กลุ่มรักษ์เขาชะเมา แหล่งบ่มเพาะเด็กไทยรักษ์ถิ่น
“โรงเรียน โรงเล่น” สถานที่เล็กๆ ท่ามกลางต้นไม้ใบหญ้า ของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ตำบลหนองควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ถือเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนในรูปของบ้านดินที่ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมช่วยกันสร้าง เพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะเยาวชนให้มีความรักและภาคภูมิใจแหล่งบ่มเพาะเยาวชนให้มีความรักและภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิดของตนเอง
“พี่แฟ๊บ” หรือ”บุบผาทิพย์ แช่มนิล” ผู้ก่อตั้งกลุ่มฯ เล่าว่าที่มาของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา เป็นเพราะเรามองเห็นถึงความสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กๆ และผู้คนในชุมชนที่ต้องมีพื้นที่สร้างทักษะทางปัญญา สร้างวิถีคิดร่วมกันกิจกรรมต่างๆ ของที่นี่จะเป็นกลไกในการสร้างความร่วมมือของคนในชุมชนให้เกิดความผูกพันธ์เอื้ออาทร และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวคิดห่วงใยโลกกว้าง สรรค์สร้างบ้านเกิด
ปัจจุบันกลุ่มรักษ์เขาชะเมาได้พัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยการถ่ายทอดจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ผ่านการจัดกิจกรรมหรือการเข้าค่าย โดยแกนนำเยาวชนกลุ่มรักษ์เขาชะเมา “น้องกิ่ง” หรือ “กิ่งกาญจน์ ศุภผล” อายุ17 ปี เล่าให้ฟังว่ากิจกรรมค่ายใหญ่ทุกเดือนธันวาคมของทุกปี และจะมีพี่ๆ ที่เดินทางไปทำงานไกลๆ ได้มีโอกาสกลับมาทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆ อีกครั้ง
“สิ่งที่ได้จากการเป็นสมาชิกกลุ่มฯ คือ เราได้พัฒนาตัวเองในด้านความรู้รอบตัวด้านต่างๆ และนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอด ซึ่งมีความภาคภูมิใจที่เราสามารถมีทักษะและภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตมากกว่าการเรียนรู้แค่อยู่ในห้องเรียนและก็คาดหวังว่าน้องๆ ที่ได้เข้าร่วมกลุ่มและทำกิจกรรมจะโตขึ้นและเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในสังคม” น้องกิ่งเล่า
ทั้งนี้กลุ่มเยาวชนรักษ์เขาชะเมา เป็นหนึ่งพื้นที่เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาภาคกลาง (เครือข่ายโฮงเฮียนเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เครือข่ายยุวชนสร้างสรรค์สุราษฎร์ธานี เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรรมภาคเหนือ เครือข่ายกลุ่มสืบสานภูมิปัญญาอีสาน) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) อธิบายว่าการพัฒนาเด็กทำได้หลายวิธี สสส. มองว่ากระบวนการเรียนรู้เป็นเรื่องที่สำคัญ อีกทั้งการสร้างเสริมสุขภาพไม่ได้หมายถึงเฉพาะมีร่างกายที่แข็งแรง แต่ยังรวมไปถึง กาย ใจ ปัญญา และสังคมที่ดีด้วย
“สำหรับกลุ่มรักษ์เขาชะเมา เราสนับสนุนใน 2 ลักษณะคือ ให้เขาทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับชุมชนซึ่งที่ผ่านมาทางศูนย์ฯ ก็ทำหน้าที่เช่นนั้นดีอยู่แล้วและสองคือ ยกระดับศูนย์เรียนรู้ โดยสามารถให้คนในพื้นที่อื่นๆ สามารถเข้ามาศึกษาดูงาน และสามารถนำโมเดลนี้กลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้” ผอ. สำนัก 4 กล่าว
ขณะเดียวกัน สสส. ก็นำคณะนักสร้างเสริมสุขภาพจากทั่วโลกที่เข้าร่วมการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 (the21th iuhpe world conference on health promotion2013) ลงพื้นที่เยี่ยมชม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การลงทุนที่ดีที่สุดด้านสุขภาพ ซึ่งในครั้งนี้ dr.maria elena rivera heredia ประเทศเม็กซิโกได้กล่าวชื่นชมพื้นที่ต้นแบบและรู้สึกประทับใจอย่างยิ่ง
dr.maria บอกว่า เธอทำงานเกี่ยวกับปัญหาทางด้านคนพลัดถิ่น การอพยพของคนจากเมืองเล็กสู่เมืองใหญ่อยู่แล้ว และพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีอาการเครียด ดังนั้นสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคนที่นี่คือ ทำให้มองเห็นสิ่งที่สามารถทำให้คนรักท้องถิ่นของตัวเอง โดยการเปลี่ยนวิธีคิด และทัศนคติของคนในท้องถิ่น
“เงินทองหรือความร่ำรวยไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะให้คนเรามีความสุข เพราะจริงๆ แล้วการอยู่อย่างพอเพียง การได้ทำกิจกรรมในชุมชน การดูแลบ้านเกิด นั่นก็เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง และเชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริงทั่วโลก”
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง