กศน.ต้องดูแลเด็กเล็กแม้ไม่ใช่ภารกิจหลัก
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้ม
กศน.ไม่มองข้ามเด็กปฐมวัย ถึงแม้ไม่ใช่หน้าที่หลัก แต่ถือเป็นภารกิจจำเป็น เร่งสำรวจตัวเลขชัดเจน
วันที่ 14 ม.ค. 2561 นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) กล่าวถึงการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยของสำนักงาน กศน. ว่า จริง ๆ แล้วการจัดการศึกษาปฐมวัย ไม่ใช่หน้าที่หลักของ กศน. แต่เป็นภารกิจที่จำเป็นต้องช่วยเหลือดูแล โดยเท่าที่พบส่วนใหญ่เด็กเล็กเหล่านี้มักจะตามพี่สาว พี่ชายมาเรียน หรือ ผู้ปกครองเอาเด็กมาฝากให้ครูเลี้ยงตอนออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้การทำงานในพื้นที่ กศน.ต้องต้องดูแลเด็กปฐมวัยด้วย โดยเฉพาะในศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง(ศศช.) เพราะบนพื้นที่สูงจะไม่มีสถานศึกษาในระบบ ทั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) หรือสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เนื่องจากการตั้ง ศศช.มีข้อกำหนดว่า ต้องตั้งในพื้นที่ที่ห่างจากมีโรงเรียนในระบบประมาณ 6 กิโลเมตร ทำให้ กศน.ต้องจัดดูแลทั้งเด็กเล็กและผู้ใหญ่ โดยขณะนี้ก็กำลังรวบรวมตัวเลขที่ชัดเจน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ บอร์ด กศน. ทราบก่อนเสนอของบประมาณอุดหนุนต่อไป
ด้าน ดร.วิเลขา ลีสุวรรณ์ รองเลขาธิการ กศน. กล่าวว่า ศศช. มีอยู่ใน 14 จังหวัด 785 แห่ง โดย ศศช.เหล่านี้จะอยู่บนพื้นที่สูง หรืดตามเกาะ แก่ง ที่การศึกษาในระบบไม่สามารถเข้าไปจัดการศึกษาได้ ซึ่ง ครู กศน.ก็ต้องเข้าไปดูแล โดยไม่ใช่ดูแลแต่เพียงเด็กในวัยเรียนเท่านั้นต้องดูแลเด็กเล็กด้วย ซึ่งในส่วนของเด็กเล็กนี้ กศน.จะไม่ได้รับงบประมาณ เพราะที่ได้รับจะเป็นระดับการศึกษาภาคบังคับ โดยได้เป็นค่าอาหารกลางวัน อุปกรณ์การเรียนการสอน สำหรับข้อมูลปีที่ผ่านมาจำนวนเด็กเล็กที่เข้ามาเรียนใน ศศช.จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก และน่าน ประมาณกว่า 6,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากระเหรี่ยง แต่ขณะนี้ก็กำลังสำรวจตัวเลขที่เป็นปัจจุบันอยู่ เพราะเราจะต้องของบฯสนับสนุนทั้งเรื่องของเงินอุดหนุนรายหัว อุปกรณ์การเรียนการสอน รวมถึงการพัฒนา ครู กศน.ซึ่งไม่ได้มีวุฒิการศึกษาปฐมวัย เพื่อให้รู้การจัดการเรียนการจัดการสอนสำหรับเด็กเล็ก รวมถึงเรื่องจิตวิทยาเด็ก และการพัฒนาเด็กเล็กด้วย