การพัฒนา ‘คน’ ตลอดช่วงชีวิต
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"ปานมณี" ไม่ทราบว่าจะมีคนไทยอีกมากน้อยแค่ไหนที่ยังไม่รู้ว่า รัฐบาล ชุดนี้ มีนโยบาย "การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต" ด้วยการมุ่งเน้นการสร้างเสริม สุขภาวะของเด็กปฐมวัย โดยเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึง 8 ขวบ ตาม คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
เมื่อเร็วๆ นี้ สสส. ได้จัด "เวทีสานพลังเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 1" โดยมี ภาคีเครือข่ายดำเนินงานด้านเด็กปฐมวัยจากโครงการและหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม ทั้งด้านการยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ด้านการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ด้านการผลักดันนโยบายเพื่อเด็กปฐมวัย และหน่วยงานด้านงบประมาณ เป้าหมายหลักก็เพื่อมุ่งเน้นไปสู่นโยบาย "การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต" นั่นเอง
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้จะช่วยให้ภาคีเครือข่าย มีพื้นที่กลางเพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนแบ่งปันองค์ความรู้ บทเรียนการทำงาน ประสบการณ์ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคและการก้าวข้ามในการขับเคลื่อนงานเพื่อเด็กปฐมวัย โดย สำนัก 4 มีแนวทางในการขับเคลื่อน สุขภาวะเด็กปฐมวัยผ่าน 3 มิติงาน คือ 1) พัฒนาองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้ เช่น องค์ความรู้เรื่องพัฒนาการของเด็กปฐมวัย (Early Child Development) การพัฒนาทักษะสมอง (Executive Function) เพื่อให้ผู้ดูแลเด็กในครอบครัว สถานพัฒนา เด็กเล็ก และโรงเรียน เกิดความรู้และมีทักษะ ที่ถูกต้องในการเลี้ยงดูเด็ก 2) ยกระดับมาตรฐานการดูแลเด็กปฐมวัย ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือสถานพัฒนาเด็กเล็ก ให้สามารถจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ซึ่งในขณะนี้เกิดศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ 23 แห่ง กระจายอยู่ ทุกภูมิภาค และเกิดเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ ตามจังหวัดต่างๆ และ 3) สนับสนุนการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่มุ่งสร้างเสริม สุขภาวะของเด็กปฐมวัย อาทิ นโยบายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย
เมื่อได้ยินถึง นโยบายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด "ปานมณี" ก็อยากถามบรรดาพ่อแม่ที่กำลังจะมีเด็กแรกเกิด หรือมีเด็กแรกเกิดอยู่แล้ว ทราบกันมากน้อยแค่ไหนว่า ภาครัฐเขามีเงินอุดหนุนให้คนละ 600 บาทต่อเดือน
เรื่องนี้ นางสาวสิทธิอาพร เชยนาค ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นนโยบายสำคัญระดับชาติตามแผนบูรณาการการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ซึ่งเป็นการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) โดยจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนให้กับเด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจน รวมทั้งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นการประกันสิทธิ์ให้เด็กที่อายุ 0-3 ปี ได้รับสิทธิ์คนละ 600 บาทต่อเดือนโดยตรง เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเงินในส่วนนี้ สามารถนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ทั้งด้านสุขภาพ โภชนาการ เครื่องนุ่มห่ม และอุปกรณ์เครื่องมือในการ กระตุ้นพัฒนาการเด็ก โดยผู้ขอรับสิทธิ์ต้องมีรายได้ครัวเรือนหารเฉลี่ยสมาชิกไม่เกินคนละ 3,000 บาท/คนต่อเดือน หรือ 30,000 บาท/คน/ปี
และเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า อยากให้ขยายฐานอายุการรับเงินอุดหนุน จาก 0-3 ปี เป็น 0-6 ปี โดย จะนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) พิจารณาแนวทาง 1) จัดสรรให้เด็ก 0-6 ปีในครอบครัวที่ฐานรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี หรือ 2) จัดสรรให้เด็ก 0-6 ปี แบบ ถ้วนหน้า รวมถึงปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอน การจัดทำแอพพลิเคชั่น "ตามสิทธิ์ ตามสุข" เพื่ออำนวยความสะดวกด้านข้อมูลเงิน อุดหนุนฯ แก่ประชาชน…เฮ
การทำงานในโครงการนี้ได้มีการวิจัยประเมินผล จากสถาบันวิจัยเพื่อการ พัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับ Economic and Policy Research Institute (EPRI) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการวิจัยภายใต้การสนับสนุนจากยูนิเซฟ และ สสส. พบว่า 1) เด็กแรกเกิดที่ได้รับเงินอุดหนุนฯ มีภาวะทางโภชนาการดีกว่า เสี่ยงภาวะเตี้ยหรือกล้ามเนื้อลีบน้อยกว่า แม่สามารถให้นมได้มากขึ้นหรือหาซื้อนมหรืออาหารเสริมได้เพียงพอ 2) เด็กเข้าถึง บริการหลังคลอดได้มากขึ้น เช่น ฉีดวัคซีน รักษาพยาบาล และ 3) แม่ของเด็กสามารถควบคุมรายได้ตัวเองได้มากขึ้น มีสิทธิ์ตัดสินใจในการดูแลเด็กได้มากกว่า แต่น่าเสียดายที่ยังมีเด็กยากจน/เสี่ยงจนตกหล่นอีกร้อยละ 30 ทำให้เสียโอกาสในการได้รับโภชนาการที่ดีและเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐ
การให้สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า จึงเป็นรูปแบบสวัสดิการพื้นฐานที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับเด็กทุกคน โดยไม่ต้องคำนึงถึงความยากดีมีจน และเป็นหลักประกันให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพราะเมื่อเด็กมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็เท่ากับเป็นการสร้างทุนทรัพยากรมนุษย์ให้สังคม ทั้งความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เพราะเด็กในวันนี้จะเติบโตขึ้นมาเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป
สุดท้าย คุณณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการ สำนัก 4 สสส. กล่าวว่า ผลวิจัยเรื่องการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนโดย สสส.และองค์กรภาคี พบว่า ทุกๆ 1 บาทที่ลงทุนในโครงการนี้ ได้ผลตอบแทนทางสังคมประมาณ 7 บาท โดยผลประโยชน์จากการลงทุนเกินกว่าครึ่งหนึ่งตกแก่เด็กๆ และผลประโยชน์บางส่วนตกแก่ผู้ปกครองและชุมชน วันนี้และวันข้างหน้าสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ดังนั้นเด็กทุกคนคือทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญในอนาคต เมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ และที่สำคัญเท่ากับว่า ในอนาคตเราจะเสียเงินในการรักษาปัญหาสุขภาพน้อยลงด้วย