การอบรมสั่งสอนลูกเชิงบวก

ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ

  

          ผศ.ดร.อาภาพร เผ่าวัฒนา ภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำโครงการวิจัยเรื่อง “โปรแกรมการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของหญิงไทยวัยต้นที่อาศัยในชุมแออัด เขตกรุงเทพมหานคร” ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงาน กองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สังคมมักจะตีตราเยาวชนในสลัม ว่ามีปัญหาเรื่องเพศมากกว่าเด็กทั่วไป แต่ความจริงโอกาสเกิดปัญหามีเท่ากัน ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงสื่อและภูมิคุ้มกันของเด็กมากกว่า แต่ที่ต้องแสวงหาแนวทาง ในการป้องกันพฤติกรรมความเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่นหญิงในชุมชนแออัดเพราะเป็นพื้นที่ที่ผู้ปกครองและวัยรุ่นใช้เวลาร่วมกันน้อยมาก เพราะพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ต้องทำงานในช่วงที่เด็กๆ เลิกเรียน เช่น งานขายของในตลาดนัด, ขายพวงมาลัย, ขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ กว่าจะกลับถึงบ้านเด็กๆ ก็หลับไปแล้ว ส่วนในตอนเช้าเมื่อเด็กจะไปโรงเรียน พ่อแม่ก็ยังไม่ตื่นนอน

การอบรมสั่งสอนลูกเชิงบวก 

          ผศ.ดร.อาภาพร ได้เริ่มต้นการทำงานโดยเข้าไปในชุมชนแออัดย่านบางซื่อ เพื่อศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศที่รวมปัจจัยทางด้านความแตกต่างในการเลี้ยงดู การสื่อสารเรื่องเพศ อำนาจต่อรองในสัมพันธภาพ การนึกคิดและความสามารถ แห่งตนด้านเพศเพื่อหารูปแบบที่ถูกต้องมาพัฒนาเป็น “โปรแกรมการเลี้ยงดูและสื่อ สารเรื่องเพศของแม่และลูกสาว”

 

          จากข้อมูลที่ได้รับพบว่า บริบทที่แตกต่างกันของชุมชนไม่ได้มีผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น แต่ปัญหามาจากการปล่อยปละละเลยและขาดการสื่อสารระหว่างแม่กับลูก ในขณะที่วัยรุ่นตอนต้นจะมีแรงขับเคลื่อนทางเพศ(sexual driver) เมื่อสภาพแวดล้อมเปิด จึงทำให้อยากจะลอง บางทีก็ถูกยั่วยุจากสื่อ ซึ่งสื่อที่มีผลมากที่สุด คือ อินเตอร์เน็ต และวีซีดีซึ่งจะมีเหมือนกันทุกบ้าน วัยรุ่นสามารถรวมตัวกันดูหนังโป๊ที่มีอยู่ในบ้านได้ ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างมีแฟนถึง 91.1 เปอร์เซ็นต์มากกว่าครึ่งหนึ่งมีกิจกรรมที่นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ เริ่มตั้งแต่ไปไหนด้วยกันสองต่อสอง เกาะกุมมือกัน นั่งใกล้ชิดกัน ส่งผลให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ 28.4 เปอร์เซ็นต์ และอายุเฉลี่ยที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก 15.8 ปี(อายุต่ำสุดคือ 13 ปี) ซึ่งมีผู้ไม่ใช้ถุงยางอนามัย 17.8 เปอร์เซ็นต์

 

          ปัญหาขาดความสัมพันธ์กันในรูปแบบบวก ก่อให้เกิดเป็นคอขวด พ่อแม่ไม่รู้จะเริ่มสอนลูกอย่างไร ทั้งๆที่ลูกวัยรุ่นจะมีความต้องการเรียนรู้ทางเพศมาก แต่ขาดข้อมูลชี้แนะไปในทางที่ถูกต้อง อุปสรรคสำคัญคือ ความรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย ไม่ควรพูดคุยกันอย่างเปิดเผย ไม่รู้จะเริ่มต้นพูดคุยเรื่องเพศกับลูกอย่างไร และมีความลำบากใจที่จะพูดคุยเรื่องเพศ โดยหลีกเลี่ยงที่จะคุยในเรื่องการปฏิบัติเมื่อมีความต้องการทางเพศและการคบเพื่อนต่างเพศ

 

          “เราจึงมีแนวคิดว่าต้องเริ่มต้นที่แม่ เพราะที่ผ่านมามีการศึกษาชัดเจนว่า เด็กผู้ หญิงในช่วงวัยรุ่นตอนต้นจะไว้ใจแม่ เรียนรู้จากแม่เป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะพฤติ กรรมในชีวิตประจำวัน เช่นคุยอย่างไร, ทำตัวอย่างไร หากแม่และลูกสามารถสื่อการกันในเรื่องเพศได้ ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กได้อย่างดีที่สุด” อ.อาภาพร กล่าวและว่า

 

          จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา คือ เพิ่มความสัมพันธ์กันในครอบครัวก่อนที่จะสื่อสารใดๆ ระหว่างกันงานวิจัยจึงได้พัฒนา “สาร” ที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเครื่องมือ “สื่อ” กับลูก สร้างกิจกรรมจากเรื่องที่เด็กเจอแล้ว สอนให้เรียนรู้จากหนังสือพิมพ์, ข่าว, ละคร, เพื่อนบ้าน และสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน เริ่มจากถามความคิดเห็นกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วชี้แนะสั่งสอนให้ไปในทางที่ถูกต้อง

 

          ที่สำคัญคือ ต้องเน้นให้แม่พูดกับลูกในเชิงบวก ใช้ภาษาที่แสดงความรู้สึกให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นเพื่อนสอดแทรกความรู้เรื่องเพศที่โครงการนำเสนอ เช่น เรื่องการใช้ถุงยางอนามัย ไม่ใช่เพื่อการป้องกันการตั้งครรภ์เพียงอย่างเดียว แต่เน้นความรู้เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น

 

          ผศ.ดร.อาภาพรกล่าวถึงผลงานจากการทดลองใช้โปรแกรมการสอนลูกแบบเชิงบวกว่า ได้รับการยอมรับจากแม่ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเป็นอย่างดี สังเกตได้จากยอมสละเวลาที่จะทำกิจกรรมกับโครงการมากขึ้น

 

          “แม่เป็นสื่อบุคคลที่ดีที่สุดการพัฒนาการสื่อสารจะเป็นเกราะกำบังให้วัยรุ่นมีภูมิต้านทานในตนเอง เมื่อเจอสังคมที่ เปิดโอกาสเสี่ยงก็จะเลือกกำหนดพฤติกรรมตัวเองได้” อ.อาภาพรกล่าว

 

          นอกจากโปรแกรมการสอนลูกแล้วผศ.ดร.อาภาพร ยังได้จัดทำคู่มือเพื่อพัฒนาทักษะของมารดาในการสื่อสารเรื่องเพศให้กับบุตรสาว โดยใช้การยำตัวอย่างคำพูด หรือคำถามที่ต้องใช้ และวิธีการปฏิบัติต่อบุตรสาว

 

          นอกจากนี้ ยังได้นำไปใช้ในการเรียนการสอน ในวิชาการส่งเสริมสุขภาพเกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่น และวิชาการสร้างเสริมสุขภาพของนักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข ม.มหิดล โดยหวังว่านักศึกษาจะนำโปรแกรมการสอนลูกนี้ไปใช้กับงานอนามัยในพื้นที่หลังจากจบการศึกษาต่อไป

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

update:22-07-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ