กองทุนเงินกู้หลั่งไหลเข้าสู่ท้องถิ่นแต่แรงงานนอกระบบยังเข้าไม่ถึง
จำนวนกว่าครึ่งเป็นภาคการเกษตรถึง 57.3%
60% ของแรงงานทั้งหมด เป็นแรงงานนอกระบบจำนวนกว่าครึ่งอยู่ในภาคการเกษตรถึง 57.3% กระจายอยู่ในชุมนุมต่างๆทั่วประเทศ ผลจากการปรับกลยุทธ์ในการจ้างงาน ทำให้แรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบส่วนใหญ่ขาด “เงินทุน” เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนด้านการผลิต มีความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล เพื่อพัฒนาบุคคลและกลุ่ม
ถึงแม้ว่ารัฐบาลได้กำหนดมาตรการในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนต่างๆเพื่อส่งเสริมอาชีพเป็นจำนวนมาก จัดการกระจายเงินทุนให้ชุมชนสามารถทำการผลิตและพัฒนากลุ่มอาชีพได้ด้วยตนเอง ดูเหมือนว่าแรงงานจะมีทางเลือกมากมาย ขึ้นอยู่กับกลุ่มหรือชุมชนของตนเองจะใช้บริการกับกองทุนของหน่วยงานใด แต่ความเป็นจริงไม่เป็นอย่างภาพที่เห็น ถึงแม้กองทุนจะมีงบประมาณอยู่ล้นเหลือ แต่มีกลุ่มแรงงานเข้าถึงแหล่งทุนได้น้อยมาก เพราะกองทุนมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่จำกัดเคร่งครัด จะต้องมีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันแรงงานหรือประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร บางกองทุนก็มีลักษณะเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เช่นกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งแรงงานกลุ่มอื่นไม่อาจขอกู้ยืมได้ ฯลฯ
กองทุนต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงเน้นเรื่องการให้กู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพเป็นสำคัญ มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาในการเงินให้กับชุมชนตามวัตถุประสงค์ การอนุมัติเงินสินเชื่อจะให้กับกลุ่มแรงงานที่มีศักยภาพและความพร้อม มีการบริหารจัดการเข้มแข็งแต่ขาดปัจจัยเงินทุน ซึ่งเป็นสายป่านหลักในการตั้งต้นซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์ ค่าจ้างแรงงาน ฯลฯ
จากสถานการณ์ดังกล่าว โครงการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสร้างหลักประกันสังคมแรงงานนอกระบบ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดประชุมสัมมนาระหว่าง ตัวแทนแรงงานนอกระบบ ทั้งภาคการผลิต การเกษตร และภาคบริการ นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่บูรณาการ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมการจัดหางาน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นถึงสถานการณ์ในภาพรวมด้านกองทุน ความต้องกาของแรงงานนอกระบบด้านเงินทุน โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา
ลักษณะที่ร่วมกันของทุกกองทุน ก็คือการให้กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพหรือทำการผลิต จะมีบางกองทุนที่ส่งเสริมเรื่องการออมด้วย ส่วนใหญ่เน้นการร่วมกลุ่มอาชีพที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ มีระบบการจัดทำบัญชีและการบริหารจัดการ ซึ่งบางกองทุนก็จะส่งเสริมให้เกิดคณะกรรมการชุมชนเพื่อร่วมกันบริหารจัดการกองทุน สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงก็คือ กองทุนต่างๆไม่ให้ความสำคัญมากนักกับเรื่องการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มตลอดจนยังมิได้ให้ความสำคัญกับเรื่องโอกาสและความสามารถของประชาชนในการชำระหนี้คืน หรือการตรวจสอบการใช้เงินของประชาชนว่าเกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่ ซึ่ง สิน สื่อสงวน รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ให้แง่คิดว่ากองทุนของหน่วยงานจะสนับสนุนเงินทุนหรือสินเชื่อให้กับชุมชน เน้นเรื่องการพิจารณาข้อมุลเชิงลึกและความต้องการของชุมชนเน้นการจัดทำแผนชุมชนโดยชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดทักษะในการบริหารจัดการ และมีมิติการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มและชุมชน กองทุนที่มีอยู่หลากหลาย อาจมีลักษณะที่ซ้ำซ้อนขาดมิติในภาพรวม และขาดการบูรณาการเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งโครงการพัฒนานโยบายสาธารณะฯ จะได้วางแผนและดำเนินงานเพื่อหาแนวทางลดช่องว่างของอุปสรรคการเข้าถึงแหล่งทุนต่อไป
ข้อสังเกตเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนของแรงงานมีค่อนข้างจำกัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระดับความเข้มแข็งของกลุ่มอาชีพแตกต่างกัน อาจต้องมีการปรับปรุงและทำความเข้าใจขีดความสามารถของกลุ่มแรงงานและชุมชนถึงศักยภาพที่แตกต่างกัน กลุ่มแรงงานต้องมองหาทุนทางสังคมที่มีอยู่ ทั้งในเรื่องทรัพยากรบุคคล เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดนอกเหนือจากทุนที่เป็นตัวเงิน การแก้ไขปัญหาการขาดปัจจัยเงินทุนต้องใช้หลักคิดและความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป็นตัวตั้ง และการมีส่วนร่วมของกลุ่มที่จะเข้ามามีบทบาทในการจัดการกองทุนของตนเอง ภาครัฐจะต้องหาทางส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มทักษะผู้นำชุมชนที่สามารถจุดประกายความคิด สามารถเชื่อมโยงความเข้าใจต่อแนวคิดในเรื่องกองทุนเพื่อการส่งเสริมพัฒนา ที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องความรู้ ข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาคนและกลุ่ม ตลอดจนการสร้างความเข้มเข็งของเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของแรงงานและชุมชน เติมเต็มส่วนที่แรงงานขาดให้สมบูรณ์และพร้อมที่จะพัฒนากลุ่มอาชีพอย่างเป็นระบบ อันจะก่อให้เกิดหลักประกันอันมั่นคงทั้งในด้านอาชีพ ความคิดและสติปัญญา และมีหลักประกันทางสังคม ซึ่งเป็นความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก
เรื่องโดย: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update:30-07-51