การสร้างเสริมสุขอนามัยของ ‘จมูกและไซนัส’
ที่มา : หนังสือ 100 เรื่องเด่น ความรู้เพื่อส่งเสริมสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
แฟ้มภาพ
จมูกเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายเนื่องจากเป็นทางเดินหายใจส่วนแรกสุดที่รับอากาศจากลมหายใจเข้า ส่วนไซนัสเป็นโพรงอากาศที่อยู่รอบจมูก ช่วยให้กะโหลกศีรษะมีน้ำหนักเบาและทำให้เสียงพูดของเรามีความก้องกังวาน มีความชัดเจนไม่อู้อี้ หากเกิดโรคขึ้นอาจทำให้มีปัญหาตามมาอีกมาก ดังนั้นการมีสุขอนามัยของจมูกและไซนัสที่ดีจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ วิธีการสร้างเสริมสุขอนามัยของจมูกและไซนัส มีดังต่อไปนี้
1.ภูมิต้านทานของร่างกาย จมูกเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคจมูกและไซนัส วิธีรักษาสุขภาพก็จะช่วยให้ภูมิต้านทานของร่างกายดีขึ้น ได้แก่
– นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
– ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายขณะนอนหลับ
– รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
– รักษาสุขภาพจิตให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ อย่าให้เครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล
– ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน
2.ดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภายในห้องนอน ภายในบ้าน โรงเรียน และที่ทำงาน ไม่ให้มีสารก่อภูมิแพ้ โดยมีวิธีดังนี้
– ทำความสะอาดบ้าน ห้องนอน ห้องทำงาน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ พัดลม เครื่องปรับอากาศอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไม่ควรใช้ไม้กวาดหรือที่ปัดฝุ่นเพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายมากขึ้น ควรใช้เครื่องดูดฝุ่นแล้วถูด้วยผ้าชุบน้ำ ถ้าเป็นไปได้ควรให้ผู้ที่ไม่มีโรคภูมิแพ้เป็นคนทำ และควรใช้ผ้าปิดปากป้องกันฝุ่น ขณะทำความสะอาดด้วย
– ล้างแผ่นกรองฝุ่นของเครื่องปรับอากาศทุก 2 สัปดาห์
– ซักทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน มุ้ง ผ้าห่ม ผ้าม่าน และผ้าคลุมเตียงด้วยน้ำอุ่นประมาณ 60 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อฆ่าไรฝุ่น
– นำที่นอน หมอน ผ้าห่ม มุ้ง ผ้าคลุมเตียง ออกตากแดดทุกสัปดาห์อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที เพื่อฆ่าไรฝุ่น
– ใช้ผ้ากันไรฝุ่นซึ่งจะมีเส้นใยถี่แน่นจนรูห่างของผ้าเล็กมากจนไรฝุ่นไม่สามารถผ่านได้ หรือผ้ากันไรฝุ่นอาจเคลือบสารฆ่าไรฝุ่นในเนื้อผ้าหรือบนผิวผ้า และควรซักผ้ากันไรฝุ่นด้วยน้ำธรรมดาทุก 2 สัปดาห์
– ไม่ควรฆ่าไรฝุ่นด้วยสารเคมีซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ
– ควรหุ้มพลาสติกหรือผ้าไวนิลก่อนสวมปลอกหมอนหรือคลุมเตียงเพื่อไม่ให้มีการฟุ้งกระจายของนุ่น ขนเป็ด ขนไก่ ขนนก หรือใช้หมอน หมอนข้าง ที่นอน ที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ หรือฟองน้ำ
– ควรจัดห้องนอนให้โล่ง มีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น อย่าให้มีมุมเก็บฝุ่น ควรเก็บหนังสือใส่ตู้หนังสือ ไม่ให้มีกองหนังสือ หนังสือพิมพ์ แผ่นดิสก์วางเกลื่อน หลีกเลี่ยงการใช้พรหมปูพื้นห้องและพรหมเช็ดเท้า พื้นห้องควรเป็นไม้หรือกระเบื้องยางไม่ควรใช้ผ้าม่าน ควรใช้มู่ลี่แทนเพราะทำความสะอาดง่ายกว่า ไม่ควรมีของเล่นที่มีนุ่นหรือเป็นขนปุกปุยหรือขนสัตว์ ควรใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นหนังแท้ หนังเทียม หรือไม้ ซึ่งทำความสะอาดง่าย ควรใช้เตียงที่ไม่มีขาเพื่อป้องกันไม่ให้มีฝุ่นอยู่ใต้เตียง ซักพรหมและผ้าม่านเป็นประจำ
– ควรดูดฝุ่นในรถยนต์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไม่ควรใช้ผ้าคลุมเบาะรองนั่ง ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศสม่ำเสมอ เวลาเดินทางไม่ควรเปิดหน้าต่าง
– กำจัดแมลงสาบ ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญรวมทั้งแมลงต่างๆ เช่น มด แมลงวัน ยุง
– ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงไว้ในบ้านหรืออย่างน้อยไม่ควรให้สัตว์นั้นอยู่ในห้อง สัตว์ที่ผู้ป่วยสามารถเลี้ยงได้โดยปลอดภัยคือ ปลา ผู้ที่แพ้สัตว์เลี้ยงต้องหลีกเลี่ยงขนสัตว์
– ความชื้นหรือความอับทึบเป็นแหล่งของเชื้อราในอากาศ ซึ่งเป็นสารนก่อภูมิแพ้ ควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้แสงแดดส่องถึง ตู้เสื้อผ้าควรให้มีอากาศถ่ายเทพอสมควร อย่าให้มีน้ำท่วมขังนานๆ โดยเฉพาะหลังฝนตกหนักๆ เก็บกวาดใบไม้ที่ร่วงทับถมอยู่บนพื้น เศษหญ้าที่ชื้นแฉะในสนาม ไม่ควรนำพืชที่ใส่กระถางปลูกมาไว้ภายในบ้าน เพราะดินในกระถางอาจเป็นที่เพาะเชื้อราได้ กำจัดอาหารที่เชื้อราขึ้นโดยเร็ว เมื่อเกิดมีเชื้อราขึ้นที่ใด เช่น ผนังห้องน้ำ ห้องครัว กระเบื้องปูพื้น ควรทำลายโดยใช้น้ำยาซ่าเชื้อรา เช่น น้ำยาไลโซล น้ำยาฟอกผ้าขาว เช่น คลอเร็กซ์
– ละอองเกสรดอกไม้ หรือของหญ้าและวัชพืช อาจเป็นสารก่อภูมิแพ้ ถ้าบริเวณบ้านมีสนามหญ้า ควรตัดหญ้าเป็นประจำเพื่อลดละอองเกสร และไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สดหรือแห้งไว้ในบ้าน
3.หลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แออัด มีฝุ่นละออง ควัน สารเคมี มลพิษ กลิ่นฉุน หรือมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว แม้สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สารก่อภูมิแพ้แต่ก็เป็นสารระคายเคืองทำให้เยื่อบุจมูกอักเสบได้ และคนที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้วสารระคายเคืองเหล่านี้จะกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้มีมากขึ้น
4.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า ซึ่งอาจทำให้จมูกมีการระคายเคืองและมีอาการอักเสบ บุหรี่จะทำให้ทางเดินหายใจมีมูกเหนียวมากขึ้น มีเสมหะและไอ เหล้าทำให้หลอดเลือดขยายตัว หน้าแดง เยือจมูกบวม รูระบายไซนัสอุดตัน และสุขภาพทรุดโทรม
5.เมื่อมีอาการผิดปกติในจมูก ควรปฏิบัติดังนี้
– หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ กระโดดน้ำหรือดำน้ำ
– การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยให้เซลล์พัดโบกของจมูกทำงานดีขึ้น ช่วยล้างเอาน้ำมูก เชื้อโรค สารก่อภูมิแพ้ สารระคายเคืองและสิ่งสกปรกในจมูกออก ช่วยให้จมูกชุ่มชื้น ช่วยลดการอักเสบอาการระคายเคืองในจมูกได้
– การสูดดมไอน้ำร้อนจะทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้ดีทำให้อาการของจมูกดีขึ้นเร็ว
– หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์