การพัฒนาเด็กปฐมวัย กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ที่มาและภาพประกอบ : wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์
จากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไวรัสมีการแพร่เชื้อระหว่างคน โดยผ่านการติดเชื้อจากละอองเสมหะจากการไอ ตั้งแต่ประมาณธันวาคม 2562 ที่ประเทศจีน ต่อมาการระบาดก็ได้แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆทั่วโลก อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ไอ และหายใจลำบาก ภาวะแทรกซ้อนอาจรวมไปถึงปอดบวม และกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน มาตรการป้องกันที่มีการแนะนำ คือ การล้างมือ การอยู่ห่างจากบุคคลอื่น (โดยเฉพาะกับบุคคลที่ป่วย) ติดตามอาการ และกักตนเองเป็นเวลา 14 วัน ในกรณีที่สงสัยว่าตนอาจติดเชื้อ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่าง ประเทศ ในวันที่ 30 มกราคม 2563 และประกาศให้เป็นโรคระบาดทั่ว ในวันที่ 11 มีนาคม 2563
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศพรก.ฉุกเฉินเพื่อเป็นการป้องกันโรคติดต่อ เพื่อจำกัดการเดินทาง การติดต่อ เพื่อให้ลดการแพร่เชื้อ มีการหยุดเรียน หยุดการทำงานเพื่อให้มีการเดินทางน้อยที่สุด ในลักษณะของการทำงานที่บ้าน และการค้าหลายๆอย่างต้องปิดทำการชั่วคราว เช่นร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านนวด ร้านทำผม เป็นต้น
กลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ ได้สอบถามผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ กับผู้ปกครองเด็กระดับปฐมวัย อายุ 2.5-6 ปี จำนวน 302 ตัวอย่าง ที่มีบุตรหลานอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (เม.ย.-พ.ค.64) พบว่า
สิ่งที่ผู้ปกครองกังวลใจ ลำดับแรก คือ การที่เด็กๆ ไม่ได้เล่นกับเพื่อน เพราะกลัวติดเชื้อ กังวัลเรื่องการเข้าสร้างความสัมพันธ์ของเด็ก เมื่อเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน ไม่สามารถไปเล่นหรือทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตลอดเวลา ทำให้เด็กไม่ได้เล่นกับเพื่อน หรือเล่นน้อยลง ทำให้เด็กมีความรู้สึกคิดถึงเพื่อน อยากเล่นกับเพื่อน ส่วนใหญ่แล้วเด็กมีความเข้าใจในสถานการณ์จากการอธิบายของผู้ปกครอง
รองลงมาเป็นกังวลเรื่องเด็กไม่คุ้นเคยกับการใส่หน้ากากอนามัย ไม่ยอมใส่ ชอบถอดในกรณีนี้จะเน้นการเล่นกับเด็กๆ ที่มีเป็นเพื่อนบ้านอยู่ใกล้กัน เด็กๆ จะมาเล่นด้วยกัน โดยส่วนใหญ่จะไม่ใส่หน้ากากอนามัย เพราะเด็กมักจะมีปัญหากับการใส่หน้ากากอนามัยเวลานานและหายใจลำบากในขณะเล่นหรือทำกิจกรรม ผู้ปกครองจึงปรับเปลี่ยนโดยการล้างมือและจัดสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กได้เล่นอย่างปลอดภัย แต่ในกรณีนี้จะทำได้เฉพาะบุคคลที่ไม่ได้ออกนอกหมูบ้าน อยู่ในหมู่บ้านตลอดและไม่พบปะผู้คนเป็นกลุ่มใหญ่
อีกปัจจัยคือความกังวลเรื่อง พัฒนาการด้านการเรียนรู้ และการไม่ได้ไปเรียน ทำให้การเรียนรู้ล่าช้า และความยุ่งยาก ลำบากที่จะต้องหากิจกรรม หรือเป็นเพื่อนเล่นกับเด็ก อีกทั้ง ไม่มีวิธีการจัดการกับเด็กตอนอยู่บ้าน ไม่รู้จะชวนเด็กทำอะไร ด้วยว่า พ่อ แม่หลายคนยังไม่มีความพร้อมในการปรับบทบาทของตัวเองมาเป็นครูสอนเด็กในการฝึกทักษะทางด้านการเรียนรู้ สิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองถนัด ในการส่งเสริมเด็กจะเรื่องการใช้ประสบการณ์ชีวิต ยังไม่มีความถนัดเรื่องการส่งเสริมประสบการณ์ของเด็กด้านอื่นๆ โดยกิจกรรมที่ผู้ปกครองจัดให้กับเด็กในช่วงเวลาของการกักตัว นั้นจะเป็นการชวนให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน พ่อ แม่ทำอะไรก็ให้ลูกทำด้วย เช่น ทำกับข้าว รดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาดบ้าน เลี้ยงสัตว์ และปล่อยเด็กเล่นอิสระในบ้าน หรือบริเวณบ้าน และมีชวนเด็กทำแบบฝึกหัด เช่น อ่าน เขียน สะกดคำ
ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องการ คือการ มีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก และครอบครัว เข้าไปเล่น ได้ โดยมีการเฝ้าระวัง หรือมีมาตรการที่มั่นใจได้ว่าเด็กจะไม่ติดเชื้อ อันดับต่อมาคือการ อบรม สอนให้ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมพัฒนาการ สอน อบรม วิธีการจัดกิจกรรม หรือการเล่นกับลูก สนับสนุนการฝึกวินัย ในเด็กให้ พ่อแม่ สามารถทำได้เวลาเด็กไม่ได้ไปเรียน และการมีชุดสื่อ ของเล่น ที่ให้ครอบครัวนำมาเล่นกับลูกได้ก็จะเป็นสิ่งที่ครอบครัวสามารถใช้เวลาร่วมกันได้
จากการดำเนินกิจกรรมโครงการบูรณาการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ฯ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) กับ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และครอบครัว ในช่วงเวลาของการระบาดของไวรัสวิด-19 นั้น พบว่า ยังมีช่องว่างของการพลิกวิกฤตของสถานการณ์มาเป็นโอกาสในการทำงานและเตรียมพร้อมกับการรับมือกับสถานการณ์ เพื่อทุกฝ่ายได้มีส่วนเข้ามาส่งเสริมพัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกัน ดังนี้
ผู้ปกครอง มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น ได้ใช้โอกาสนี้ในการพาลูกเล่น ฝึกทำงานบ้านเพื่อพัฒนาทักษะร่างกาย ทักษะชีวิต และสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว ในครอบครัวขนาดใหญ่ที่มี พ่อ แม่ ตา ยาย ปู่ ย่า เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้ภูมิปัญญาที่หลากหลาย และสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวมากขึ้น
ครูปฐมวัย การพัฒนาศักยภาพตัวเองเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหามากขึ้น ทั้งการผลิตสื่อ การออกแบบวิธีการทำงานกับผู้ปกครอง โดยสามารถออกแบบวิธีการทำงาน เช่น ทำสื่อการสอน ใบงาน และคู่มือหรือคลิปอธิบายการใช้สื่อการสอนส่งให้ผู้ปกครอง จัดอบรมอธิบายการใช้สื่อการสอนให้กับลูก วิธีการวัดผล ให้แก่ผู้ปกครอง ทำแผนการลงเยี่ยมบ้านและการติดตาม
ชุมชน การเชื่อมร้อยฐานทุนทางสังคมมาใช้ในการจัดกระบวนการศึกษาให้กับเด็กในชุมชน จัดเตรียมความพร้อมพื้นที่การเล่นในชุมชนให้พร้อม มีระบบป้องกันโควิด มีอาสาสมัครคอยดูแล
ท้องถิ่น การเตรียมความพร้อมสถานศึกษาในสังกัด บุคลากร ให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กๆในสถานการณ์ไม่ปกติ หนุนสริมการเรียนรู้ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
อย่างไรก็ดี ตามขั้นพัฒนาการของเด็กระดับปฐมวัยแล้ว เด็กควรมีพฤติกรรมการเล่นแบบเข้าสังคม เพื่อการเรียนรู้กระบวนการทางสังคม ผ่านการเรียนร่วมกับเพื่อนๆวัยใกล้เคียงกัน เพื่อฝึกฝนทักษะชีวิต ให้เด็กได้เรียนรู้เรื่อง การแบ่งปัน การรอคอย กติกาของสังคม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 เป็นสิ่งยืนยันที่ชัดเจนว่า สถาบันครอบครัว คือหน่วยย่อยในสังคมที่สำคัญที่สุด พ่อ แม่ ผู้ปกครองคือกลไกหลักในการรับมือกับปัญหาและช่วยศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนในการจัดการศึกษาให้กับเด็กในกรณีที่สถาบันการศึกษาไม่สามารถทำงานได้เต็มที่
ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้มีความรู้ ทักษะ ทั้งเรื่องการเลี้ยงดูและการจัดการศึกษาที่ถูกต้องให้กับเด็กปฐมวัย จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ฐานทุนทางสังคมของชุมชน (เช่น ระบบสายสัมพันธ์ ระบบเครือญาติ ระบบภูมิปัญญา ฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม พื้นที่เล่นและแหล่งเรียนรู้) ยังสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ และเข้าใจว่าช่วงเด็กปฐมวัยเรื่องสำคัญคือ การเรียนรู้และการสร้างพัฒนาการเป็นการทำผ่านการเล่น การทำกิจกรรม ไม่ได้เน้นเรื่องวิชาการ เรื่องๆเหล่านี้เชื่อว่าชุมชนมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ต้องสื่อสารให้คนในชุมชนเข้าใจและพัฒนาและฝ่าวิกฤติร่วมกัน