การเห็นซองบุหรี่ที่จุดขายทำให้เลิกบุหรี่ยากขึ้น
การเห็นซองบุหรี่ที่จุดขายทำให้เลิกบุหรี่ยากขึ้น
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยรายงานการวิจัยที่พบว่า ร้อยละ 11.3 ของการซื้อบุหรี่เกิดขึ้นโดยการเห็นการตั้งซองบุหรี่ที่จุดขาย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจที่จะซื้อตั้งแต่แรก และร้อยละ 31.2 เห็นว่าการเห็นซองบุหรี่ที่จุดขายทำให้เลิกบุหรี่ยากขึ้น
งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารโทแบคโก คอนโทรล เดือนพฤศจิกายน โดยคณะผู้วิจัยจากคณะแพทย์จอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา วิจัยโดยการสัมภาษณ์ผู้ซื้อบุหรี่ 301 คน ทันทีภายหลังการซื้อบุหรี่ พบว่าผู้ที่ซื้อบุหรี่ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจที่จะซื้อมาก่อน แต่ซื้อเพราะเห็นการตั้งซองบุหรี่ที่จุดขาย เกิดขึ้นในผู้สูบบุหรี่ที่มีอายุน้อยระหว่าง 18-24 ปี ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นครั้งคราว ผู้ที่พยายามเลิกสูบบุหรี่มากกว่า 3 ครั้งในปีที่ผ่านมา และผู้ที่ตั้งใจจะเลิกสูบในหนึ่งเดือนข้างหน้า
ศ.นพ.ประกิต เปิดเผยต่อไปว่า การตั้งซองบุหรี่ที่จุดขายเป็นการโฆษณาชนิดหนึ่ง ที่ทำให้วัยรุ่นเข้ามาติดบุหรี่มากขึ้น และทำให้การเลิกบุหรี่ยากขึ้น อนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก จึงเสนอให้ประเทศต่าง ๆ ห้ามร้านค้าปลีกตั้งซองบุหรี่ที่จุดขาย และขณะนี้มีสิบกว่าประเทศรวมทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บรูไน สิงคโปร์ และประเทศไทยที่มีกฎหมายห้ามแสดงซองบุหรี่ที่จุดขาย แต่ร้านค้าจำนวนมากรวมถึงร้านสะดวกซื้อ ยังมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยไม่ปิดฝาตู้ขายบุหรี่หรือเปิดฝาตู้ทิ้งไว้ภายหลังการหยิบขาย โดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามแสดงซองบุหรี่ ณ จุดขายเมื่อ พ.ศ.2548 การสำรวจทั่วประเทศเมื่อ พ.ศ.2552 ประชาชนพบเห็นการแสดงซองบุหรี่ ณ จุดขายร้อยละ 6.7 แต่เพิ่มขึ้นเป็น 18.2 ในการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2554 ตนขอเรียกร้องให้ร้านค้าปลีกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมในการช่วยป้องกันให้เยาวชนติดบุหรี่น้อยลง และทำให้ผู้ที่พยายามที่จะเลิกสูบบุหรี่เลิกได้ง่ายขึ้น โดยการปฏิบัติตามกฎหมายห้ามตั้งซองบุหรี่ที่จุดขายอย่างเคร่งครัด (ภาพตู้ขายบุหรี่ร้านค้าปลีกประเทศออสเตรเลียและประเทศไทย)
ที่มา : ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่