การเรียนรู้ระเบียบปฏิบัติในการไปวัด

 

หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธที่ดี คือ การเรียนรู้วิธีปฏิบัติในการไปวัดเพื่อจะได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องดังนี้

หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธที่ดี คือ การเรียนรู้วิธีปฏิบัติในการไปวัดเพื่อจะได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องดังนี้

1. การแต่งกายไปวัด

ควรใช้เสื้อผ้าสีอ่อนๆ ถ้ามีลายก็เป็นลายเรียบๆ เนื้อผ้าไม่ควรโปร่งบางจนเกินไป ไม่หรูหราจนเกินไป เสื้อผ้าไม่ควรหลวมหรือรัดรูปจนเกินไป เพื่อความสะดวกในการกราบไหว้พระและนั่งสมาธิ

สำหรับผู้หญิงควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย และไม่ควรตกแต่งด้วยเครื่องประดับและเครื่องสำอาง ตลอดจนใส่น้ำหอมมากจนเกินไป ไม่ควรแต่งหน้า เขียนคิ้ว ทาปาก ทาเล็บจนเกินงาม

เหตุที่ควรปฏิบัติเช่นนี้เพราะวัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม คนไปวัดเพื่อทำบุญ ทำจิตใจให้สงบ จึงควรตัดเรื่องปรุงแต่งกิเลสเหล่านี้ออกไปเสียก่อน

2. การนำเด็กหรือบุคคลอื่นๆ ไปวัด

เป็นการปลูกฝังนิสัยที่ดีแก่เด็ก เพราะทำให้เด็กได้ใกล้ชิดพระศาสนา ตั้งแต่อยู่ในวัยอันสมควร แต่มีข้อระวังคือ อย่านำเด็กอ่อนไปวัดโดยไม่จำเป็น เพราะอาจก่อให้เกิดความรำคาญ หรือในกรณีที่เด็กซุกซน อาจจะส่งเสียงดังรบกวนสมาธิของผู้อื่นที่ต้องการความสงบ

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องนำบุคคลอื่นๆ เช่น พนักงานขับรถหรือคนรับใช้ไปวัดด้วย ก็ควรเปิดโอกาวให้เขาได้ร่วมทำบุญด้วย และกวดขันเรื่องกิริยามารยาทและการแต่งกาย การขับรถเข้าไปในบริเวณวัด ควรระมัดระวังในเรื่องการใช้แตร การเร่งเครื่องยนต์เสียงดัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่พระกำลังสวด และการจอดรถก็ควรจอดให้เป็นระเบียบในสถานที่ที่ทางวัดได้กำหนดไว้

3. การเตรียมอาหารไปวัด

อาหารที่เหมาะสมสำหรับการนำไปถวายพระภิกษุนั้น ควรเป็นอาหารที่เรารับประทานกันทั่วไป คือ ปรุงจากพืช ผัก หรือเนื้อสัตว์ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด แต่ควรระมัดระวังอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ที่เป็นที่ต้องห้ามสำหรับพระภิกษุ อันได้แก่

1. เนื้อมนุษย์ 2. เนื้อช้าง

3. เนื้อม้า 4. เนื้อสุนัข

5. เนื้องู 6. เนื้อราชสีห์

7. เนื้อเสือโคร่ง 8. เนื้อเสือเหลือง

9. เนื้อเสือดาว 10. เนื้อหมี

อย่านำอาหารที่ปรุงจากเนื้อดิบๆ เลือดดิบๆ ไปถวายพระภิกษุสงฆ์ เช่น ปลาดิบ กุ้งดิบ ฯลฯ จนกว่าจะทำให้สุกด้วยไฟ นอกจากนั้น ไม่ควรนำอาหารที่ปรุงด้วยสุราที่มีสีหรือกลิ่นหรือรสปรากฏชัดไปถวายพระภิกษุสงฆ์ และอย่าฆ่าสัตว์โดยจำเพาะเจาะจงว่าจะนำเนื้อนั้นไปทำอาหารถวายแด่พระภิกษุสงฆ์

4. การเตรียมตัวก่อนไปวัด

อาจจะทำได้ดังนี้ คือ

1. จัดทำภารกิจของตนให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นที่กังวล

2. ทำจิตใจให้แจ่มใส โดยการระลึกถึงบุญกุศลและคุณงามความดีที่เคยได้ทำมาแล้ว

3. รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเพื่อทำใจให้บริสุทธิ์

5. การปฏิบัติตนโดยทั่วไปภายในวัด

วัดเป็นที่รวมของคนหลายประเภทซึ่งแตกต่างกันมาก ทั้งอายุ ฐานะ และความเป็นอยู่ การศึกษา อาชีพ ตลอดจนนิสัยใจคอ โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย จึงจำเป็นต้องระมัดระวังสำรวมตน โดยปฏิบัติดังนี้

1. สำรวมกาย วาจา ใจ ให้สงบเรียบร้อย งดอาการคะนองด้วยประการทั้งปวง ทั้งนี้เพื่อให้กาย วาจา ใจ ของเราเหมาะสมที่จะบำเพ็ญบุญกุศล

2. งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด

3. ควรนั่งให้เป็นระเบียบในสถานที่ที่กำหนดไว้

4. ในการประกอบศาสนพิธี เช่น สวดมนต์ สมาทานศีล ถวายสังฆทาน ฯลฯ ควรเปล่งเสียงอย่างชัดเจนโดยพร้อมเพรียงกัน

5. เมื่อมีสิ่งใดทำให้ขุ่นข้องหมองใจ เช่น อากาศร้อน กระหายน้ำ เห็นหรือได้ยินกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมของคนอื่น หรือการไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องต่างๆ ขอให้อดทนและแผ่เมตตา ให้ความเห็นอกเห็นใจทุกสิ่งทุกอย่าง อย่าให้เกิดโทสะขึ้นได้

6. การสนทนากับพระ ในการสนทนากับพระนั้น หากเป็นผู้ชายไม่ค่อยมีระเบียบปฏิบัติที่เคร่งครัดนัก เพียงแต่ให้ตระหนักว่าเป็นการสนทนากับพระ ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลของสังคม มีเพศ คือ สถานะทางสังคมเหนือกว่าตน

เมื่อเข้าไปถึงที่อยู่ของท่าน ควรจะกราบพระพุทธปฏิมาที่ประดิษฐานอยู่ในนั้นก่อน แล้วจึงกราบพระสงฆ์ ซึ่งนิยมกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์สำหรับคนที่ต้องแสดงความเคารพอย่างสูง

ทุกครั้งที่พูดกับท่านควรพนมมือไหว้ ใช้สรรพนามที่ใช้เรียกตนเอง เช่น “กระผม” “ดิฉัน” โดยมองที่สถานะของพระเป็นตัวกำหนด หากท่านเป็นพระธรรมดา สรรพนามที่เรียกท่านมักนิยมคำว่า “ท่าน” “พระคุณเจ้า” หากเป็นพระที่มีสมณศักดิ์สูงก็อาจจะใช้คำว่า “ใต้เท้า” “พระเดชพระคุณ” “พระคุณ” “เจ้าพระคุณ” สำหรับสมเด็จพระสังฆราชใช้คำว่า “ฝ่าบาท” สรรพนามแทนตนเองใช้คำว่า “กระหม่อม”

ในกรณีที่เป็นสตรีนั้น ควรมีผู้ชายไปด้วยจะเป็นการดี เพราะพระท่านอาจจะมีปัญหาทางพระวินัย ต้องอาบัติได้ง่ายเมื่ออยู่กับสตรีสองต่อสอง

 

 

ที่มา : หนังสือวิถีธรรมวิถีไทย(พระพุทธศาสนา) โดย สุชาดา วราหพันธ์

Shares:
QR Code :
QR Code