การดูแลสุขภาพหน้าหนาว

ที่มา : มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)


การดูแลสุขภาพหน้าหนาว thaihealth


แฟ้มภาพ


                ทุกครั้งที่อากาศหนาวเย็นมาเยือน มักพบผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่บนภูเขาสูง จะทำให้เกิดอาการป่วยไข้ได้ง่าย โรคที่ต้องระวังในช่วงที่อากาศหนาวเย็น มักเกิดจากการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ ที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานในช่วงที่อุณหภูมิลดลงอย่างไข้หวัด ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง


                สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดแต่ละครั้ง มักเกิดจากเชื้อไวรัสเพียงชนิดเดียว และเมื่อหายแล้ว ร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้น และเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดครั้งใหม่ ก็มักจะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ


                ไข้หวัดติดต่อกันได้ง่าย ด้วยการไอ จาม หรือสัมผัสน้ำมูก จะมีอาการหลังรับเชื้อไปแล้วประมาณ 1 – 3 วัน โดยเริ่มมีไข้เป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คัดจมูก มีน้ำมูกไหลใสๆ ไอแห้งๆ หรือมีเสมหะสีขาวเล็กน้อย จาม เจ็บคอเล็กน้อย ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีแบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจร่วมกับเชื้อไวรัสหวัด ทำให้เกิดต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ บางรายเสียงแหบเนื่องจากกล่องเสียงอักเสบ หรือวิงเวียนศีรษะ เนื่องจากอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่อยู่ภายในหูเกิดการอักเสบ หรือที่เรียกว่า “หวัดลงหู” ในเด็กเล็กจะมีอาการมากกว่าผู้ใหญ่ อาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้ได้


                และที่ต้องระวังในช่วงฤดูหนาว คือ โรคไข้หวัดใหญ่ “อินฟลูเอ็นซาไวรัส” (Influenza Virus) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน มักแพร่ระบาดในช่วงนี้ หากเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น จะมีอาการรุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัดทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ก็ควรพาไปพบแพทย์


                ทั้งนี้ หากแพทย์วินิจฉัยแยกอาการไข้หวัดใหญ่ออกจากไข้หวัดธรรมดาได้ ก็จะช่วยให้ดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้ดีขึ้น


                วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะเด็กเล็กและคนชรา สำหรับแพทย์และพยาบาลควรฉีดวัคซีนป้องกันทุกปีเช่นกัน เนื่องจากมีโอกาสสัมผัสเชื้อสูง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการรับเชื้อมาและแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้ป่วย ที่ดูแลอยู่


                โดยสรุป ไข้หวัดทั่วไปจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่ที่มีอาการนานมักเกิดกับผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือทำงานหนัก สำหรับผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม

Shares:
QR Code :
QR Code