ระยอง และสุราษฎร์ธานี รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลและแนวทางผ่านทางเว็บไซต์ โรงเรียนปลอดบุหรี่ www.smokefreeschool.net

การร่วมมือทั้ง 3 หน่วยงานหลักในครั้งนี้จะทำให้เกิดโรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบเกิดขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีหน่วยงานของทั้งกระทรวงศึกษาธิการ เครือข่ายครูฯ และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันสนับสนุนเพื่อเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน

ครูอนงต์ พัวตระกูล ผู้แทนเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ บอกว่า การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ควรเริ่มทำตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น เพราะเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ สมองเด็กวัยรุ่นกำลังเปิดรับสิ่งใหม่ สนใจเรียนรู้สิ่งรอบตัว ต้องการรู้ ลอง และสัมผัสสิ่งต่างๆ ก่อนแล้วจึงเลือกที่จะเชื่อหรือทำสิ่งไหน ดังนั้นการสอดแทรกเรื่องบุหรี่ทุกครั้งที่มีโอกาส จะทำให้สมองของเด็กกลุ่มนี้สะสมองค์ความรู้และประสบการณ์ นำไปสู่การยืนยันว่าจะไม่สูบบุหรี่

โดยแนวทางการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการสูบบุหรี่แก่เยาวชนสามารถทำผ่านการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร อาทิ สอดแทรกในกิจกรรมตามปฏิทินการศึกษาในโรงเรียน เช่น ปฐมนิเทศ นิทรรศการวิชาการ วันสำคัญทางศาสนา กิจกรรมกีฬาสี การจัดกิจกรรมอบรมทักษะชีวิต เช่น ค่ายอบรมนักเรียนแกนนำ หรือสอดแทรกในกิจกรรมเยี่ยมบ้าน กิจกรรมประชุมผู้ปกครอง และกิจกรรมรณรงค์นอกโรงเรียน เช่น วันงดสูบบุหรี่โลก

นอกจากนี้ แนวทางการสร้างความตระหนักเรื่องบุหรี่ยังสามารถทำผ่านการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เช่น สอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้อง การจัดเป็นรายวิชาเลือกเสรี/วิชาพิเศษสอดแทรกในกิจกรรมทักษะชีวิตและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมชุมนุม กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี และสอดแทรกในกิจกรรมโฮมรูม

ครูวราภรณ์ หงษ์ดิลกกุล ผู้แทนเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวถึงแนวทางและบทบาทของครูในกระบวนการช่วยนักเรียนให้เลิกสูบบุหรี่ว่า ครูมีหน้าที่คัดกรองนักเรียนให้รู้ว่าใครสูบบุหรี่ สูบมากน้อยเพียงใด และชี้ให้เห็นผลเสียของการสูบบุหรี่ และผลดีจากการเลิกสูบบุหรี่

โดยโน้มน้าวให้นักเรียนตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่ด้วยทัศนคติทางบวก รวมทั้งชี้แนะแนวทางการเลิกสูบบุหรี่ตามระดับการเสพติดและต้องติดตามผล และให้กำลังใจนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ ร่วมชื่นชมเมื่อเลิกได้สำเร็จ และส่งเสริมมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเพื่อนให้เลิกสูบบุหรี่ต่อไป

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุเริ่มต้นที่นำเยาวชนไปติดสิ่งเสพติดชนิดอื่น อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การเสื่อมสุขภาพและเสียชีวิตของคนไทย อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง เป็นผลจากการติดบุหรี่ขณะยังเป็นเด็ก และโดยสถิติแล้ว กว่าร้อยละ 70 ของเด็กไทยที่ติดบุหรี่จะเสพติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต

นอกจากโรงเรียนปลอดบุหรี่แล้ว บ้านและสถานที่สาธารณะก็ต้องปลอดควันพิษดังกล่าวด้วย และผู้ใหญ่ต้องสั่งสอนให้ระลึกเสมอว่า “หากไม่เริ่ม ก็ไม่ต้องเลิกบุหรี่” และที่สำคัญจะทำให้ไม่ต้องพรากจากคนที่รักและรักตัวเขา

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code