การออกกำลังกายของสตรี ให้หนักกำลังดี

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


การออกกำลังกายของสตรี ให้หนักกำลังดี thaihealth


แฟ้มภาพ


ปัจจุบันคุณผู้หญิงให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายมากขึ้น เพื่อรักษาสุขภาพ หรือมีคุณผู้หญิงบางกลุ่มมีความเชื่อหรือมีค่านิยมเกี่ยวกับรูปร่างที่ดีของผู้หญิงนั้น ต้องมีรูปร่างผอม จึงพยายามออกกำลังกายอย่างหนัก เข้มข้นเป็นระยะเวลานาน โดยลืมนึกถึงความเสี่ยงของสุขภาพ


ยิ่งเห็นดารา นางแบบ รวมถึงเน็ตไอดอล ตามสื่อ ต่าง ๆ ที่มีรูปร่างสวย หุ่นดี หน้าท้องแบนราบ ปราศจากไขมัน ยิ่งทำให้อยากมีรูปร่างแบบนั้นบ้าง อ.ดร.สุทธิกร อาภานุกูล คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การออกกำลังกายที่มีความหนักเข้มข้นมาก ๆ นั้น ก็สามารถทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะในผู้หญิง หากออกกำลังกายหนักมากเกินไป อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรค Female athlete triad ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่พบในนักกีฬาเพศหญิงที่ออกกำลังกายหนัก โดย American College of Sports Medicine position stand ได้บอกอาการความผิดปกติของโรคนี้ 3 ประการ ได้แก่


การกินที่ผิดปกติ (Eating disorder) เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรค Female athlete triad คือ ความไม่สมดุลระหว่างปริมาณพลังงานที่เราได้รับจากอาหารและปริมาณพลังงานที่ใช้ไปในขณะออกกำลังกาย สาเหตุหลักเกิดจากการจำกัดการรับประทานอาหาร เพื่อควบคุมน้ำหนักให้ลดลงโดยไม่สัมพันธ์กับความหนักในการออกกำลังกาย พฤติกรรมการควบคุมอาหารแบบนี้ทำให้เกิดโรคนี้ได้ ซึ่งเกิดจากการขาดสารอาหาร


ประจำเดือนขาด (Amenorrhea) ผู้หญิงที่ออกกำลังกายมากเกินไปจนเป็นโรค Female athlete triad จะมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกตินาน 3 เดือนหรือมากกว่านั้น เนื่องจากร่างกายสูญเสียไขมันมากเกินไปจากการออกกำลังกายที่หนักเป็นเวลานาน ประกอบกับการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ส่งผลต่อภาวะประจำเดือนขาด การที่ผู้หญิงมีอาการรอบเดือนไม่ปกติจะมีผลต่ออารมณ์ และจิตใจ ซึ่งส่งผลต่อความผิดปกติทางร่างกายตามมา


กระดูกพรุน (Osteoporosis) ผู้หญิงที่เป็นโรค Female athlete triad จะมีอัตราเสี่ยงในการสูญเสียกระดูกหรือมีมวลกระดูกลดลงซึ่งนำไปสู่โรคกระดูกพรุนได้ การวัดกระดูกที่มีสุขภาพดีนั้น ดูจากค่าความหนาแน่นกระดูก (Bone mineral density หรือ BMD) จะเป็นตัวสำคัญในการบ่งชี้ถึงความแข็งแรงของกระดูกและความเสี่ยงต่อการหักที่กระดูก โดยวัดจากค่าที (T-Score) ซึ่งวัดความหนาแน่นกระดูกว่าเป็นกี่เท่าในความเบี่ยงเบนจากค่ามวลกระดูกที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐาน (SD)


กล่าวคือ โดยปกติค่าความหนาแน่นของกระดูกมีค่าเท่ากับค่ากระดูกที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐาน ในกรณีที่ 1. ค่าทีมากกว่า-1 ขึ้นไป หมายถึง กระดูกหนาแน่นปกติ (Normal bone) 2. ค่าทีอยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 หมายถึงโรคมวลกระดูกน้อยหรือกระดูกบาง(Osteopenia) และ 3. ค่าทีต่ำกว่า -2.5 หมายถึงโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)


ดังนั้น เมื่อทราบอย่างนี้แล้ววิธีแก้ไขสำหรับคุณผู้หญิง คือออกกำลังกายด้วยความหนักที่เหมาะสม ไม่ออกกำลังกายหนักหรือมากเกินไป โดยเฉพาะหากเป็นผู้หญิงที่ผอมและมีไขมันสะสมน้อยอยู่แล้ว อาจจะเน้นการออกกำลังกายที่เพิ่มมวลของกล้ามเนื้อแทนการออกกำลังกายที่ต้องใช้ความอดทนเป็นระยะเวลานาน ๆ เพื่อลดไขมัน และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดควรมีการวางแผนการออกกำลังกายระยะยาวให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการออกกำลังกาย


รวมถึงการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ รับประทานครบตามหลักโภชนาการ สำหรับคุณผู้หญิงอาจจะเพิ่มอาหารที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินดี อีกทั้งมีการจดบันทึกและคอยสังเกตความผิดปกติของร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อดูว่าประจำเดือนหายไปหรือแค่มาช้ากว่ากำหนด หากพบว่าประจำเดือนขาดหายไป ควรไปพบแพทย์หรือสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น


และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการออกกำลังกาย คือการทำร่างกายและจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียดและหักโหมกับการออกกำลังกายมากเกินไป พักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงจะทำให้การออกกำลังกายนั้นเป็นยา และเป็นเกราะป้องกันโรคสำหรับคุณผู้หญิงได้

Shares:
QR Code :
QR Code