กลุ่มดอกหญ้า เยียวยาเด็กเอดส์
หวังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“กลุ่มดอกหญ้า” ร่วมกับ โรงพยาบาลตรังและภาคีเครือข่ายจัด “โครงการดอกหญ้าบานไสวในใจน้อง” เพื่อขยายผลการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้ครอบคลุมถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับยาต้านเชื้อไวรัสสม่ำเสมอ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “เด็กที่ติดเชื้อเหล่านี้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพได้ และสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข”
“กลุ่มดอกหญ้า” คือ กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในจังหวัดตรัง ที่รวมตัวกันมาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อช่วยเหลือเพื่อนผู้ติดเชื้อด้วยกันให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างครอบคลุม บวกกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีเด็กติดเชื้อเอชไอวีมาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตรังเพิ่มมากขึ้น
กลุ่มดอกหญ้าจึงหันมาให้ความสำคัญกับการติดตาม ดูแลเด็ก โดยพบว่าเด็กจำนวนมากต้องเสียชีวิต เพราะไม่ได้รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง อาศัยอยู่กับผู้ดูแลที่เป็นผู้สูงอายุที่ขาดความรู้และข้อมูลการดูแลเด็ก ทำให้ไม่ได้รับยาตามมาตรฐาน ส่งผลกับสุขภาพ มีภาวะดื้อยาและเกิดโรคฉวยโอกาส ซ้ำยังถูกเลือกปฏิบัติจากคนในพื้นที่จากความเชื่อและความเข้าใจผิด
นายประพันธ์ ซุ้นสั้น หัวหน้าโครงการดอกหญ้าบานไสวในใจน้อง เผยว่า ปัจจุบันมีจำนวนเด็กติดเชื้อและเด็กที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังเข้ามารักษาจากทางโรงพยาบาลตรัง 67 ราย อยู่ในวัย 6-14 ปี ที่ผ่านมาเด็กหลายคนเสียชีวิตโดยมีสาเหตุมาจากผู้ดูแลขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลและให้ยากับเด็ก เพราะหลายรายเป็นผู้สูงอายุ บ้างก็มีฐานะยากจน ไม่สามารถพาเด็กมาโรงพยาบาลได้ ทำให้เด็กไม่ได้รับยาต้านไวรัสต่อเนื่อง
“โครงการนี้ต้องการให้เด็กที่ติดเชื้อเข้าถึงการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง และอยากให้เด็กๆ มีชีวิตที่ดีขึ้น ให้เขาใช้ชีวิตในสังคมได้เหมือนคนปกติ มีเด็กบางคนที่ได้รับผลกระทบจากโรงเรียน ถูกรังเกียจจากกลุ่มเพื่อนและครู บางครั้งถูกกีดกันไม่ให้ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนคนอื่นๆ ทางกลุ่มและทีมงานของโรงพยาบาลตรังจะเข้าไปคุยกับครูหรือผู้ปกครอง ให้ความรู้และความเข้าใจว่าโรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ ที่สำคัญคือต้องการให้ผู้ปกครองมีข้อมูลมีความรู้ในการดูแลเด็กที่ถูกต้อง ให้เขาได้รับยาอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ดูแลมักเข้าใจไปเองว่าพอเด็กกินยาแล้วร่างกายก็แข็งแรงดีหรือคิดว่าหายแล้วจึงไม่พาเด็กเข้ามารับยาต่อ” นายประพันธ์ กล่าว
ด้าน น.ส.อรุณี คงแก้ว เลขานุการโครงการ เล่าถึงการทำงานในการติดตามดูแลเด็กติดเชื้อว่า ทุกวันอังคารที่สองของเดือน เป็นวันที่เด็กเข้ารับการตรวจรักษากับทางโรงพยาบาล ทางทีมงานจะเข้าไปช่วยดูแล โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มเพื่อไปดูแลเด็กและพูดคุยกับผู้ปกครองที่พามา
“เด็กจะได้ทำกิจกรรม วาดภาพ ระบายสี เล่นของเล่น แล้วแต่ความชอบและสนใจ เพราะเด็กที่มาตามแพทย์นัดมีอายุแตกต่างกัน แกนนำทีมหนึ่งจะดูแลเด็ก คอยซักถามวิเคราะห์สังเกตว่าเด็กคนนี้มีอะไรผิดปกติ มีปัญหาอะไรหรือไม่ อีกทีมหนึ่งพูดคุยกับผู้ดูแลสอบถามปัญหาต่างๆ ให้คำแนะนำปรับทัศนคติและความเชื่อของผู้ดูแลไปพร้อมๆ กัน พบว่าปัญหาใหญ่ของผู้ดูแลคือไม่กล้าบอกผลเลือดกับเด็ก การที่เด็กไม่รู้ผลเลือดจะทำให้เด็กไม่รู้ว่าต้องกินยาไปเพื่ออะไร ทำไมต้องกินยาตรงเวลา ทำให้เบื่อหน่าย ผู้ดูแลก็ไม่มีความรู้ในการแก้ไขปัญหา ทางกลุ่มจึงจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ ความรู้ในการดูแลเด็กและช่วยเหลือ โดยจัดจิตแพทย์มาให้คำแนะนำ ซึ่งต้องประ เมินเด็กว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนในการรับรู้เรื่องนี้” น.ส.อรุณี กล่าว
อำพร แก้วอ่อน ประธานกลุ่มดอกหญ้า กล่าวถึงการทำงานในแต่ละครั้งเมื่อมาช่วยดูแลเด็กและผู้ปกครองที่มารอรับการตรวจรักษาว่า “ถึงแม้จะต้องตื่นมากรีดยางตั้งแต่ตี 1 เสร็จแล้วก็มาช่วยงานที่โรงพยาบาลเพราะว่าสงสารเด็กๆ นึกถึงตัวเองเวลากินยายังลำบาก แล้วเด็กตัวเล็กๆ จะกินได้ไหม จะมาช่วยเด็กหน้าห้องตรวจโรคเด็กไปถามไถ่อาการ สุขภาพเด็ก ถามผู้ดูแลว่ามีปัญหาทางครอบครัว ทางเศรษฐกิจอะไรบ้างไหม ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือโรงพยาบาลอยู่ไกล ไม่มีค่ารถมา บางคนก็อยู่กับปู่กับย่า จะไปหาหมอแต่ละทีก็ลำบากเพราะอายุมากแล้ว”
นอกจากพูดคุย ดูแลเด็กและผู้ปกครองเมื่อมารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว การทำงานของกลุ่มดอกหญ้ายังเน้นการวางแผนติดตามเยี่ยมเด็กที่ติดเชื้อถึงที่บ้าน เพื่อให้เด็กได้รับการรักษาต่อเนื่อง และจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อปรับทัศนคติของผู้ดูแล เพื่อให้เด็กๆ ได้รับการยอมรับและเอาใจใส่จากคนในครอบครัวและชุมชน
งามจิตต์ จันทรสาธิต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนและโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครง การนี้จะทำให้เด็กติดเชื้อได้รับการดูแลที่ครอบ คลุมทั่วถึง ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง อยู่ในสังคมและใช้ชีวิตประจำวันได้ดีเหมือนคนปกติ หากสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านหรือชุมชนมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ ไม่มองว่าผู้ป่วยเอดส์เป็นผู้ที่แปลกแยกในชุมชน จะทำให้ผู้ติดเชื้อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ ในชุมชนได้เหมือนคนปกติ
“ปัจจุบันสสส.มีแผนสร้างสุขภาวะทางเพศ เป็นแผนเชิงรุกที่พยายามสร้างความเข้าใจเรื่องเพศที่ถูกต้อง โดยพร้อมสนับสนุนเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ที่ทำงานเชิงส่งเสริมและป้องกันด้านนี้”
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update 19-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์