กราฟฟิตี้…ฝึกสมาธิสร้างสรรค์ผลงาน
เมื่อพูดถึง "กราฟฟิตี้ Graffiti" หลายคนจะนึกถึงภาพขีดเขียนที่มีลวดลายสีสันตระการตา ที่วาดลวดลายสร้างศิลปะบนผืนกำแพง บนท้องถนน บนรถเมล์ รถไฟ หรือที่ไหนๆ ก็ตามบนท้องถนน โดยแต่ละผลงานก็จะมีจุดเด่นที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของแต่ละคน
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเอาใจคนรักศิลปะด้วยคลาสออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานกราฟฟิตี้ ด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้ ทุกเพศและวัยอย่างไม่จำกัด กับกิจกรรม Happy Life กราฟฟิตี้ ตอน ออกแบบตัวอักษรกับคาแรคเตอร์
ครูต่อ-ปกรณ์ ธนานนท์ นักออกแบบกราฟฟิตี้ เผยว่า กราฟฟิตี้เป็นภาพวาดที่เกิดจากการขีดเขียนไปบนผนัง แต่ในสังคมจะมองว่ากราฟฟิตี้สองแง่สองง่าม ว่าไม่ใช่ศิลปะที่มีกลุ่มคนชั้นสูงให้ความยอมรับสักเท่าไหร่นัก บางคนอาจจะมองว่าเป็นศิลปะขยะ เป็นศิลปะที่ไว้สำหรับปลดปล่อยอารมณ์ของพวกวัยรุ่นขี้ยาเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วในด้านบวกก็คือคนที่เอาศิลปะมาทำงานบนกำแพง
โดยกราฟฟิตี้เป็นการนำศิลปะมาใช้ในการทำงาน เป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่เป็นการทำสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง หรือสร้างสรรค์จินตนาการ และถ่ายทอดสารถึงใครบางคนลงสู่พื้นที่ที่มีการสัญจรไปมา หรือพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเราสามารถใส่สาระคุณค่าประโยชน์ให้กับผลงานของตัวเอง หรือเป็นเสียงสะท้อนจากสังคม ผลงานของเรามันก็คือลายเซ็นของเรา หรือตัวตนของเราที่ติดไปกับผลงานนั้นๆ
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นการออกแบบตัวอักษรกับคาแรคเตอร์ของแต่ละคน โดยดึงตัวประกอบมาจากตนเองผ่านทางรูปวาด อาทิ บางคนชอบดอกไม้ ก็เอาดอกไม้มาทำ แล้วแต่การรังสรรค์ขึ้น โดยมีอุปกรณ์ง่ายๆ อย่าง ดินสอ ปากกา ยางลบ และกระดาษวาดเขียน ซึ่งการออกแบบคาแรคเตอร์นี้ไม่ได้แตกต่างจากการหัดวาดรูปเลย คือเริ่มจากการขึ้นโครง และเก็บรายละเอียดต่างๆ ทั่วไป ซึ่งจะเป็นเหมือนการทดลองบนกระดาษก่อน เป็นดังพื้นฐานก่อนจะนำไปสู่การวาดบนผนังอย่างกราฟฟิตี้จริงๆ ที่ผ่านการลงสี ตัดเส้น
ประโยชน์จากกิจกรรมครั้งนี้จะช่วยฝึกฝีมือในการวาดภาพ รังสรรค์ ออกแบบลวดลาย นอกจากนี้ช่วยทำให้เกิดสมาธิ และการฝึกทักษะการใช้มือและสายตาทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ สร้างความเพลิดเพลินไปกับจินตนาการของตัวเอง เกิดความคิดสร้างสรรค์และมีความสุขมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญในเด็กคุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างงานศิลปะไปพร้อมๆ กับลูกเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์อันอบอุ่นให้แก่ครอบครัว
นอกจากนี้ศิลปะยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก โดยผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องให้ลูกวาดภาพ ระบายสีเท่านั้น แต่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้สัมผัสหรือทำงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ ที่ชอบตามความถนัด ความชอบ หรือให้เหมาะกับวัยของเขา เพราะศิลปะช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูกในหลายๆ ด้าน เช่น ทักษะการเคลื่อนไหว การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มือ ข้อมือ และนิ้วมือต่างๆ ในการจับดินสอขีดเขียน วาดภาพ การใช้แปรงหรือพู่กันสะบัด ระบายสี การบีบ จับ ปั้นแป้งโด หรือดินน้ำมัน การพับ ฉีก แปะติดกระดาษ หรือการประดิษฐ์สิ่งของง่ายๆ
ทักษะด้านการตัดสินใจ การทำงานศิลปะช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และการคิดแก้ปัญหา ในช่วงเวลาที่ทำงานศิลปะ เด็กมีโอกาสได้คิด ได้เลือก คิดว่าจะวาดภาพแบบไหนเลือกใช้สีอะไร ได้ตัดสินใจ และได้ทดลองทำ ทักษะด้านภาษา นอกจากเด็กๆ จะได้ลงมือทำแล้ว ศิลปะยังช่วยให้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ เรื่องสี รูปทรง อุปกรณ์ และกิริยาท่าทาง รวมทั้งคำศัพท์ที่ใช้อธิบายสิ่งต่างๆ ด้วย ทักษะในการมองเห็นและมิติสัมพันธ์ ในเรื่องของภาพ รูปทรง สีสัน และการสังเกตสิ่งต่างๆ รวมทั้งช่วยทำให้เด็กมีสมาธิ ใจจดใจจ่อในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ
ขีด เขียน เรื่องเด็กๆ
น้องอัย-รมย์รวินท์ ต่อศรีเจริญ อายุ 10 ปี นักเรียนชั้น ป.4 บอกว่า หนูมาร่วมกิจกรรมนี้ก็รู้สึกสนุกมาก เพราะได้ร่วมวาดรูปกับเพื่อนๆ หลายๆ คน และยังได้รับประโยชน์จากการฝึกออกแบบ ได้แนวคาแรคเตอร์ที่เป็นของตัวเองไม่ซ้ำใคร โดยหนูออกแบบคาแรคเตอร์เป็นการ์ตูนรูปหมา เพราะหนูชอบหมามากๆ ค่ะ
น้องฟู่-ภูดิส ต่อศรีเจริญ อายุ 7 ปี นักเรียนชั้น ป.2 บอกว่า วันนี้ได้เข้าร่วมกิจกรรมกราฟฟิตี้ก็รู้สึกดีใจและสนุกมาก เพราะได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างเช่น ความรู้เกี่ยวกับการวาดรูปที่เพิ่มขึ้นครับ
น้องใบเฟิร์น-พรไพลิน ฤกษ์ดี อายุ 9 ปี นักเรียนชั้น ป.3 บอกว่า กิจกรรมกราฟฟิตี้ที่เข้าร่วมครั้งนี้สนุกมากๆ ค่ะ เพราะหนูได้วาดรูป และรู้สึกว่าตัวเองมีศิลปะในตัว และเป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นด้วยค่ะ ตั้งใจว่าจะนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ฝึกฝนต่อที่บ้านและที่โรงเรียนด้วยค่ะ.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์