กศน.พลิกพฤติกรรมการเรียนรู้ สู่วิถีการอ่านใหม่
จุดชนวนจิตอาสา ชวนเพื่อนอ่านทั่วไทย
สถานการณ์การอ่านของเด็กไทยจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2548 พบอัตราการอ่านหนังสือเด็กไทยโดยเฉลี่ยเพียงปีละ 5 เล่มต่อคน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกา อัตราการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยปีละ 50 เล่มต่อคนอาจเพราะมีสื่อเร้าอื่นๆ ทั้งโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต เกมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
ซึ่งรูปลักษณ์น่าสนใจประกอบกับเป็นสื่อใหม่ทันสมัยเป็นที่นิยมของเด็กมากกว่า อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กไทยจำนวนมากขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา ไม่มีหนังสือดีๆ อ่านต่อมาสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจเรื่องการอ่านของคนไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 พบว่าคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไปอ่านหนังสือ (ที่ไม่ใช่หนังสือเรียนหรือเพื่องาน) 66.3% (เมื่อปี 2546 อ่าน 61.2% ปี 2548 อ่าน 69.1%) ประเภทหนังสือที่อ่านมากที่สุดคือ หนังสือพิมพ์ 71% ตามด้วยนิยาย/การ์ตูน 38.8% และนิตยสาร 35.4% แยกกลุ่มตามวัยพบว่ากลุ่มวัยเด็กอ่าน 81.5% กลุ่มเยาวชนอ่าน 78.6% กลุ่มทำงาน 64.3% และกลุ่มผู้สูงอายุ 39.3% แยกตามเพศพบว่าชายอ่าน 67.5% หญิงอ่าน 65.1% ในกลุ่มเด็กเล็กพบว่า เด็กในเมืองหลวงอ่านมากที่สุด คือ 45.3% และเด็กอีสานอ่านน้อยสุด 31.3%
อภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ กศน.เล่าว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอ่านเป็นการเฉพาะ โดยจัดให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกๆ ภาคส่วนของสังคมจะต้องตระหนักถึงความสำคัญ และเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน เพราะการอ่านเป็นพื้นฐานที่ดีในการแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ต่างๆ สื่อสารผ่านตัวหนังสือการอ่านของคนไทยยังเป็นปัญหา ทั้งการอ่านน้อย และอ่านในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ รวมถึงภาวการณ์ลืมหนังสือของคนไทยที่ยังน่าเป็นห่วงในปัจจุบัน ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องหาวิธีการต่างๆ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้คนไทยสนใจการอ่านมากขึ้น การมีอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งในการกระตุ้นส่งเสริมให้คนทั่วไปที่ใช้เวลากับการอ่านน้อยได้สนใจการอ่านหนังสือมากขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน พัฒนาความรู้ความสามารถ และทักษะการส่งเสริมการอ่านของอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านให้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะนำไปขยายผลในภาพกว้างต่อไป
ทำไมจึงต้องใช้ระบบอาสาสมัคร สำนักงาน กศน.โดยสำนักงานโครงการส่งเสริมการอ่านต้องการมุ่งเน้นให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมของการช่วยเหลือ เสียสละ ทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน กระตุ้นให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการอ่าน ทำให้เกิดความตื่นตัวสนใจกับการอ่านมากขึ้น มีบทบาทที่จะช่วยแนะนำหนังสือที่ดี ชักชวนหรือจูงใจให้คนทั่วไปหันมาสนใจการอ่านตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ที่กำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ในประเด็นการส่งเสริมให้มีภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน สร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการอ่าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ตอบคำถามว่า ทำไมต้องมีอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน โดยทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดทำโครงการอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน หาแกนนำและเครือข่ายอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านในชุมชน ทำหน้าที่สร้างเครือข่ายรักการอ่าน รวมทั้งส่งเสริมให้ครอบครัวและคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตและได้พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านขึ้น เพื่อนำไปใช้ฝึกอบรมให้แก่อาสาสมัครอีกกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ และกิจกรรมดังกล่าวจะต้องกระเพื่อมอย่างมีคุณภาพในทุกจังหวัด
นอกจากนี้ เลขาธิการ กศน.ยังได้เล่าถึงกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยประชาชนในเรื่องของการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้จากการอ่านว่า หนังสือที่ส่งเสริมเริ่มแรกคือ ส่งเสริมให้อ่านหนังสือที่อยากอ่าน ถ้าชอบอ่านนวนิยาย ก็ให้ส่งเสริมไป เพราะนวนิยายอ่านแล้วจะเกิดความรู้สึกอยากติดตาม เมื่ออ่านนวนิยายหมดแล้วก็จะอ่านหนังสืออื่นๆ ตามมา นอกจากนี้ต้องหาตำรากับข้าวไทยสำหรับแม่บ้านได้เรียนรู้ในช่วงที่มีเวลาว่างตอนกลางวัน หนังสือประเภทที่ 3 ที่ควรส่งเสริม คือสารคดีและชีวประวัติของคนที่มีความมานะบากบั่น สร้างฐานะสร้างชีวิตและในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ ซึ่งมันจะทำให้เกิดลัทธิเอาอย่าง ซึ่งเมื่อได้รับฟังพระราชดำรัสของพระองค์ ก็ได้สั่งให้ห้องสมุดประชาชนของ กศน. หาหนังสือเหล่านี้ไว้ให้บริการแก่ประชาชนให้มากขึ้น มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมประทับใจคือเรื่องชีวิตที่เลือกไม่ได้ ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของอาจารย์กรุณา กุศลาศัย ที่เล่าถึงความยากลำบากในชีวิต เรียกได้ว่าติดลบด้วยซ้ำ ถูกจับเป็นเชลยสงคราม เผชิญกับความอดอยากแสนสาหัสจนต้องสึกจากสามเณร เมื่อสงครามสงบได้ตัดสินใจกลับประเทศไทยเพราะคิดถึงบ้านเกิด ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากสาธารณรัฐอินเดีย ทำให้ก่อเกิดทักษะความชำนาญ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภารตวิทยา พื้นฐานสำคัญในการแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมชิ้นเอกของอินเดียหลายเรื่อง ชีวิตที่เลือกไม่ได้ไม่ได้เป็นเพียงบันทึกชีวิตของผู้เขียนเท่านั้น แต่เป็นอนุสรณ์ของการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าอันยังประโยชน์แก่ผู้อ่านทั้งปวง จากการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ท่านจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและการศาสนา ผู้แปลวรรณกรรมชั้นเยี่ยมอินเดีย เมื่อปี2546 ซึ่งหนังสือเหล่านี้เป็นตัวอย่างการใช้ชีวิตที่ดี
ด้าน ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาหลักสูตร และตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการอ่าน สำนักงาน กศน. กล่าวถึง กระบวนการส่งเสริมการอ่านในภาพรวมที่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต พิจารณาก็คือ แม้ว่าบรรยากาศสิ่งแวดล้อมจะเอื้อต่อการอ่านแล้วก็ตาม แต่กลไกที่จะเข้าถึงตัวประชาชนโดยตรงยังไม่มี จึงคิดว่าน่าจะใช้กลไกของอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน โดยเปิดรับคนที่มีจิตอาสาอยากทำงานให้สังคมในเรื่องของการส่งเสริมการอ่านได้มีโอกาสเข้ามาทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรมว.ศธ.ที่ได้มอบหมายให้เลขาธิการ กศน. ประสานงานกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ของ สสส. ให้ทำงานร่วมกันว่าเราจะสร้างอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านได้อย่างไร เริ่มต้นจากการใช้อาสาสมัคร กศน. ที่มีอยู่แล้วใน กศน.ตำบลทั่วประเทศ คัดเลือกขึ้นมาเป็นอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านทำหน้าที่ลงไปกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปสนใจที่จะอ่านหนังสือมีหนังสือแนะนำไปให้เขาให้ถึงตัวชาวบ้าน ไปจัดกิจกรรมหาความต้องการว่าทำอย่างไรจึงจะอยากอ่าน ต้องทำความเข้าใจกับความต้องการและความเหมาะสมของช่วงวัยตั้งแต่เด็กเล็กเด็กวัยรุ่น ไปจนถึงผู้สูงอายุ ว่าจะต้องมีวิธีการ หรือกิจกรรมในการกระตุ้นจูงใจอย่างไร ใครอ่านไม่ได้ อ่านไม่ออกหรือลืมไปแล้ว ก็มีการพัฒนาฟื้นฟูทักษะการอ่าน คนที่อ่านคล่องแล้วแต่ไม่มีหนังสือดีๆ ให้อ่าน โดยอาสาสมัครจะไปแนะนำหนังสือและจะมีกิจกรรมชวนกันทำ เพื่อที่จะให้มีการขับเคลื่อนเรื่องของการอ่านให้เกิดเป็นกระแสที่จะทำให้คนในชุมชนได้มีความรู้สึกว่าการอ่านเป็นเรื่องใกล้ตัวและมีความสำคัญ
มูลนิธิมะขามป้อม องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีความชำนาญในเรื่องการส่งเสริมการอ่านเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการฝึกอบรมกับ กศน.ในครั้งนี้ด้วย เพื่อช่วยกันหาคำตอบว่าหลักสูตรมีความเหมาะสมกับอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านของเราหรือไม่เพียงใด หากยังมีอะไรที่ต้องปรับเราก็จะปรับให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ซึ่งจะมีการอบรมอีก 15 ครั้ง มีศูนย์ฝึกอบรมอยู่ในศูนย์กลางานครแห่งการอ่านำ 5 แห่ง ได้แก่ นครศรีธรรมราช ลำปางขอนแก่น เพชรบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นเวทีจัดฝึกอบรมให้อาสาสมัครฯ มีทักษะมีเทคนิคในการส่งเสริมการอ่านเพิ่มมากขึ้น อาสาสมัคร 3,000 คน ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคนิควิธีในการส่งเสริมการอ่าน จะเป็นแกนนำที่จะต้องไปหาเครือข่าย 1 : 7 หรือ 1 : 10 คน มีการส่งข้อมูลข่าวสารมีการแนะนำหนังสือให้ ซึ่งในที่สุดก็จะสามารถกระจายเครือข่ายได้เต็มพื้นที่ นี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน
หน้าที่ของอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน คือ เข้าไปทำเวทีชาวบ้าน ให้ชาวบ้านพูดคุยกันว่าเขาอยากอ่านหนังสืออะไร อยากได้การสนับสนุนตรงไหน เป็นผู้สื่อสารความต้องการของคนในชุมชนเกี่ยวกับการอ่าน แล้วกลับมาดูว่าที่ กศน.ตำบล หรือศูนย์การเรียนชุมชนมีหนังสือที่เขาต้องการหรือไม่ ถ้าไม่มีต้องประสานห้องสมุดประชาชนว่ามีไหมถ้ามีก็หมุนเวียนออกมา ถ้าไม่มีให้แจ้ง ผอ.กศน.อำเภอเพื่อจะได้จัดหาหนังสือตามความต้องการของประชาชน
ในมิติของสังคมเราต้องการเปิดพื้นที่ให้คนที่มีจิตอาสา อยากทำงานเพื่อสังคมได้เข้ามาทำงานเพราะคนที่มีจิตอาสาในเรื่องอื่นๆ มีมากมาย แต่ในเรื่องของการศึกษาการส่งเสริมการอ่านยังไม่มีพื้นที่นั้น ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสที่เชื่อว่าอย่างน้อยจะเป็นกลไกในการกระตุ้นสังคมในเรื่องของการส่งเสริมการอ่าน ทุกวันนี้เรามีอัตราการอ่านหนังสือที่น้อยมาก 5 เล่มต่อปีต่อคน เราจะเพิ่มเป็น 10 เล่มได้ไหม จากที่คนไทยอ่านหนังสือวันละ 30 นาที เราจะเพิ่มมากกว่านี้ได้ไหม แล้วถ้าเราหันกลับมาอ่าน แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆเช่น ฉลากยา รายละเอียดในกล่อง เชื่อว่าเราจะสามารถพลิกสังคมได้ อาสาสมัครเหล่านี้จะไปกระตุ้นเตือนสังคมให้พลิกพฤติกรรมการเรียนรู้ เรียนรู้จากสิ่งที่มีความสำคัญกับชีวิตแต่เราไม่เคยสนใจอ่านสิ่งเหล่านี้เลย
ในโลกยุคข้อมูลข่าวสารในรูปของ social network ที่มาเร็วและแรงมีกระแสตอบรับทันที ความสามารถในการเรียนรู้ความเป็นไปของโลก เข้าใจถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงผันผวนทั้งในเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองรวมถึงเข้าใจในธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตและปัจจัยส่งเสริมวิถีชีวิตต่างๆการอ่านถือเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถเกิดการเรียนรู้ได้ทุกเวลาและสถานที่ ทำให้มนุษย์ได้รู้เท่าทันโลกได้แม้ยังไม่ได้ขยับตัว นี่คือคุณูปการของการอ่านที่วันนี้ต้องบอกว่า…ไม่อ่าน…ไม่ได้แล้ว…เดี๋ยวตกยุค…
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
update:18-06-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่