การเห็นซองบุหรี่กระตุ้นให้คนอยากซื้อ

 

การเห็นซองบุหรี่กระตุ้นให้คนอยากซื้อมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เปิดเผยงานวิจัยของ โอ.บี.เจ. คาร์เตอร์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน เมืองเพิร์ธ ออสเตรเลีย ที่พบว่า การเห็นซองบุหรี่ ณ จุดขาย ทำให้เกิดการซื้อบุหรี่โดยที่ไม่ได้วางแผนไว้ คิดเป็นสี่เท่าของการซื้อโดยวางแผนไว้

 

งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารควบคุมยาสูบฉบับเดือนกรกฎาคม โดยการสัมภาษณ์ผู้สูบบุหรี่ 206 คนทันทีหลังจากการซื้อบุหรี่ พบว่า ร้อยละ 22 หรือ 45 คน ซื้อบุหรี่โดยที่ไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะซื้อ การเห็นซองบุหรี่ที่จุดขายทำให้เกิดการซื้อโดยไม่ได้ตั้งใจร้อยละ 47  ขณะที่ซื้อโดยตั้งใจไว้ก่อน ร้อยละ 12 และร้อยละ 49 ของผู้สูบบุหรี่เห็นด้วยกับการห้ามตั้งซองบุหรี่ที่จุดขาย ขณะที่ร้อยละ 12 ไม่เห็นด้วย ที่เหลือไม่มีความเห็น รายงานสรุปว่า การตั้งซองบุหรี่ ณ จุดขาย เป็นการโฆษณารูปแบบหนึ่ง โดยกระตุ้นให้เกิดการซื้อบุหรี่โดยไม่ได้ตั้งใจมากกว่าที่ซื้อโดยตั้งใจถึง 4 เท่าตัว ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการที่คนจะสูบบุหรี่ให้น้อยลงหรือเลิกสูบ โดยก่อนหน้านี้มีงานวิจัยจากออสเตรเลียที่พบว่า  ผู้ที่พยายามที่จะเลิกสูบบุหรี่และผู้ที่เพิ่งเลิกสูบบุหรี่ใหม่ ๆ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะเดินผ่านร้านค้าปลีกที่แสดงซองบุหรี่  เพราะกลัวจะเลิกสูบไม่ได้หรือกลับไปสูบใหม่ ผู้วิจัยสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายห้ามตั้งซองบุหรี่ ณ จุดขาย

 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ห้ามตั้งซองบุหรี่ ณ จุดขาย มาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548  นอกจากไทยแล้วยังมีประเทศแคนาดา และไอซ์แลนด์ที่ห้ามตั้งซองบุหรี่ ณ จุดขายแล้ว และประเทศที่อยู่ในระหว่างการผลักดันกฎหมายลักษณะเดียวกันได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอังกฤษ ทั้งนี้ อนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ 165 ประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาออกกฎหมายห้ามแสดงซองบุหรี่ ณ จุดขาย เนื่องจากเป็นการโฆษณารูปแบบหนึ่ง

 

ศ.นพ.ประกิต เรียกร้องให้ร้านค้าบุหรี่ทั่วประเทศร่วมมือในการไม่ตั้งซองบุหรี่ ณ จุดขายตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดโอกาสที่เยาวชนจะเข้าไปเสพติดบุหรี่และทำให้คนเลิกบุหรี่ยากขึ้น  ทั้งนี้มีผู้ร้องเรียนมายังมูลนิธิรณรงค์ฯ บ่อย ๆ ว่ามีร้านค้าสะดวกซื้อฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการเปิดประตูตู้ที่ตั้งซองบุหรี่อ้าไว้ให้คนเห็น  เมื่อได้รับการทักท้วงก็อ้างว่าลืมปิด สมควรที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต้องตรวจเตือนเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่     

 

 

update 15-07-52 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code