การอบรมระยะสั้น ประจำปี 2553 เรื่อง การวิจัยเชิงปฏิบัติการ วันที่ 10-14 พ.ค. 53
การอบรมระยะสั้น ประจำปี 2553
เรื่อง
“การวิจัยเชิงปฏิบัติการ”
(training course on action research)
วันที่ 10 – 14 พฤษภาคม 2553
1. หลักการและเหตุผล (rationale)
“การวิจัยเชิงปฏิบัติการ” (action research – ar) เป็นหลักสูตรการอบรมของสถาบัน ฯ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา บนพื้นฐานของการทำงาน และประสบการณ์ในการวิจัยเพื่อให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรและชุมชน ในบริบทต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายของบุคลากรสถาบันฯ ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา และเนื่องจากสังคมปัจจุบันมีความต้องการด้านความรู้ ความเข้าใจ และ ทักษะใหม่ ๆ เกี่ยวกับการวิจัย ที่มีลักษณะสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเชิงการสร้างความรู้ใหม่ การพัฒนา/สร้างเสริมศักยภาพ การปรับปรุงคุณภาพชีวิตและ การเปลี่ยนแปลงสังคม-ชุมชนให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น รวมทั้ง การคิดค้นแนวทางใหม่ ๆ ที่สามารถช่วยลดความขัดแย้ง หรือ การจัดสรรผลประโยชน์ที่มีอยู่ในระบบการวิจัยของประเทศ ให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การวิจัยเชิงปฏิบัติการ จึงเป็นทั้งแนวคิด-ทฤษฎี ปรัชญา กระบวนการ วิธีการ เทคนิควิธี และเครื่องมือ ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทการทำงานในยุคสมัยปัจจุบัน ที่ต้องการให้เกิดการสร้างเสริมพลังอำนาจเชิงบวกที่มีอยู่ของมนุษย์และของสังคมให้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ให้ความสำคัญเฉพาะกับกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือ นักวิจัยในรอบรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุสู่จุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์สูงสุดของสังคมร่วมกัน ซึ่งก็คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติการแบ่งปัน และการเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม และเนื่องจาก สถาบัน ฯ มีศักยภาพและประสบการณ์ในการทำงานเชิงการสร้างพลังทวีคูณให้กับองค์กร และหน่วยงานต่าง ๆและเล็งเห็นว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการ หรือ การวิจัยและพัฒนาจะสามารถเข้ามาช่วยอุดช่องว่างในการทำงาน และก่อให้เกิดพลังทวีคูณระหว่างภาคสังคมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี จึงดำริ ให้มีการจัดการอบรมหลักสูตรนี้ขึ้น
2. วัตถุประสงค์ (objectives)
1. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
2. เพื่อเป็นวัตถุดิบในการปรับปรุงการทำงานของปัจเจกบุคคล กลุ่ม องค์กร หน่วยงาน สถาบันและชุมชนให้ดียิ่งขึ้น หรือส่งเสริมบรรยากาศในการทำงานบนฐานของความรู้ที่เชื่อมกับความเป็นจริงได้
มากยิ่งขึ้น
3. เพื่อเปิดมุมมอง ให้แง่คิด และ สร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับการวิจัย หรือทำให้เกิดทัศนคติเชิงบวกต่อการวิจัยด้วยแนวทางใหม่ ๆ
4. เพื่อส่งเสริม-สนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถสร้างระบบการเรียนรู้-ความรู้ คลังปัญญา และ
การทำงานเชิงการพัฒนาอย่างได้ผล และสามารถกำหนดทิศทางขององค์กร/หน่วยงานของตน บน
พื้นฐานของการสร้างความรู้ที่เป็นจริงที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและชุมชน
5. เพื่อเพิ่มศักยภาพของสังคมไทยในการทำงานวิจัยเชิงการพัฒนา ด้วยกลยุทธ์ใหม่ ๆ
3. นัยสำคัญของการอบรม/ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น (the importance of the event/expected results) การ
อบรมแบบเข้มข้นทั้ง 5 วัน จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรม ได้รับทั้งความรู้ ความเข้าใจ ในแนวคิด-ทฤษฎีปรัชญา เครื่องมือ และ เทคนิควิธี/ทักษะในการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ อย่างได้ผลดี ซึ่งคาดว่าผู้ผ่านการฝึกอบรมจะสามารถนำความรู้และทักษะดังกล่าวไปทำงานด้านการวิจัย และ/หรือ เติมเต็มช่องว่างที่มีอยู่ในระบบการสร้างความรู้และการพัฒนาของสังคมไทย ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุประสิทธิผลต่าง ๆ ที่ต้องการได้มากยิ่งขึ้นในทุกระดับ โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลระดับโครงการ-แผนงาน ระดับองค์กร-หน่วยงาน ระดับชุมชน และ แม้แต่ระดับประเทศ ทั้งในภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาชน-สาธารณะ-ประชาสังคม ครอบคลุมองค์กร/ลักษณะงานทุกประเภท ทั้งด้านการศึกษา การพัฒนา และ การแพทย์-สาธารณสุข เป็นต้น
4. เนื้อหาของการอบรม (the content) ครอบคลุมเนื้อหา/หัวข้อหลัก ๆ ดังนี้คือ
4.1 นัยสำคัญของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ หรือ การวิจัยและพัฒนา – องค์ประกอบ นิยาม ความหมาย
4.2 กรอบแนวคิด-ทฤษฎี หลักการและการปฏิบัติ
4.3 กระบวนการในการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
4.4 เครื่องมือ-เทคนิคสำคัญ ๆ และ ฝึกปฏิบัติ อาทิ เช่น การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง
4.5 กรณีศึกษาจากบริบทต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายจากขอบเขตทั่วประเทศ
4.6 แนวโน้มสำคัญ ๆ ในการวิจัยเชิงปฏิบัติการ อาทิเช่น การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (participatoryaction research) การวิจัยเพื่อประเมินสถานการณ์แบบเร่งด่วน (rapid assessment procedures) และ การวิจัยแนวสุนทรียสนทนา (dialogical research) เป็นต้น
5. รูปแบบ-วิธีการการอบรม
เป็นการอบรม ที่เน้นบทบาทของผู้เข้ารับการอบรม หรือ ผู้เรียน โดยจะมีการฝึกปฏิบัติ หรือ การทำงานในกลุ่มย่อย (group-based learning) และ/หรือ การทำงานโครงการร่วมกัน (project-based learning) และการเรียนรู้จากกรณีศึกษา (case-based learning) และ เป็นการเรียนรู้เชิงวิพากษ์ (critical learningapproach)เพื่อเพิ่มศักยภาพในการคิดวิเคราะห์ และการสังเคราะห์
6. ระยะเวลาการอบรมและค่าใช้จ่าย
ช่วงเวลา : วันที่ 10-14 พฤษภาคม 2553 (5 วัน) ค่าลงทะเบียน 8,000 บาท (แปดพันบาทถ้วน)
หมายเหตุ :
1. ผู้เข้าอบรมที่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานของรัฐ มีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จากต้นสังกัดได้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง หนังสือที่ กค. 0409.6/ว.122 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2545 และ หนังสือที่ กค. 0409.6/ว.95 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2549 และสามารถเข้าอบรมโดยไม่ถือเป็นวันลา เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว
2. ค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมค่าเอกสารและกระเป๋าใส่เอกสาร ค่าอาหารกลางวัน 5 มื้อ และ
ค่าเครื่องดื่ม-อาหารว่าง 10 มื้อ
7. วิทยากรและ/หรือ ทีมงานอบรม (the training team)
รองศาสตราจารย์อรทัย อาจอ่ำ และ ดร.เกรียงศักดิ์ โรจน์คุรีเสถียร สังกัดสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากรหลัก นอกจากนี้ ก็ยังมี อาจารย์วีรบูรณ์ วิสารทสกุล จาก
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากรรับเชิญ
รองศาสตราจารย์ อรทัย อาจอ่ำ (วิทยากรหลัก) มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการวิจัยประเภทต่างๆและการประเมินผลในบริบทต่างๆ มาเป็นเวลา 10 กว่าปี เคยเป็นที่ปรึกษา (consultant) ด้านต่างๆให้กับองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร อาทิเช่น unicef, unhcr, unchs-habitat เป็นต้น และมีประสบการณ์ในการทำงานในบริบทที่หลากหลาย ทั้งเป็นอาจารย์ นักวิจัย โดยเฉพาะนักวิจัยเชิงปฏิบัติการ และนักวิจัยเพื่อพัฒนา อาทิเช่น การวิจัยและพัฒนาในชุมชนแบบต่างๆ ทั้งชุมชนผู้รายได้น้อยในเมือง ชุมชนชนบท ชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ชุมชนคนสร้างสุขภาพ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็นนักประเมินผล นักแปล และวิทยากรกระบวนการ (learning facilitator) ให้กับการประชุม การอบรม การจัดการความรู้ การถอดบทเรียน การพัฒนาองค์กร และมีความเชี่ยวชาญพิเศษ ในด้านการสร้างเสริมพลังอำนาจเชิงบวกของชุมชน (community empowerment) และการสนับสนุนการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลแนวสร้างเสริมพลังอำนาจ (monitoring and empowerment evaluation-m&ee) ปัจจุบัน ยังมีบทบาทหน้าที่เป็นผู้วิจัยประเมินผลภายนอก (external evaluator) ให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเป็นที่ปรึกษา/วิทยากรหลักด้านการพัฒนา
ระบบการประเมินผล ให้กับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี และหน่วยงานต่างๆ ทั้ง
ภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก
8. การเข้าร่วม/กลุ่มเป้าหมาย (attendance and target groups)
ครั้งละประมาณ 25-30 คน กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สนใจ ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคล/บุคคลทั่วไป ตลอดจนถึงกลุ่ม/กลุ่มงาน/ฝ่าย หน่วยงาน-องค์กร ที่มีความประสงค์จะพัฒนาการทำงานของตนเอง และ/หรือ หน่วยงาน-องค์กรให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือ มีผลลัพธ์/ผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีบรรยากาศสร้างสรรค์ในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเป็นการเพิ่มพูนพลังอำนาจเชิงบวกของทุกคน ด้วยการทำงานอย่างมีกลยุทธ์ บนฐานของความรู้ที่เชื่อมโยงกับโลกที่เป็นจริง ที่มีลักษณะพลวัตไม่หยุดนิ่ง
9. ข้อกำหนดเบื้องต้นเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้เข้าร่วม (requirement)
ผู้สนใจเข้ารับการอบรม ควรมีพื้นฐานความรู้ – ความเข้าใจด้านการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยเชิงวิชาการ การวิจัยประยุกต์ การวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพ และหรือเคยผ่านการ
ฝึกอบรมหลักสูตรการวิจัยพื้นฐานต่างๆ หรือแม้แต่การวิจัยขั้นพื้นฐานต่าง ๆ หรือมีประสบการณ์ในการทำงานอย่างน้อย 1-2 ปี หรือมีบทบาท-หน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเชิงพัฒนา จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ที่สำคัญ คือ ต้องสามารถเข้าร่วมได้ตลอดระยะเวลาการอบรมทั้ง 5 วัน
10. วุฒิบัตร หรือ ประกาศนียบัตร (the certificate)
ผู้ผ่านการอบรมตามข้อกำหนดของหลักสูตร จะได้รับวุฒิบัตร หรือ ประกาศนียบัตรจากสถาบัน ฯ และ หลักสูตร ซึ่งสามารถนำไปใช้ประกอบการสมัครงาน (กรณียังไม่มีงานทำ หรือ ต้องการเปลี่ยนงาน) หรือ นำไปใช้ในการพิจารณาปรับเลื่อนชั้น หรือ เลื่อนตำแหน่ง/ขั้นเงินเดือนได้
11. สถานที่จัดอบรม
อาคารสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตำบลศาลายา
อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
12. การรับสมัคร การคัดเลือก และการประกาศผล
เปิดรับสมัคร/ส่งใบสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 5 เมษายน 2553 เป็นการคัดเลือกจากใบสมัคร และ
ผู้ได้รับการคัดเลือก จะได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ หรือ สามารถตรวจสอบรายชื่อ รวมทั้งดาวน์
4/5 โหลดใบสมัคร ได้ที่ www.ipsr.mahidol.ac.th โดยจะประกาศผลการพิจารณาในวันที่ 8 เมษายน
2553
13. การติดต่อ-การประสานงาน
คุณวริศรา ไววิ่งรบ โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 108
e-mail : [email protected]
ดาวน์โหลดใบสมัคร คลิกที่นี่
ดาวน์โหลดกำหนดการ คลิกที่นี่
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 15-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด