กว่า Geek จะเป็น Good
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ส่งเสริมพลังเยาวชน ดึงนวัตกรรมเทคโนโลยีมุ่งสร้างสรรค์สังคม เปลี่ยนจากการนึกถึงตัวเองหันมานึกถึงสังคมให้มากขึ้น
เรื่องราวส่วนใหญ่ที่เรามักได้ยิน ทุกครั้งที่มีการประกวดแข่งขันนวัตกรรม คือ ไอเดียสุดสร้างสรรค์มากมาย และใครคือเจ้าของผลงาน แต่แง่มุมนอกเหนือไปจาก "ความสำเร็จ" ที่เราอาจไม่ค่อยได้รับรู้กันเท่าไหร่ คือ เรื่องราวการเดินทางที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังนวัตกรรมแต่ละชิ้น กว่าที่ Idea จะกลายเป็น I do ได้อย่างเช่นวันนี้ ยากเย็น แค่ไหน? ต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง? หลังจากได้นั่งคุยยาวๆ กับตัวแทนคน รุ่นใหม่จาก 2 ใน 4 ทีมผู้ชนะการประกวดโครงการ "Active Citizen : Geek so Good" โครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคม ทำให้ได้เห็นเรื่องราวในอีกหลากหลายแง่มุม เพื่อไปถึงเป้าหมายการแข่งขันที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มุ่งหวังอยากเห็นเด็กไทยรุ่นใหม่ เปลี่ยนจาก "Gen ME" ที่นึกถึงตัวเองเป็นหลัก หันมาคิดและทำเพื่อสังคมกันมากขึ้น
ขอ.ขวด เริ่มที่โรงอาหาร
เอ่ยถึงคำว่านวัตกรรม หลายคน อาจนึกถึงเรื่องยากๆ จริงๆแล้ว การคิดนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ขนาด เปลี่ยนโลก แต่สามารถเริ่มต้นได้จาก จุดง่ายๆ เพียงแค่คิดแก้ปัญหาสังคม ที่ใกล้ตัวที่สุดก่อน
อย่างเช่น ไอเดียเครื่อง "ขอ.ขวด" ของ จิระสินธ์ เดชชะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ปิ๊ง ไอเดียนี้ระหว่างนั่งกินข้าวในโรงอาหารแล้วเห็นขวดพลาสติกที่วางทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่ตรงหน้า
แม้การเปลี่ยนขยะขวดพลาสติก ให้เป็นเงินอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่เขาสร้างความแตกต่าง คือ การเชื่อมโยงแพลตฟอร์มเครื่องรับแลกขวดกับ แอพพลิเคชั่นในรูปแบบเกมแข่งขัน เมื่อเอาขวดหย่อนไปในเครื่องจะได้รับรหัสสำหรับกรอกลงเว็บแอพพลิเคชั่น ยิ่งหยอดมากยิ่งสะสมแต้มเพิ่ม สามารถอัพเลเวล ในการแข่งขัน และแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียได้ด้วย
ไอเดียที่ไม่ใช่แค่สนุก แต่หวังผลการเปลี่ยนพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่เคยมองขวดเป็นแค่ขยะให้กลายเป็นสิ่งที่มีค่า แต้มสะสมยังสามาถนำไปแลกรางวัลหรือ โปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ และรายได้ ส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายขวดยังส่งต่อเพื่อนำไปช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส
แต่การคิดไอเดียดีๆ กลับไม่ใช่เรื่องยากเท่ากับการลงมือทำที่ทำเอาทีมเด็กสายวิทย์คอมฯ ถอดใจยอมแพ้ไปหลายรอบ เพราะเคยร่ำเรียนมาแต่เรื่องโปรแกรมเมอร์ แต่บอดสนิทเรื่องฮาร์ดแวร์ ไม่มีความรู้กลไกวงจร การประกอบเครื่อง แถมยังมีเรื่องงบประมาณที่ต้องหามาเพิ่มด้วยตัวเอง
"ตอนแรกที่สมัครเข้าร่วมโครงการ คิดว่า เป็นการนำเสนอแค่ไอเดีย แต่พอ ติดอยู่ใน 14 ทีมสุดท้าย ต้องพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมออกมาให้เห็นจริงด้วย กังวลเหมือนกันว่าถ้าเราทำไม่ได้ จะขอสละสิทธิคืนเงินให้โครงการดีมั้ย" แต่ในที่สุด ทุกคนก็สู้ต่อ เพราะรู้สึกเสียดายโอกาส ไม่อยากให้ไอเดียดีๆ ที่คิดมาได้ถึงขนาดนี้ต้องล้มเลิกไปง่ายๆ
"เราเป็นเด็กต่างจังหวัด โอกาสต่างๆ อาจจะไม่เท่าเด็กในเมือง เมื่อก่อนเราได้แต่คิดๆๆ มีไอเดียเยอะมาก แต่ ไม่เคยได้รับโอกาสแบบนี้ ไม่มีคนให้ คำปรึกษา หรือเงินทุนสนับสนุน เมื่อโอกาสมาอยู่ข้างหน้าก็อยากลุยให้เต็มที่ อยากทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง"จิระสินธ์ เอ่ย
จากที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องกลไกมาก่อน ภารกิจสู้เพื่อฝันจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่การค้นคว้าหาข้อมูลในเน็ตด้วยตัวเอง ลองติดต่อบริษัทที่ขายวงจรและเซ็นเซอร์ ปรึกษาอาจารย์ ในคณะ และคนรอบข้างที่ช่วยกันแนะนำให้ไปหาคนรู้จักที่มีความรู้ทำฮาร์ดแวร์มาช่วยวางระบบตัวเครื่อง
"กว่าจะถึงวันนี้ ถอดใจกันมาแล้วหลายรอบ เพราะมันเหนื่อยมาก ไหนจะระยะทางที่ต้องเดินทางไปๆ มาๆ ค่อนข้างไกลจากแม่โจ้ กว่าจะลองถูกลองผิด บางทีอุปกรณ์ข้างในไฟดูดนิดเดียวก็พังแล้ว ต้องไปวิ่งหาซื้ออุปกรณ์ใหม่ แต่พอเริ่มเทสต์ระบบเครื่องได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เลยเริ่มมีความหวัง"
แรงสนับสนุนที่สำคัญ ยังมาจากทุกคนที่อยู่รอบข้าง ตั้งแต่พ่อแม่ เพื่อนๆ รุ่นพี่ อาจารย์ที่มหาวิทยาลัย รวมถึงพี่เลี้ยงจากโครงการที่คอยให้คำปรึกษาสื่อสารกัน ผ่านระบบ Skype เรียกว่าทุกคนที่อยู่ รอบข้าง ต่างช่วยกันผลักช่วยกันดัน รุ่นพี่ ที่คณะช่วยหางบมาสนับสนุนเพิ่ม พ่อของเพื่อนที่เป็นช่างอ๊อกเหล็กมาช่วยทำตัว บอดี้เครื่องให้
ในวันที่พัฒนาเครื่อง "ขอ.ขวด" ต้นแบบสำเร็จ ทางมหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญ ทั้งการจัดงานเปิดตัวซึ่งคณบดีให้ความสนใจและมาให้กำลังใจด้วยตัวเอง มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ทั้งแฟนเพจ สถานีวิทยุ ป้ายประกาศในมหาวิทยาลัย ทั้งหมดนี้ คือ แรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังทำให้ผลงาน "ขอ.ขวด" ของพวกเขาก้าวมาถึงเส้นชัยได้ในวันนี้ "Gen ME" เพื่อผู้พิการ
มาถึงตัวแทนอีกหนึ่งทีม "Enabled" การรวมตัวของ 3 สาวจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อิสรีย์ ภิรมย์โอภาส และ จีรภา สูรย์ส่องธานี นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ จุฬาฯ ส่วน นัทธา ภูริพันธุ์ภิญโญ เป็นนิสิตสาวจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมด้วยอีก 1 หนุ่ม ภาคภูมิ ขำทวีพรหม จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้ง 4 คนถือเป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ Gen Me ที่ชอบความท้าทายและมีประสบการณ์ผ่านการแข่งขันมาแล้วหลายเวที อิสรีย์ แกนนำของทีม ยอมรับว่า กว่าจะรวมทีมคนเก่งๆ ที่มีจิตอาสามาได้ครบทีมเพื่อทำโปรเจคแข่งขันครั้งนี้ ยากมาก "อย่างที่รู้กันว่า คน Gen Me หลายคนๆ ถ้าพูดถึงเรื่อง การทำโปรเจคเพื่อสังคม อาสาสมัคร โดยเฉพาะโปรเจค ของเราที่ตั้งเป้าหมายเพื่อคนพิการปุ๊บ เขาจะรู้สึกว่า โห.. จะเหนื่อยฟรีหรือเปล่า เขาไม่ได้อินกับเรื่องนี้ ทำแล้ว จะได้อะไรตอบแทน"
ที่มาของแรงบันดาลใจในการทำแพลตฟอร์มช่วยหางานให้ผู้พิการ ผ่านเว็บแอพพลิเคชั่น จุดประกาย จากเคยมีโอกาสเป็นจิตอาสาไปช่วยสอนภาษาและคอมพิวเตอร์ให้กับมูลนิธิคนพิการ จึงมองว่าความรู้ที่เรียนมาเกี่ยวกับด้านไอที น่าจะนำมาสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้พิการ ซึ่งปัจจุบันยังมีปัญหาว่างงานอีกจำนวนมาก นำมาสู่ไอเดียแก้ไขปัญหาด้วยการพัฒนาเว็บแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมทั้งระบบการค้นหาตำแหน่งงาน พร้อมทั้งระบบการแนะแนว Career Path เส้นทางการพัฒนาในอาชีพ รวมถึงแหล่งข้อมูลด้านอบรมต่อยอดทักษะด้านวิชาชีพแก่คนพิการมาไว้รวมกันในที่เดียว
ทีม "Enabled" เล่าว่า ตอนเริ่มต้นโปรเจคพวกเรามีแต่ไอเดีย ไม่มีความรู้เกี่ยวกับคนพิการเลย กว่าจะออกแบบเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย จึงต้องทำงานทั้งเก็บข้อมูล ลงพื้นที่ โทรศัพท์สอบถามกับ ผู้พิการที่โพสต์หางานในเน็ตโดยตรงแบบ รายตัว ประสานงานเก็บข้อมูลร่วมกับมูลนิธิ เพื่อคนพิการ แลกเปลี่ยนกับ "กลุ่มกล่องดินสอ" ผู้ประกอบการสังคมที่ทำโปรเจคเกี่ยวกับผู้พิการตาบอด
"ถามว่าโครงการนี้เปลี่ยน Geek ให้เป็น Good ได้มั้ย มันก็มีส่วนนะ ถ้าเป็นโครงการประกวดอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำเพื่อสังคม เราอาจจะไม่ได้มีแรงบันดาลใจกันขนาดนี้ การทำโปรเจคนี้ ทุกคนรู้ว่าจะต้องเหนื่อยแน่ๆ แต่เหนื่อยยังไงก็ต้องไปให้ถึงจุดมุ่งหมายเดียวกัน ยิ่งมีผู้พิการบางคนส่งอีเมล์มาบอกว่าถ้าเปิดใช้เว็บจริงเมื่อไหร่ บอกด้วยนะ มันยิ่งทำให้เรารู้สึกอยากทำให้ไอเดียนี้เกิดขึ้นได้จริงๆ แล้วประสบการณ์ ที่ได้จากโครงการนี้ คือ การได้ลงพื้นที่จริง อย่างที่เราไม่เคยได้ทำกันในห้องเรียน ได้ผ่านการขัดเกลาไอเดียจนมันเวิร์คได้จริงๆ ได้มุมมองใหม่ๆทั้งคำแนะนำจากสตาร์ทอัพ รวมถึงโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม" ทีม Enabled ช่วยกันเล่าถึงคุณค่าของการประกวดที่ไม่ได้มีเป้าหมายแค่รางวัล
นอกจากผลงานเครื่อง ขอ.ขวด และเว็บไซต์หางานเพื่อผู้พิการแล้ว ยังมีอีก 2 ผลงานนวัตกรรมสร้างสรรค์สังคมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ 4 ทีมสุดท้าย ในการประกวดครั้งนี้ ได้แก่ ผลงาน "วัคซีน พ๊อกเก็ต" (Vaccine Pocket) ของทีม Prime Soft จากมหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันบันทึกการรับวัคซีนสำหรับ เด็กวัย 1-3 ปี สำรองข้อมูลบนระบบ คลาวด์ โดยสามารถแจ้งเตือนเมื่อครบกำหนดรับวัคซีนครั้งต่อไป และ ผลงาน "Light Life" ของทีม You light up! my life จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น แอพพลิเคชันสำหรับป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการพยายาม ทำร้ายตนเอง บทความให้กำลังใจ รวมถึงสายด่วนสุขภาพจิต เพื่อป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย
สำหรับผู้สนใจและอยากร่วมเป็น ส่วนหนึ่งในการให้การสนับสนุนและต่อยอด นวัตกรรมเพื่อสังคมเหล่านี้ สามารถเข้าไป ดูรายละเอียดได้ที่ โครงการ "Active Citizen : Geek so Good" เว็บไซต์ www.swpark.or.th/geeksogood
การคิดไอเดียดีๆ กลับไม่ใช่เรื่องยากเท่ากับการลงมือทำที่ทำเอาทีมเด็ก สายวิทย์คอมฯ ถอดใจยอมแพ้ ไปหลายรอบ