“กาฬโรคปอด” มฤตยูร้ายที่ป้องกันได้
ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก … สุภาษิตนี้ คงใช้ได้ดีกับสถานการณ์สุขภาพของคนไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดรุกรานชาวโลกอย่างเราไปง่ายๆ ไหนจะโรคชิคุนกุนยา ที่ระบาดมาให้หนักใจ ไม่เพียงเท่านี้ ยังรวมถึงโรคเก่าที่ยังไม่สร่างซาไปไหน อย่างมฤตยูดำ “กาฬโรคปอด” ที่กำลังระบาดอยู่ที่แผ่นดินจีน
พอข่าวโรคนี้กระจายออกมา ก็ทำให้บ้านเรา ร้อนๆ หนาวๆ กันอีกรอบ เพราะนอกจากจะต้องหาวิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้ว ยังต้องมาจับตามองเจ้าตัวจิ๋ว อย่าง “หนู” พาหะนำโรคกาฬโรคว่าจะพกพาเจ้าหมัดตัวเชื้อโรคติดตัวมาด้วย ว่าแต่!! เจ้าโรค “กาฬโรคปอด” คืออะไรกันนะ ไปทำความรู้จักกับมันกันดีกว่า
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นพ.โอภาส การ์ย กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาให้ความรู้ว่า โรคกาฬโรคปอดนั้น เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เยอซิเนีย เพสทิส (Yersinia Pestis) มีลักษณะเป็นแท่ง และแอบแฝงอยู่ในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ เพราะจะทำให้เชื้อเข้าสู่เยื่อในปากได้ง่าย เช่น หนู กระรอก กระต่าย กระแต แมว และสุนัข มีพาหะที่สำคัญ คือ “หมัดหนู” มีขนาดเล็กไม่กี่มิลลิเมตร สามารถกระโดดได้ไกลถึง 1 เมตร หรือ 200 เท่าของขนาดตัวของมันเอง
โดยเจ้าเชื้อตัวนี้ จะติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ 2 ทาง คือ ทางมูลหมัด เชื้อแบคทีเรียที่ถูกถ่ายออกมาพร้อมกับมูลของหมัดอาจเข้าสู่ร่างกายของคนทางบาดแผลได้ และหมัดกัด เมื่อหมัดไปกัดสัตว์ฟันแทะต่างๆ เช่น กัดหนูที่มีเชื้อโรคก็จะทำให้เชื้อแบคทีเรียเพิ่มจำนวนในตัวหมัดอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดการอุดตันและหากหมัดไปกัดคนเพื่อดูดเลือดอีกก็จะทำให้กลืนเลือดไม่เข้าจึงต้องคายหรือสำรอกเลือดที่ผสมเชื้อแบคทีเรียออกมาเข้าสู่บาดแผลของคนที่มันกำลังดูดเลือดอยู่ จึงทำให้เชื้อโรคเข้าสู่คนได้ 2 ทางหลักๆ ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือด
นอกจากกาฬโรคปอดจะติดต่อจากสัตว์สู่คนแล้ว ยังสามารถติดต่อได้จากคนสู่คนโดยวิธีการติดต่อเหมือนกับโรคปอดหรือไข้หวัดใหญ่ คือ หลังจากที่เชื้อเข้าปอดคนหนึ่งแล้วจะสามารถติดต่อไปสู่อีกคนหนึ่งได้จากทางเดินหายใจด้วยการไอหรือจาม หรือจากสิ่งของปนเปื้อนเชื้อโรคใหม่ๆ แต่จะแตกต่างกันตรงที่กาฬโรคปอดติดต่อได้ยากกว่า เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงมากถ้าไม่เสียชีวิตทันทีก็จะต้องนอนพักรักษาตัวที่บ้านหรือโรงพยาบาลไม่มีโอกาสไปคลุกคลีกับผู้อื่นหรือออกไปเดินนอกบ้านเพื่อแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ส่วนกลุ่มเสี่ยงคือบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดหรือบุคคลที่อยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยขณะติดเชื้อ เช่น พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง
“เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-7 วัน จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการด้วยการมีไข้ ตามด้วยต่อมน้ำเหลืองโตและแตก เชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือด โดยเฉพาะจะไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดบวมและเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง การรักษาสามารถใช้ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่แล้วในโรงพยาบาลต่างๆ รักษาได้ หากเทียบกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กาฬโรคจะติดต่อยากกว่าแต่มีความรุนแรงของโรคสูงกว่ามาก อัตราป่วยตายสูงถึง 30-60%” นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับ “เชื้อกาฬโรค” ก็พบว่า เป็นโรคระบาดจากสัตว์สู่คนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและยังเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน ในอดีตมีการระบาดใหญ่ของเชื้อร้ายเกิดขึ้น 3 ครั้ง…
การระบาดครั้งที่ 1 ในคริสตวรรษที่ 6 เรียกการระบาดครั้งนั้นว่า Plague of justinian การระบาดเริ่มจากประเทศอียิปต์ไปสู่ทวีปยุโรป โดยเฉพาะที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ที่มีคนตายถึงวันละหมื่นคน และเชื้อโรคร้ายนี้ก็ระบาดติดต่อ กันเป็นระยะเวลาประมาณ 50 ปี ส่งผลให้มีคนตายหลายล้านคน!!
การระบาดครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในคริสตวรรษที่ 14 เรียกการระบาดครั้งนั้นว่า “The Black Death” โดยเริ่มต้นจากตอนใต้ของประเทศอินเดียและจีนผ่านประเทศอียิปต์เข้าสู่ประเทศยุโรป มีการระบาดในอิตาลีเมื่อปี พ.ศ. 1889 เรียกว่า “Great Mortality” และมีการระบาดเป็นระยะตลอดคริสตวรรษที่ 15 16 17 ในปี พ.ศ.2208 เกิดการระบาดใหญ่ที่กรุงลอนดอน มีคนตายเป็นจำนวน 60,000 คน จากประชากร 450,000 คน เรียกว่า “The Great Plague of London” การระบาดในยุโรป ครั้งนั้นมีประชากรมากถึง 25 ล้านคน ที่ต้องสังเวยชีวิตให้โรคนี้
การระบาดครั้งที่ 3 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกปี พ.ศ. 2439 มีการระบาดเข้าสู่สิงค์โปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ ฮาไวอี อาระเบีย เปอร์เซีย เตอร์กี อียิปต์ และแอฟริกาตะวันตก เข้ารัสเชีย และในทวีปยุโรป เข้าสู่อเมริกาเหนือ และเม็กซิโกมีรายงานระหว่างปี พ.ศ. 2443-2444 ในภาคตะวันออกของจีน มีคนตายประมาณ 60,000 คน ปี พ.ศ. 2453-2454 ที่แมนจูเลียมีคนตายประมาณ 10,000 คน ต่อมามีรายงานการระบาดที่รัฐแคลิฟอเนียและประเทศรัสเซีย
สำหรับในประเทศไทย เชื้อนรกได้อาละวาด ล้างผลาญชีวิตผู้คนไม่แพ้ที่อื่น โดยนายแพทย์เอช แคมเบล ไฮเอ็ด เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล ( Principal Medical Officer of
ส่วนการบำบัดเชื้อกาฬโรค ทางการแพทย์จะให้ผู้ป่วยกาฬโรคแยกห้อง เพื่อมิให้เชื้อแพร่กระจาย ซึ่งยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษากาฬโรคได้แก่ 1.สเตรปโตมัยซิน 2.คลอแรมเฟนิคอล 3.เตตราซัยคลีน 4.โคไตรม็อกซาโซล บุคลากรที่ทำการรักษาผู้ป่วย ต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด ต้องสวมถุงมือ ปิดปาก จมูก และต้องทำลายเชื้อจากเลือด น้ำเหลืองและหนองของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ
ด้าน นพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แนะนำการป้องกันตัวให้พ้นจากเชื้อร้ายนี้ว่า ประชาชนต้องดูแลสุขาภิบาลในบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ไม่ให้รกรุงรัง กำจัดหนู กำจัดหมัด กำจัดที่ซ่อน หรือแหล่งอาหารของหนู เพื่อป้องกันหนูที่เป็นพาหะที่สำคัญของโรคนี้และโรคอื่นๆ มาแอบแฝงตัวอยู่ในบ้าน
นอกจาก “หนู” จะเป็นพาหะของโรคกาฬโรคปอดแล้ว ก็ยังเป็นพาหะนำโรคร้ายอย่าง “ฉี่หนู” ที่มักจะแวะมาสวัสดีคนไทยอยู่ทุกหน้าฝน…ถึงแม้เจ้าโรคนี้จะชื่อจิ๋วๆ ว่า “ฉี่หนู” แต่ขอบอกเลยว่าพิษสงนั้นไม่ได้จิ๋วตามชื่อเลยแม้แต่น้อย เพราะเวลาที่มันแผลงฤทธิ์ ก็อาจทำให้คนตัวโตๆ อย่างเราเสียชีวิตๆ ได้เช่นกัน!!…ว่าแต่มันทำยังไงนะ ถึงคร่าชีวิตคนได้ ไปดูกันเลยค่ะ
เจ้าฉี่หนู มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โรคเลปโตสไปโรซิส” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “โรคเลปโต” โดยโรคนี้เกิดจากเจ้าเชื้อโรคที่ชื่อว่า Genus leptospiva ที่อาศัยอยู่ในสัตว์ต่างๆ อาทิ สุนัข หมู ควาย แต่สัตว์ที่เจ้าเชื้อโรคตัวนี้รักที่สุด เห็นจะเป็น เจ้าตัวจิ๋วอย่าง หนู ที่ชอบร้อง จี๊ด จี๊ด จี๊ด ให้เรารำคาญใจนั่นเอง…
หนูบ้าน หนูนา หนูพุก ถือเป็นพาหะนำโรคตัวสำคัญ โดยเชื้อจะฝังตัวอยู่ที่ไตของหนู แต่มักไม่ทำให้หนูป่วย เมื่อหนูที่มีเชื้อโรคอยู่ในตัวทำการปัสสาวะ เชื้อร้ายจะออกมากับปัสสาวะของหนู แล้วปนเปื้อนอยู่ตามทุ่งนา แม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง น้ำตก หรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ ถ้าอุณหภูมิปานกลาง น้ำมีความเป็นกรด ด่างปานกลางมีร่มเงาบังแสงแดดเชื้อก็สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้นานเป็นเดือน อันที่จริงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น สุนัข โค กระบือ สุกร ฯลฯ ถ้าอยู่ในที่ที่มีหนูชุกชุม ก็อาจติดเชื้อนี้ได้ และมักจะแสดงอาการป่วย หรือแท้งลูก และเชื้อก็ถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะสัตว์เหล่านี้เหมือนกัน
หากสงสัยว่าป่วยเป็นโรคฉี่หนู ก็ให้ลองสังเกตดูว่า มีอาการเหล่านี้หรือเปล่า อาการของโรคนี้ในระยะแรกๆ อาจจะคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ อีกหลายโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะมาก ปวดกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยโรคนี้มักปวดที่น่อง โคนขา หรือ ปวดหลัง บางคนอาจมีตาแดง ซึ่งจะเป็นอาการเฉพาะของโรคนี้ เนื่องจากเลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว หรือเส้นเลือดที่ตาขยายเป็นตาข่าย ถ้าใครมีอาการที่กล่าวมา หลังจากไปแช่น้ำ ย่ำโคลนมา 2-26 วัน ควรนึกถึงโรคนี้ ที่สำคัญไม่ควรหายามากินเอง ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และต้องได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมภายใน 4วัน ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการไตอักเสบ ไตวาย ตับวาย หรือเลือดออกที่ปอด และลำไส้ ซึ่งจะทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น และอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ป้องกันไว้ก่อนจะดีกว่า วิธีการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ คือต้องหลีกเลี่ยงไม่ไปแช่น้ำย่ำดินโคลนนาน ๆ โดยเฉพาะถ้ามีแผลตามแขนขามือเท้า ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องปกปิดไม่ให้ร่างกายสัมผัสน้ำ เช่น ใส่รองเท้าบู๊ทยางสูงเหนือระดับน้ำ สวมถุงมือยาง ใช้พลาสเตอร์ปิดแผล และต้องหมั่นล้างชำระร่างกายหลังย่ำน้ำก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง
แต่!!วิธีป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือ ต้องควบคุมปริมาณสัตว์นำโรคไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป เพราะคู่หนูสามีภรรยา 1 คู่ สามารถแพร่ลูกหลานได้มากถึง 1,000 ตัว ภายใน 1ปี เลยทีเดียว!! …..
ดังนั้น ประชาชนทุกคนควรหมั่นดูแลสภาพแวดล้อมให้สะอาด เก็บกวาดขยะทิ้งให้มิดชิดไม่ให้เป็นอาหารของหนู หมั่นถากถางหญ้าตามคันนาไม่ให้รก เพราะจะเป็นที่ให้หนูหลบซ่อนจากศัตรูในธรรมชาติจากพวกนกและงู ทำคันนาให้เล็กเท่าที่พอเดินได้ เพราะคันนาที่ใหญ่ จะเป็นที่ให้หนูนามาขุดรูทำรังแพร่ลูกหลาน และแพร่โรคไข้ฉี่หนูมาถึงคนได้…..
เรียบเรียงโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update 10-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์