การทำงานเลิกบุหรี่โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
ที่มา : แฟนเพจ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม
ภาพประกอบจากแฟนเพจ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม
บทเรียนการทำงานเลิกบุหรี่โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ของ สุรางค์ กาววรรณ นักวิชาการสาธารณสุข รพ.สต.แม่ปาง ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน
มีจุดเริ่มต้นจากการประมวลฐานความรู้ที่สามารถยุติการสูบบุหรี่ได้ก่อน ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้เรื่องโรคอันเกิดจากบุหรี่ การใช้สมุนไพรระงับความต้องการสูบ การใช้ศาสตร์แพทย์แผนไทย การนวดกดจุดที่มีผลต่อการสื่อประสาท และการกำหนดสถานที่สาธารณะเป็นเขตห้ามสูบบุหรี่
จากนั้นก็นำเสนอกติกาเช่นนี้เข้าไปในชุมชน พร้อมผสมผสานรวมกับงานส่งเสริมสุขภาพกับโรคอื่นๆ เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดัน เพื่อเชื่อมโยงพฤติกรรมซึ่งเป็นความเสี่ยงของโรคเหล่านี้ โดยมีการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุอยู่ด้วย พร้อมกันนี้ยังไม่ลืมที่จะหาคนต้นแบบซึ่งคนในชุมชนยกย่องว่าสามารถเลิกบุหรี่ได้จริง มีสุขภาพดีเป็นตัวอย่างเพื่อให้ใครๆ ก็เห็นว่า พฤติกรรมที่ทำกันมาเนิ่นนานยุติได้จริงๆ
“สถานที่สาธารณะอย่างโบสถ์ วัด เราจะคุยกับผู้นำชุมชนเลยว่า ห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด คือจะสูบก็ได้แต่ต้องไปข้างนอก เมื่อคนในชุมชนเอาด้วยก็เหมือนกับการจำกัดพื้นที่ สร้างกติกาใหม่ ส่วนผู้ที่สมัครใจเลิกและสามารถทำได้ เราก็จะมีการติดตามผลว่าสามารถเลิกได้นานขนาดไหน หนึ่งเดือน สามเดือน หรือมากกว่า หกเดือน ใครทำได้ก็จะได้รับรางวัลและเป็นต้นแบบที่คนในชุมชนยอมรับ ใช้คนเหล่านี้ช่วยสื่อสารเพื่อบอกว่า นี่ไงที่ว่าติดแล้วเลิกไม่ได้ ฉันเลิกให้ดูแล้ว”
ส่วนผลจากการใช้ชุมชนเป็นฐานในการเลิกบุหรี่ ที่ ต.สันติคีรี ตลอดปีที่ผ่านมา สถิติที่เก็บข้อมูลชี้ว่า สามารถช่วยให้ผู้ต้องการเลิกบุหรี่เปลี่ยนพฤติกรรมได้มากถึงร้อยละ 60 ขณะที่อีกด้านสำหรับผู้ที่ยังไม่มีแรงจูงใจเปลี่ยนพฤติกรรม ทีมงานก็จะชักชวนไปเรื่อยๆ และสร้างแรงจูงใจให้พฤติกรรมการสูบลดน้อยลงอย่างเป็นขั้นตอน จากวันละครึ่งซอง ลดเหลือให้น้อยกว่าจนตัวเลขเป็นศูนย์