กลองยาวสร้างสุขของผู้สูงอายุบ้านบ่อล้อ

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย 


ภาพประกอบจากคนใต้สร้างสุข


กลองยาวสร้างสุขของผู้สูงอายุบ้านบ่อล้อ thaihealth


เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น ประเทศไทยก็จะก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564  จะมีจำนวนของผู้สู งวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 1ใน 5 ของประชากรทั้งหมด  คาดการณ์กันว่าภายในปี พ.ศ.2578   จะเป็น "สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด" จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 จากจำนวนประชากรทั้งหมด


แม้คนไทยจะมีอายุยืนยาว แต่ร้อยละ 95 ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ  ดังนั้นเมื่อ "สุขภาพ" คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข นักพัฒนาชุมชนจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เจ้าอยู่หัว" นางฟาติเมาะ เจ๊ะมะ" จึงไม่ได้หยุดแค่เรื่องงานดูแลด้านสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ แต่ชักชวนกลุ่มผู้สูงวัยใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองให้มากขึ้น


ผู้สูงอายุในชุมชนบ้านบ่อล้อ หมู่ที่ 7 ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช จึงรวมตัวและจัดตั้งเป็น "ชมรมผู้สูงอายุบ้านบ่อล้อหมู่ที่7" แสวงหาแนวทางดูแลรักษาสุขภาพของสมาชิกในชมรมอย่างยั่งยืน ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนมาต่อยอดไปสู่แนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะ จนเกิดเป็น "โครงการกลองยาวสร้างสุขของผู้สูงอายุบ้านบ่อล้อ" โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


นางฟาติเมาะ ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า  เป็นนักพัฒนาชุมชนในพื้นที่นี้มาประมาณ 5 ปี พบว่าผู้สูงอายุหากสุขภาพไม่ดีมักไม่มีความสุขในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน อบต. ชักชวนมาออกกำลังกายให้มากที่สุด โดยเลือกกิจกรรมตามความถนัดและสนใจ เมื่อก่อนมีกลุ่มออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิคแต่ด้วยสภาพร่างกายและศักยภาพที่ไม่เหมาะสมทำให้ไม่ค่อยมีคนสนใจ จนได้ข้อสรุปของสมาชิกว่าให้นำทุนและวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วในชุมชนแห่งนี้คือวงกลองยาวแม่เจ้าอยู่หัวมาประยุกต์เข้ากับการออกกำลังกายจนเป็นที่มาของโครงการกลองยาวสร้างสุขฯ นัดกันทุกวันบริเวณถนนหน้าบ้านของประธานชมรมผู้สูงอายุเนื่องจากความสนุกที่หยุดไม่ได้แถมยังได้สุขภาพดีอีกด้วย


นายยงยุทธ สุขพิทักษ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.เขาพระบาท เปิดเผยว่า โครงการนี้ชุมชนคิดเองทำเอง ร่วมกับ อบต.แม่เจ้าอยู่หัว ที่เข้ามาบูรณาการกับการส่งเสริมสุขภาพได้อย่างลงตัว และสิ่งที่สำคัญคือผู้สูงอายุ เข้าใจว่าจะสร้างคุณค่า สร้างสุขภาพและสร้างคุณภาพชีวิตให้กับตัวเองได้อย่างไร "เขาไม่ได้ทำเรื่องของสุขภาพ แต่นำเอาเรื่องทุนและวัฒนธรรมของชุมชน มาหนุนและขับเคลื่อนสร้างสังคมใหม่ที่น่าอยู่ มีเป้าหมายคือทุกคนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข"


นายประพันธ์ บุญพา ประธานชมรมฯ วัย 64 ปี ที่ยกกลองยาวลงจากบ่าเดินออกมาจากวงรำที่เต็มไปด้วยความคึกคักสนุกสนาน และรอยยิ้มของผู้สูงวัยเล่าว่าการรำวงเป็นกิจกรรมที่เหมาะ เพราะสามารถยกแขนก้าวขาออกท่าทางได้ตามความถนัด ไม่เหมือนการเต้นแอโรบิค ที่มีรูปแบบทำตามยาก็การรำวงทำให้คนแก่ได้สนุกสนาน สามัคคีกลมเกลียว สภาพจิตใจก็ดีขึ้น สุขภาพร่างกายก็ดีขึ้นหลายคนมีหน้าตาสดชื่นขึ้นกว่าเมื่อก่อน"


นางพา ซุ่นอินทร์ สมาชิกชมรมฯ วัย 75 ปี ที่ดูแข็งแรงและกระฉับกระเฉงบอกว่า "การออกกำลังกายด้วยการรำวง ทำให้คนแก่ไม่เครียด ได้เพื่อน ตอนนี้หลายคนรำได้เป็น 10 เพลงก็ยังสนุกไม่เลิก สุขภาพดีขึ้น  คนที่มีปัญหาเจ็บเข่าเดินเหินไม่สะดวกก็เดินได้ดีขึ้น" ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการรวมตัวนี้ ยังมีการต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาการทำเครื่องขันหมากของผู้สูงอายุไปสู่สมาชิกสร้างงานสร้างรายได้เสริม  ยังเข้าวัดฟังธรรมทุกวันพระ ไปเล่านิทาน ร้องเพลงบอกเพลงกล่อมเรือ ให้เด็กเล็กฟังที่ศูนย์เด็กเล็กของอบต.ทำอาหารแพ็คถุงยังชีพทำให้สังคมเกิดการยอมรับในตัวผู้สูงอายุมากขึ้น และที่สำคัญคือมีกิจกรรมเยี่ยมเพื่อนผู้สูงอายุที่ติดบ้าน-ติดเตียง เดือนละ 2 ครั้ง เพื่อให้กำลังใจ เป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้ผู้สูงอายุหันมาดูแลตัวเองมากยิ่งขึ้น


"โครงการนี้ทำให้ผู้สูงอายุหลายคนปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต ทั้งการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกาย เกิดเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความภาคภูมิใจในศักยภาพของตนเองแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่เราต้องทำให้ผู้สูงอายุเกิดความตระหนักว่า การที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขทุกคนต้องเริ่มดูแลตัวเองโดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข" นักพัฒนาชุมชน อบต.แม่เจ้าอยู่หัวกล่าวสรุป

Shares:
QR Code :
QR Code