กำจัดปัญหาความรุนแรงในผู้สูงอายุจริงๆ ซะที
ดีกว่าความสงสารและบริจาค
สังคมไทยมีปัญหาด้านความรุนแรงในผู้สูงอายุไม่แพ้ประเทศอื่นๆ อีกหลายต่อหลายประเทศ เช่นเดียวกับปัญหาในผู้หญิงในเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เกิดจากสมาชิกในครอบครัวดังปรากฏในสื่อแทบทุกวันเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโทรทัศน์
เริ่มจากปัญหาการละเลยการทอดทิ้งผู้สูงอายุ ที่มีทั้งผู้สูงอายุในครอบครัวยากจน ผู้สูงอายุที่ลูกหลานได้รับมรดกไปแล้วก็ทิ้งขว้างเพราะเห็นว่าหมดประโยชน์แล้ว กระทั่งลูกหลานไปอยู่ที่อื่นทิ้งให้ปู่ย่าตายายอยู่แต่เพียงลำพังโดยไม่ส่งเสียเลี้ยงดู
ผู้สูงอายุที่ถูกทำร้ายด้านจิตใจเช่นปู่ย่าตายายที่ขี้บ่นจู้จี้ ความจำเสื่อมดูแลตัวเองไม่ได้ต้องเป็นภาระให้ลูกหลาน จนเป็นสาเหตุแห่งการทำทารุณตั้งแต่คำพูดกระทบกระเทียบกระแทกกระทั้น การแสดงออกทางความรู้สึกทำให้ผู้สูงอายุเสียใจ หม่นหมองไปจนถึงขั้นถูกทำร้ายร่างกาย
นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุที่ถูกกระทำความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการถูกชกต่อย การทุบตี การทำร้ายจากลูกหลานที่ขาดสติจากสิ่งเสพติดจนมึนเมา เช่น ลูกหลานเมาเหล้าเมาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมายาบ้า เมาสารเสพติดต่างๆ กระทั่งการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศจากพวกโรคจิต
ทุกวันนี้ความรุนแรงในผู้สูงอายุเฉพาะที่ปรากฏให้เห็นในสื่อนอกจากสื่อโทรทัศน์ดังกล่าวข้างต้น ยังขยายไปสู่สื่ออีกหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ ก็เริ่มนำเสนอแล้วโดยนำข่าวจากหนังสือพิมพ์ไปอ่านข่าวออนไลน์ทางไอที เป็นต้น
นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจจะเป็นเพียงเศษเสี้ยว แต่ที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อยังมีอีกมากมาย ทั้งนี้ ถ้าหากไปดูข้อมูลทุกภูมิภาค อย่างเช่น จากสถานีตำรวจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับแจ้งข้อมูลดังกล่าว ถ้าในกทม.ก็อย่างเช่น วิทยุ จส.100 เป็นต้น จากหน่วยงานอย่างพัฒนาสังคมจังหวัดอำเภอต่างๆ
จากปัญหาความรุนแรงในผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในทุกรูปแบบที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่เพื่อการแก้ไขเยียวยาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผู้บริหารสูงสุดคือรัฐบาลที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ยินนโยบายและการย้ำให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่องในเรื่องดังกล่าว
ปัญหานี้นับว่าเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนหลากหลายละเอียดอ่อนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและนำมาซึ่งปัญหาอย่างอื่นตามมาอีกมากมาย เช่น ปัญหาความแตกแยกในครอบครัวขยายตัวไปสู่สังคมใหญ่ ก่อให้เกิดความเสียหายด้านงบประมาณแผ่นดิน กระทั่งขยายลุกลามไปสู่ปัญหาภาวะเศรษฐกิจได้อีกด้วย
ที่น่าสังเกตคือ การแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมทรามทางด้านสังคมไทยที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความต่ำทรามด้านจิตใจ ความเสื่อมทรามด้านศีลธรรมจริยธรรม วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทยที่บรรพชนสืบสานมาอย่างยาวนานแต่ถูกกระแสสังคมวัตถุ กระแสวัฒนธรรมตะวันตกถาโถมกลมกลืนจนแทบไม่เหลือซาก
ด้วยความกังวลห่วงใยดังกล่าวของหลายท่านของหลายหน่วยงานจึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนมุมมองในเวทีสนทนา”สังคมไทยกับความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ มุมมองที่มากกว่าความสงสารและบริจาค” โดยแผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จัดไปเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมาที่ห้องประชุมเกษตร ชั้น 2 ร.ร.หลุยส์แทเวิร์น
จากวงเสวนาดังกล่าวได้จุดประกายให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงที่มีต่อผู้สูงอายุในปัจจุบันและได้หนทางในการเตรียมความพร้อมแก้ปัญหาดังกล่าว
ที่สำคัญคือการส่งปัญหาความรุนแรงในผู้สูงอายุไปยังรัฐบาลเพื่อกำหนดเป็นนโยบายให้ความสำคัญในการนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไปอย่างเร่งด่วน
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
Update: 01-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย