การปรับตัวของครอบครัวและโภชนาการเด็กไทย

ที่มา : ไทยโพสต์


การปรับตัวของครอบครัวและโภชนาการเด็กไทย  thaihealth


แฟ้มภาพ


สสส.จัดแถลงข่าวเสวนาชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการแผนคณะที่ 5 สสส. แจงผลสำรวจสุขภาพคนไทยทุกๆ 5 ปี ผู้ใหญ่และเด็กกินผักผลไม้น้อยกว่าจำนวนแคลอรีที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นเมืองผักผลไม้พ่อแม่ฝึกลูกปลูกพืชสวนครัวทำกับข้าวกินเองเพื่อโภชนาการที่ดี สถาปนิกรั้วจามจุรีฟันธงโควิด-19 วิกฤติใหญ่ที่สุดของคนอายุ 90 ปีลงมา คนทั้งโลกต้องปรับวิธีคิดใกล้ชิดธรรมชาติ เว้นระยะห่างทางสังคม ออกแบบเล่นเรียนรู้ที่บ้านและโรงเรียน โรงเรียนในพื้นที่เมืองมีความพร้อมที่จะเรียนทางออนไลน์แบบ Realtime มากกว่า ระบบอินเทอร์เน็ตค่อนข้างเสถียร


เสวนา 3 โครงการกิจกรรมส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายกลุ่มวัยเด็กในสถานศึกษา หัวข้อพื้นที่การเรียนรู้และพื้นที่เล่น การปรับตัวของครอบครัวและโภชนาการเด็กไทย ชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย  New Normal For Thai Children รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตย กรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการแผนคณะที่ 5 สสส. พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน และเสวนาออนไลน์ อรัญญา วิสุทธากุล ผู้อำนวยการ รร.แพรกษาวิเทศศึกษา (รร.ต้นแบบของ สสส.) และธงชัย โคระทัต ผู้อำนวยการ รร.รัตนโกสินทร์สมโภช (ราชทัณฑ์อุปถัมภ์) ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะห้อง 201 สสส. วันที่ 16 มิ.ย. เวลาบ่ายสามโมง


รับชมการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook สสส. Active Play Active School กลุ่มวัยเด็กในสถานศึกษา การออกแบบกิจกรรมทางกายให้เด็ก "เล่นเรียนรู้" ในช่วงปิดเทอมเด็กอยู่บ้าน เจาะลึกเมื่อเด็กกลับไปโรงเรียน การรองรับวิถีชีวิตใหม่ของเด็กๆ พื้นที่เรียน พื้นที่เล่นของเด็กไทย การปรับตัวกับวิถีชีวิตแบบใหม่ในสถานการณ์โควิด-19 อยากให้สุขภาพดีขึ้นด้วยโภชนาการจะช่วยได้อย่างไร?


รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โควิด-19 คือวิกฤติใหญ่ที่สุดของคนที่มีอายุ 90 ปีลงมา นับตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องปรับวิธีคิดของคนทั้งโลก กลับไปใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ล็อกดาวน์อยู่บ้าน เมื่อโรงเรียน สถานที่ทำงาน ร้านค้าเปิด ต้องไม่ใช้วิถีชีวิตแบบเดิมอีกต่อไป เป็นการใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น การจัดโต๊ะที่นั่งแบบ New Normal มีระยะห่าง ลดความแออัด มีร่มเงา มีความปลอดภัย หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวภายในบ้านอยู่เสมอ เปิดพื้นที่โล่งให้มีอากาศถ่ายเท ร่วมมือในการใช้พื้นที่ส่วนรวม  มิฉะนั้นจะมีปัญหาการติดเชื้อจากภายนอกเข้ามาติดคนในบ้าน


โควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลง ปรับวิธีคิดในการทำงาน แต่เดิมการทำงานภายนอกมีปัญหาฝนตกแดดออก สภาพอากาศค่อนข้างย่ำแย่ เมื่อมีโควิดก็ต้องลดการพบปะคนอื่น อยู่ในพื้นที่ปิดจนเกินไปก็มีปัญหา การแพร่ระบาดของเชื้อโรคเกิดในพื้นที่ปิดที่มีคนจำนวนมาก ระบบกายภาพเปลี่ยนแปลงจากข้างในสู่ระบบข้างนอก หมายความว่าอยู่ในพื้นที่ข้างในก็ยังมีโอกาสเสี่ยงโรค


กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบก็คือ กลุ่มเปราะบาง คนด้อยโอกาส มีการสำรวจว่ากลุ่มคนที่เสียชีวิตจาก โควิด 70% เป็นชนกลุ่มน้อย กลุ่มเปราะบางที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนแออัด สุขภาวะ สาธารณูปโภคไม่พร้อมที่จะเข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์ การวางแผนพัฒนาเมือง เรามองด้วยว่าการที่เมืองหนาแน่นจะต้องลดการใช้พื้นที่ให้มีระยะห่างมากขึ้น การพัฒนาเมืองก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยมีความหนาแน่นสูง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิดจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดใหม่


การจัดการพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตใหม่ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ในการวางแผนเมือง คนไทยใช้คำว่าแออัดและความหนาแน่นสูงกลายเป็นคำคำเดียวกัน ความแออัด ชุมชนแออัด บ้านชั้นเดียว ไฟฟ้า ประปา การจัดการของเสียไม่ดีพอ ในขณะที่คอนโดมิเนียมหนาแน่น การออกแบบเมืองที่ดีมีโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้อยู่ในความหนาแน่นสูง มีความเหมาะสมกับการอยู่อาศัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี การแพร่ระบาดเกิดจากแอร์บอร์น เกิดจากสุขอนามัย การจัดการของเสียยังไม่ดีพอ


ดังนั้นจะต้องมีการจัดระบบความสะอาดที่ดีให้เพียงพอ แม้พื้นที่จะมีความหนาแน่นสูง แต่ก็ควรได้รับการบริการสาธารณะที่ดี มีผู้ใช้บริการเยอะ ทำให้ต้นทุน : หน่วยถูกลง การจัดการเรียนการสอน บ้าน โรงเรียนในเมือง ในชนบทย่อมมีความคิดที่แตกต่างกัน โรงเรียนในพื้นที่เมืองมีโอกาสความพร้อมที่จะเรียนทางออนไลน์มากกว่า เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างเสถียร เมื่อเปิดอินเทอร์เน็ตแล้วสามารถเชื่อมครูที่โรงเรียนกับที่บ้านได้ใน Realtime ยังช่วยลดความแออัดจากห้องเรียนในเมืองที่ไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากัน วิชาเรียนที่ไม่ใช่รายการปฏิบัติกลับไปเรียนต่อที่บ้านได้  เป็นการลดความแออัดในห้องเรียน ใช้พื้นที่ภายใน รร.ทางด้านสังคม ดังนั้นจึงต้องใช้ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมเพื่อนำมาออกแบบห้องเรียนเพื่อแก้ไขปัญหา


ปัญหาหลักเป็นการทำก่อนหรือหลังเข้าเรียน การจัดการให้เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ประถมปีที่ 6 มีการเว้นระยะห่าง อย่าเล่นกอดปล้ำกันมาก ปัญหาการจัดการทำได้ต้องจัดให้มีการเข้าเรียนเป็นเวลา อย่าให้มีการส่งนักเรียนก่อนเวลาเรียนเพียงครึ่งชั่วโมง ไม่ใช่มาส่งลูกให้อยู่ รร.ก่อนเวลาเรียนเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง และพ่อแม่ก็ควรมารับลูกหลังเลิกเรียนแล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กอยู่ที่ รร.หลังเลิกเรียนเป็นเวลา 2 ชั่วโมงไปแล้ว สิ่งเหล่านี้พ่อแม่ ผู้ปกครองควรให้ความร่วมมือด้วย


ด้วยระบบจัดการภายในโรงเรียน กินข้าวพร้อมกันได้ แต่ขณะเดียวกันควรจัดสลับเหลื่อมเวลา ห้องเรียนใช้พื้นที่ภายนอกและบางส่วนก็ใช้พื้นที่ภายในโรงเรียนเพื่อลดความแออัดภายในโรงเรียนด้วยโครงสร้างพื้นฐานระบบออนไลน์ เรามีโทรทัศน์ โรงเรียนในพื้นที่ชนบท เมื่อมาถึงโรงเรียนสอนโดยทีวี สร้างมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งประเทศ ครูเปลี่ยนบทบาทจากเดิมที่ต้องคอยตอบคำถาม ตรวจการบ้าน ให้ครูว่างมากขึ้น แบ่งชั้นเรียนเป็น 2 ครั้ง ไม่ต้องมีภาระในการสอน


เมื่อเด็กเลิกจากโรงเรียนแล้วสามารถไปเรียนต่อที่บ้านได้ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงปัญหาทางจิตใจ สภาพร่างกาย อยู่บ้านนั่งเฉยๆ ก็ต้องมีการออกแบบพื้นที่เล่นอย่างเหมาะสมภายในบ้านด้วย ไม่ใช่นั่งเรียนอยู่บนเตียงนอน มีคุณยายคอยนั่งบังคับให้เรียนทางออนไลน์ ต้องพิจารณาด้วยว่าแสงในห้องเพียงพอหรือไม่ต่อการใช้สายตาเรียนหนังสือ เรื่องของจิตใจเด็กในการเรียน ต้องเข้าใจด้วยว่าการอยู่ร่วมกับคนอื่นนั้นไม่ได้อยู่ในคุก จำเป็นต้องมีการเรียนรู้ มีการสนทนาสังสรรค์กันด้วย จะเรียนที่บ้านทุกอย่างย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องจัดการให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วย


โรงเรียนต้องมีความพร้อมทางด้านกายภาพ การออกแบบ วิธีการลดระบบสัมผัส เด็กนักเรียนจะต้องมีการเตรียมช้อนส้อมมาเองด้วยทุกครั้ง มีพื้นที่ล้างมือหลายจุด จัดโต๊ะเรียน โต๊ะอาหารให้มีระยะห่าง มีแผงกั้น ลดการเข้าแถวบริเวณหน้าเสาธง ลดการยืนใกล้กัน เปิดพื้นที่กว้างให้อากาศถ่ายเทมากยิ่งขึ้น แม่บ้านต้องทำความสะอาดห้องน้ำ ตลอดจนพื้นห้องบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะทุกครั้งที่มีการพักระหว่างการเรียนเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนรอบใหม่


การจัดการเวลา ความถี่ ความแออัด เป็นประเด็นสำคัญเพื่อจัดการให้ได้ทันรอบรับรอบใหม่ด้วย เป็นที่คาดหมายว่า New Normal ภัยพิบัติ เทคโนโลยีใหม่ แต่ก่อนยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือ มีภัยพิบัติจากโรคซาร์สที่ฮ่องกง มีการเปลี่ยนระบบห้องน้ำสาธารณะใหม่ทั้งหมด ด้วย New Normal เซ็นเซอร์ให้มีระบบสัมผัสลดลง ในเมืองไทยก็ใช้เทคโนโลยีลดการสัมผัสในพื้นที่ของ รร.และพื้นที่สาธารณะด้วย


ขณะนี้หลายออฟฟิศเปลี่ยนแปลงโต๊ะทำงาน ไม่มีโต๊ะประจำ เพราะรูปแบบเดิมๆ ที่มีโต๊ะประจำของแต่ละคนโอกาสที่จะ Big Cleaning เป็นเรื่องยาก ดังนั้นจัดทำโต๊ะที่ทุกคนนั่งทำงานได้ เมื่อถึงเวลาพักเที่ยง แม่บ้านสามารถทำความสะอาดแบบ Big Cleaning ได้ทันทีเมื่อทุกคนออกไปข้างนอก เพราะพื้นผิวจะมีเชื้อโรค การใช้ลิฟต์ ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย ลดการสัมผัสในการแพร่เชื้อโรคด้วย ผลของโควิด-19 ทำให้เด็กวัย 14-15 ปี เปลี่ยนแปลงวิธีคิดใหม่ หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ สุขอนามัยต้องดี เป็นต้นทุนของเมืองที่จะต้องมีกระบวนการคิดที่ดีด้วย


สำนักงานหลายแห่งจัดแบ่งพนักงานเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน กลุ่มหนึ่งให้ทำงานที่บ้าน กลุ่มที่สองเข้ามาทำงานเป็นครั้งคราวตามที่กำหนด บางอย่างก็นำกลับไปทำงานที่บ้าน กลุ่มที่สามกลุ่มนี้ต้องมาทำงานทุกวัน เพื่อลดการใช้พื้นที่ในที่ทำงาน งานบางอย่างสามารถทำงานที่บ้านเป็น full time หรือระบบการเรียนการสอนบางประเภทก็เรียนที่บ้านได้ 100% บางวิชาต้องมีการ Lecture บางที่นำแปลงเพาะปลูกจัดการดีๆ จำเป็นเพื่อลดความแออัด การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว


ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการแผนคณะที่ 5 สสส. กล่าวว่า โควิด-19 ในวิกฤติก็ย่อมมีโอกาสในมุมมองของโภชนาการเป็นเรื่องของการสร้างกระแส การที่ทุกคนต้องล็อกดาวน์อยู่กับบ้าน ปัญหาการขาดแคลนสารอาหาร เป็นที่รับรู้กันว่าพืชผักสมุนไพรช่วยเสริมให้ร่างกายแข็งแรง โฆษกศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ระบุว่า คนไข้ที่ป่วยโควิดมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตส่วนใหญ่จะป่วยอยู่แล้วด้วยโรค NCDs โรคเบาหวาน ปัญหาที่เกี่ยวกับโภชนาการตั้งแต่วัยเด็ก ปฐมศึกษา คนที่เสี่ยงต่อการขาดอาหารมากที่สุดคือครัวเรือนที่มีรายได้น้อย หญิงตั้งครรภ์ เด็กที่กำลังเติบโตถ้าขาดสารอาหารย่อมเกิดความสูญเสียต่อเนื่องจนถึงเวลาเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ด้วยสถานการณ์ โควิดยังเกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับเด็กและหญิงตั้งครรภ์เป็นอันดับแรก


เรื่องการดูแลสุขภาพในช่วงโควิด-19 นี้เลือกโภชนาการที่ดีเพื่อสุขภาพ จากการสำรวจในกลุ่มประเทศยุโรป 18 ประเทศ เมื่อต้องล็อกดาวน์อยู่บ้านก็ต้องมีสติและมีความห่วงใยกัน กินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น พฤติกรรมปรับเปลี่ยน ลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพิ่มผัก ผลไม้ เพิ่มโปรตีน ไข่ จากการสำรวจพบว่า คนไทยมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจะไม่กลับมาดีดังเดิมอีกแล้ว จึงระมัดระวังในการซื้ออาหาร ค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้คนหันมาปลูกผักเพื่อบริโภคกันที่บ้าน เป็นการลดรายจ่าย ทำอาหารกินเองที่บ้านเพื่อเป็นการเพิ่มภูมิต้านทาน


ในบ้านเรามีการรณรงค์ให้กินผัก ผลไม้ ทั้งๆ ที่เมืองไทยเป็นเมืองที่มีผัก ผลไม้ทุกฤดูกาล แต่ผลสำรวจสุขภาพคนไทยทุกๆ 5 ปี ผู้ใหญ่และเด็กกินผัก ผลไม้น้อยกว่าจำนวนแคลอรีที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ต้องเพิ่มการบริโภคให้สูงยิ่งขึ้น ใน 1 จานมีผัก 2 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน ข้าว 1 ส่วน ดังนั้นแม่ที่ดูแลอาหารการกินของทุกคนในครอบครัวจะต้องฝึกฝนให้ลูกกินผักตั้งแต่ยังเด็ก ลูกจะได้ชอบกินผัก ส่งเสริมให้เด็กช่วยกันปลูกผักในสวนหย่อม เป็นการส่งเสริมให้เด็กได้มีส่วนร่วมกับผลผลิตที่เขาได้ลงมือปลูกด้วย


ถ้าแม่จัดการภายในบ้าน ฝึกฝนให้ลูกกินผักที่ปลูกเองในบ้าน ลูกก็จะชอบกินผัก ยิ่งลูกมีส่วนร่วมกับการปลูกผัก และยิ่งได้เห็นผลผลิตที่เขาลงมือปลูกด้วยแล้วเป็นสิ่งที่ดี รวมถึงเด็กปลูกผักในโรงเรียนนำมาทำเป็นเมนูอาหาร โรงเรียนพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน นำกิจกรรมการมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ด้วย เด็กได้รับการพัฒนาครบทุกส่วน บางครอบครัวในช่วงโควิด พ่อแม่ปรุงอาหารเองมากขึ้น ฝึกฝนให้ลูกๆ ช่วยทำกับข้าว เมื่อเด็กลงมือทำกับข้าวเองก็อยากรับประทานฝีมือตัวเอง


ขณะเดียวกันจะต้องมีระบบการจัดการโรคอ้วน เพราะโรคอ้วนคือบันไดขั้นแรกของการเป็นโรค NCDs ขณะนี้คนไทยที่เป็นผู้ใหญ่ 1 ใน 3 เป็นโรคอ้วน เป็นหญิงมากกว่าชาย ขณะเดียวกันเด็ก 14% ที่อยู่ในวัยเรียนก็เป็นโรคอ้วน เด็กอ้วนเป็นปัญหาสำคัญที่จะทำให้เกิดโรค NCDs ในเวลาต่อมาด้วย ดังนั้นภาคี และ สสส.เข้ามาตรวจสุขภาพเด็กอ้วน พบว่าเด็กอ้วน 60% มีไขมันในเลือดในเด็ก 10% มีปัญหาน้ำตาลในเลือดสูงจนเกือบจะเป็นโรคเบาหวาน ทั้งๆ ที่ทางด้านพันธุกรรมแล้วไม่มีใครเป็นโรคเบาหวาน รร.จะต้องมีกิจกรรมควบคุมการบริโภคอาหาร เมนูอาหารต้องสะอาด เด็กทุกคนจะต้องล้างมือก่อนที่จะเข้าโรงอาหาร แม่ครัวที่ปรุงอาหารจะต้องใส่หมวก มีผ้ากันเปื้อน ใส่ถุงมือ หน้ากากผ้า รร.จัดที่ล้างมือให้เด็ก โรงเรียนในรูปแบบเดิมนั้น อ่างล้างมือจะอยู่คู่กับห้องน้ำ แต่ New Normal จัดจุดล้างมือหลายแห่งเพื่อเด็กจะได้ล้างมือบ่อยครั้ง ก่อนที่จะลงมือรับประทานอาหารและทำกิจกรรมอย่างอื่น


โภชนาการทุกช่วงวัยในบ้านเป็นเรื่องสำคัญ นักโภชนาการพูดว่ากินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ฟังแล้วดูจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ถ้าหันมาดูตัวเลขคนไทยทุกช่วงวัยกินอาหารบางอย่างมากเกินไป บางอย่างยังขาดอยู่ ผลสำรวจคนไทยกินผักและผลไม้น้อยเกินไป ทำให้เราต้องเผชิญกับโรค NCDs นิสัยการกินของเด็กขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่บริหารจัดการ การจัดการสภาพแวดล้อมภายในบ้าน เริ่มต้นตั้งแต่การสำรวจภายในตู้เย็นว่ามีอะไรบ้าง เมื่อเด็กอยู่บ้านกินอาหารที่มีพลังงานสูง มี Junk food น้ำอัดลมมีน้ำตาล ทำให้เด็กกินน้ำอัดลมมากยิ่งขึ้นเป็น 4-5 เท่า จึงเป็นคำตอบที่จะต้องปรับพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก ในโรงเรียนมีตู้เย็นในห้องพักครู ก็ต้องมีการสำรวจเหมือนกันว่ามีอะไรอยู่ในตู้เย็น


พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือหมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน กล่าวว่า โควิดระบาดตอบโจทย์ความสัมพันธ์กับชีวิตเรา ความปลอดภัย ชีวิตผู้คนที่รักปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ เรากลับมาอยู่กับความเปลี่ยนแปลงมีความหมายสำคัญกับชีวิต ในช่วงที่พ่อแม่อยู่กับลูก เด็กถูกจำกัดพื้นที่ พ่อแม่อยู่บ้านหลายครั้งมีทั้งวิกฤติและโอกาส วิกฤติอยู่ตลอดเวลาเด็กไม่สนุก เพราะถูกจำกัดพื้นที่อยู่แต่ในกรอบสี่เหลี่ยม เด็กอยู่ด้วยความเครียด พ่อแม่ดูเหมือนจะดีที่ได้อยู่กับลูกตลอดเวลา แต่พ่อแม่ก็มีภาระในการทำงาน เมื่ออยู่กับลูกก็มีความเครียดมากขึ้น เริ่มเห็นปัญหาว่าลูกมีอารมณ์รุนแรงมากขึ้น ไม่มีสมาธิ ส่วนหนึ่งก็เป็นโอกาสที่เราเห็นปัญหาของลูก บางครั้งกว่าพ่อแม่จะกลับถึงบ้าน ลูกก็นอนหลับแล้ว ปัญหาการปรับตัวอยู่รวมกันกับลูก ในมุมหนึ่งก็มีข้อดี พ่อแม่ตั้งคำถามการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น โรงเรียนประสิทธิ์ประสาทการเรียนรู้ของเด็ก ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา ปลดล็อกได้ ลูกเรียนได้ผ่านประสบการณ์ทุกรูปแบบ เด็กช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ตากเสื้อผ้า เป็นความอดทน การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สามารถทำได้ตลอดชีวิต


พ่อแม่มีความเครียดมากทั้งเรื่องการหาเงิน ส่งผลต่อวิถีชีวิตภายในบ้าน การที่เด็กอยู่บ้านก็เป็นความเครียดของพ่อแม่ด้วย จะต้องหาวิธีในการสร้างวิธีเรียนรู้กับลูกอย่างไร แนะนำให้เด็กมองเห็นความรู้สึก ความต้องการลึกๆ ของคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ แนะนำการสื่อสารที่จะลดความต้องการลง ให้รับรู้ความรู้สึก การที่พ่อแม่อยู่กับลูกในบ้านมีความสุขมากขึ้น พ่อแม่ก็ต้องจัดการงานของตัวเอง แต่บางครั้งพ่อแม่ก็ใช้ปากบ่นว่าลูกบ่อยมากขึ้น ทุกบ้านต้องช่วยกันทำตารางเวลาจัดทำกิจกรรมสร้างความรับผิดชอบ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาบ่นให้น้อยลง


ทุกกิจกรรมที่ลูกทำคือการเรียนรู้ เด็กเล่นก็คือการเรียนรู้ ดีที่สุดของเด็กเล็ก ฝึก EF การทำงานบ้าน กำหนดเวลาที่จะอยู่หน้าจอด้วย เพราะทุกวันนี้เด็กติดหน้าจอสมาร์ทโฟนมากเกินความจำเป็น การที่พ่อแม่ซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูกจะได้เป็นที่พึ่ง แต่ปรากฏว่าเด็กอยู่หน้าจอเกินความจำเป็น ดังนั้นจะต้องมีการกำหนดเวลาอยู่หน้าจอและเฟ้นหากิจกรรมอื่นๆ มาทดแทน


การปรับเปลี่ยนชีวิตในช่วงโควิดเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องปรับตัว มีอุปสรรคท้าทายความเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาศักยภาพ ยอมรับและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลก เข้าใจความทุกข์ที่บังเกิดขึ้น อย่าปฏิเสธไม่ยอมรับความอ่อนแอ เครียดก็ให้ระบายออกมา ความเป็นพ่อเป็นแม่อยู่กับความเครียด ในทางวิชาการต้องมีการจัดการกับความเครียดด้วยการใช้ประสบการณ์พ่อแม่เป็น ต้นทุน ในขณะที่เด็กจะต้องเติบโตและมีทักษะในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น


การใช้เวลาสื่อ Social Media facebook Instagram ผลจากงานวิจัยสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า เด็กกลุ่มหนึ่งมีพื้นที่อวดตัวเอง  เป็นความสุขดีๆ ชีวิตที่ดีกว่าคนอื่น ในขณะที่มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ strong พอ คิดว่าเราสวยไม่พอ หุ่นไม่ดี เมื่อเห็นความสุขของคนอื่นกลับหันมามองความทุกข์ของตัวเองมีผลต่อการพัฒนาตัวเอง ไม่มีใครกด like ไม่ได้รับการยอมรับความมีตัวตน นำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า วัยรุ่นที่มีความเปราะบาง กลุ่มเพศหลากหลายล้วนต้องการมีพื้นที่ในสังคมพูดคุยกันผ่าน platform ได้รับความไว้วางใจ ให้คำปรึกษาได้ เด็กทุกคนต้องการมีพื้นที่ส่วนตัว ในขณะเดียวกับพ่อแม่ก็มีพื้นที่ของตัวเองที่จะ share ร่วมกัน บางครั้งเด็กแยกตัวเองอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวจนขาดพื้นที่ส่วนรวม ดังนั้นแต่ละครอบครัวควรกำหนดพื้นที่ของครอบครัว รับประทานอาหารเย็นพร้อมกัน ทุกคนต้องพร้อมใจกันวางโทรศัพท์มือถือ เป็นช่วงเวลาของ family time


"การมีเวลาคุณภาพพร้อมกันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะส่วนใหญ่แต่ละคนก็ต่างอยู่หน้าจอของตัวเอง เวลาคุณภาพที่จะพูดคุยหายไป เมื่อมีการจำกัดการออกไปนอกพื้นที่ก็ต้องจัดเวลาที่จะคุยกัน จัดเวลาทำกิจกรรมบอร์ดเกมด้วยกัน พ่อแม่มีหน้าที่อบรมสั่งสอนลูก ขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมที่จะรับฟังเหตุผลของลูกด้วย ถ้าพ่อแม่สั่งสอนตลอดทำให้เด็กเบื่อพ่อแม่ เด็กวิ่งไปหาเพื่อนใน Social media เพราะเขาอยากได้คนรับฟัง มิฉะนั้นมนุษยสัมพันธ์ก็จะหายไป


พ่อแม่ที่ทำงาน fulltime แตกต่างจากพ่อแม่ที่ work from home เป็นโจทย์ที่ยากขึ้นเมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ "พ่อแม่เป็นหมอทั้งคู่ ปู่ย่าตายายไม่ได้เชี่ยวชาญหรือชำนาญเรื่องการใช้เทคโนโลยี เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ก็ต้องฝึกฝนให้เขาเข้มแข็ง เด็กทำได้ดีมากกว่าที่เราคิด สิ่งเหล่านี้เราต้องเตรียมตัวลูก หาความช่วยเหลือในรูปแบบไหนได้บ้าง".


อรัญญา พิสุทธากุล ผอ.โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา (โรงเรียนต้นแบบของ สสส.) กล่าวว่า โภชนาการของโรงเรียน ห้องเรียนคุณภาพ จัดให้มีนักเรียนอยู่ในห้องเรียน 25 คน มีความพร้อมในพื้นที่ อาคารเรียนภายในห้องเรียนแต่ละห้องใช้พื้นที่ 6 คูณ 8 เมตร จัดได้ครบทุกห้องเรียน จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ได้ 100% ระดับอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 จัดอาหารกลางวัน แม่ข่ายเด็กไทยแก้มใสมีครัวกลางจัดพื้นที่สำหรับปรุงอาหารอย่างสุขอนามัย ตามมาตรฐานศูนย์อำนวยการโควิดแห่งชาติ ในเรื่องการจัดการอาหาร มีการตรวจสุขภาพแม่ครัว เป็นการบริหารในห้องเรียน ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.ด้วยการเว้นระยะห่างด้วย


เด็กนักเรียนจำนวน 1,100 คน จัดระบบการเรียนที่เหลื่อมวันและเวลากัน เด็กมีฉากกั้นในห้องเรียน หลีกเลี่ยงการพบปะเวลากลางวัน ถ้าปล่อยให้เด็กจำนวนมากเรียนรวมกันทั้งหมดย่อมมีโอกาสให้เกิดปัญหาได้ ขณะเดียวกันต้องมีแม่บ้านให้บริการในพื้นที่ กิจกรรมกลางแจ้งก็ต้องมีการเรียนก่อนที่จะทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมประสบการณ์ภาพ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).


อ.ธงชัย โคระทัต ผอ.โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภช (ราชทัณฑ์อุปถัมภ์) กล่าวว่า การจัดห้องเรียนด้วยการเว้นระยะห่างให้ห้องหนึ่งเรียนได้ 20 คน ในโรงอาหารกั้นฉากทุกโต๊ะและเว้นระยะห่าง ทุกโรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้ ก่อนที่เด็กจะเข้าโรงอาหาร ทุกคนต้องล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัยครูจัดเวรประจำคอยดูแลและให้คำแนะนำ ส่วนแม่ครัวจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพก่อน แต่งกายด้วยชุดประกอบอาหาร มีหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ ผ่านการปฐมนิเทศฝึกอบรมเรื่องความสะอาดมาแล้วเป็นอย่างดี มีการเว้นระยะห่าง ลดการใช้แอร์ ถ้าเป็นไปได้ให้เปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ เนื่องจากโรงเรียนมีพื้นที่ 13 ไร่ อาคารไม่แออัด หากจะมีการใช้ห้องแอร์ในการจัดประชุมกับครูเมื่อมีความจำเป็นโดยไม่ใช้เวลานานจนเกินควร เด็กที่อยู่ในห้องเรียนมีการปรับพื้นที่ในห้องเรียน มีเจลแอลกอฮอล์เพื่อให้เด็กหมั่นทำความสะอาดเป็นการฆ่าเชื้อโรค

Shares:
QR Code :
QR Code