การแยกโรคปวดศีรษะ

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน


การแยกโรคปวดศีรษะ thaihealth


แฟ้มภาพ


โรคปวดศีรษะจากความเครียด เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดของผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ มักจะมีอาการปวดศีรษะต่อเนื่องนานเป็นวันๆ จนถึงเป็นสัปดาห์ หรือเป็นแรมเดือน โดยจะปวดพอรำคาญ หรือทำให้รู้สึกไม่สุขสบาย และจะปวดอย่างคงที่ ไม่แรงขึ้นกว่าวันแรกๆ ที่ปวด จัดว่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่จะเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง


อาการปวดศีรษะที่เป็นต่อเนื่องกันเป็นวันๆ ขึ้นไป ควรแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น


1. ไมเกรน


ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตุบๆ ที่ขมับข้างเดียว (ส่วนน้อยเป็นพร้อมกัน 2 ข้าง) คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า นาน 4-72 ชั่วโมง มักจะเป็นๆ หายๆ ทุกครั้งที่มีอาการกำเริบ มักจะเกิดจากสิ่งกระตุ้น เช่น แสง เสียง กลิ่น อดนอน อดข้าว อากาศร้อนหรือเย็นจัด อาหารบางชนิด เหล้า ผงชูรส โดยมากจะเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะจากความเครียดร่วมด้วย


2. เนื้องอกสมอง


ผู้ป่วยจะมีอาการปวดทั่วศีรษะ ปวดมากเวลาตื่นนอนตอนเช้า พอสายๆ ก็ทุเลาไป ไม่ปวดต่อเนื่องทั้งวัน อาการดังกล่าวจะเป็นแรงขึ้นทุกวันจนผู้ป่วยต้องสะดุ้งตื่นตอนเช้ามืดเพราะรู้สึกปวด และจะปวดนานขึ้นทุกวัน จนในที่สุดจะปวดตลอดเวลา ซึ่งกินยาแก้ปวดไม่ทุเลา ในระยะต่อมาอาจมีอาการอาเจียน เดินเซ เห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง ชัก ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนไป จากเดิม


3. โรคทางสมองอื่นๆ


เช่น เลือดออกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วย จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงและอาเจียน ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ปวด บางคนอาจมีไข้สูง ซึม ชัก ร่วมด้วย


4. ต้อหินชนิดเฉียบพลัน


ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาและศีรษะข้างเดียวอย่าง รุนแรงและฉับพลันทันที ตาพร่ามัว แสบตาข้างที่ปวด จะมีสิ่งรบกวน ตาแดงๆ ตรงบริเวณตาขาว (รอบๆ ตาดำ) อาการปวดจะเป็นต่อเนื่องเป็นวันๆ ซึ่งกินยาแก้ปวดก็ไม่ทุเลา

Shares:
QR Code :
QR Code