กาฬโรค
ที่มา : คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
แฟ้มภาพ
“โรคกาฬโรค” เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีแหล่งรังโรคคือสัตว์จำพวกฟันแทะ เช่น หนู เป็นต้น โดยมีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Yersinia pestis และ มีหมัดหนูเป็นพาหะนำโรค
เกิดจากถูกหมัดหนูที่มีเชื้อกัด และปล่อยเชื้อเข้าสู่ผู้ถูกกัด โดยทั่วไปมีการระบาดของโรคในหนูก่อน เมื่อหนูตายหมัดหนูจะกระโดดลงไปยังสัตว์อื่น หรือคน เมื่อกัดจะปล่อยเชื้อให้แก่สัตว์ หรือผู้ถูกกัดต่อไป ส่วนใหญ่จะพบการเกิดโรคในช่วงฤดูหนาว และในบริเวณที่มีกลุ่มประชากรอยู่กันอย่างแออัด การดูแลเรื่องความสะอาด และควบคุมการแพร่พันธุ์ของหนูจะสามารถทำให้มีโรคระบาดน้อยลง
อาการจะแสดงออกหลังถูกหมัดที่มีเชื้อหนูกัดแล้ว ประมาณ 2-8 วัน โดยเชื้อกาฬโรคจะเคลื่อนไปเจริญเติบโตยังต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้ที่สุด อาการเริ่มแรกคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการสามารถพบได้ 3 ลักษณะคือ
1.ชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ลักษณะต่อมน้ำเหลืองจะบวม แดง กดเจ็บ ซึ่งอาจปวดมากจนขยับแขนหรือขาไม่ได้ ตำแหน่งที่มักพบจะเป็นบริเวณขาหนีบหรือรักแร้
2.ชนิดเชื้อในกระแสเลือด มักจะลุกลามจากชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มีอาการไข้สูง ความดันเลือดต่ำ ช็อก หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย เพ้อ หมดสติ เลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ เสียชีวิตภายใน 3-5 วัน หรือภายในไม่กี่ชั่วโมง
3.ชนิดกาฬโรคปอดบวมอาจเกิดตามหลังจาก 2 ชนิดแรก หรือติดเชื้อจากคนไอ จามรดกัน มีอาการปอมบวม ไอเป็นน้ำ เสมหะไม่เหนียว ต่อมาจะมีเลือดปน อ่อนเพลีย มีไข้ หากไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตเร็วมากภายใน 1-3 วัน
โรคกาฬโรคของต่อมน้ำเหลืองมีระยะฟักตัวประมาณ 2-6 วัน กาฬโรคของปอดมีระยะฟักตัวประมาณ 2-4 วัน
การป้องกันโรค
-โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกัน
-การปรับสภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปรับปรุงอาคารบ้านเรือนให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย จัดให้มีแหล่งทิ้งขยะมูลฝอยและฝาปิดมิดชิด และระบบกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารและที่อาศัยของหนู
-หากมีสัตว์ ควรใช้ยาฆ่าหมัดเป็นระยะ ๆ ระวังเด็กหรือผู้ใหญ่เมื่อออกนอกบ้าน โดยเฉพาะในแหล่งที่มีการระบาด ไม่ควรใกล้ชิดกับสัตว์ฟันแทะทั้งหลาย และควรทายากันหมัด รวมทั้งไม่สัมผัสสัตว์ป่วยหรือตาย หากจำเป็นควรใส่ถุงมือยางเพื่อป้องกันเชื้อ
-เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ควรดำเนินการให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดูแลสภาพแวดล้อมในชุมชน บริเวณที่พักอาศัยหรือภายในบ้านเรือน
-ในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคกาฬโรค เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องเฝ้าระวัง ควบคุมพาหะนำโรค (หนู) โดยการสำรวจสุ่มตรวจ หาค่าดัชนีหมัดหนู (Flea index)
การรักษา
เมื่อสงสัยว่าป่วยเป็นโรคจะต้องแยกผู้ป่วยออกจากคนอื่น และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลจะต้องแยกห้อง (Isolation) เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วย เช่น สเตรปโตมัยชิน (streptomycin) คลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol) เตตร้าไซคลิน (tetracycline) ยาซัลฟาไดอาชิน (sunfadiacin) ทั้งนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้ทำการรักษา
บุคลากรที่ทำการรักษาต้องมีความระมัดระวังอย่างเคร่งครัด ด้านการป้องกันการติดเชื้อโดยสวมถุงมือ ปิดปากและจมูก ควรทำลายเชื้อจากเลือด น้ำเหลือง และหนองของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโรค