กระทงแห่งความสุข คือไม่มี “เหล้า”
ลอยกระทงเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมายาวนาน และเป็นเอกลักษณ์อันดีงามของไทย แต่ละจังหวัดทั่วไทยที่จัดงานลอยกระทงก็มีศรัทธาและความเชื่อที่แตกต่างกันไปตามวิถีวัฒนธรรม คนส่วนใหญ่ลอยกระทงเพื่อเป็นการขอขมาพระแม่คงคา ลอยทุกข์โศกโรคภัยให้พ้นไปจากตนเองและครอบครัว นับเป็นการแฝงเรื่องการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนคนไทยอนุรักษ์แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมผ่านประเพณีนี้ หรือเทศกาลลอยกระทงสายเมืองตาก คนตากจะร่วมกันปล่อยกระทงพร้อมกันไหลไปตามลำน้ำปิง เป็นสายตาดุจดวงประทีปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ปีนี้วันลอยกระทงตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ หลายจังหวัดหลายพื้นที่เตรียมจัดงานสืบสานประเพณีลอยกระทงกันมากมาย ตั้งแต่กรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 24-28 พฤศจิกายน มีงานสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพุทธยอดฟ้า สะพานพระราม 8 สะพานพระปิ่นเกล้า ถึงสะพานกรุงธน มีขบวนเรือ จุดพลุประกอบแสงเสียง มีการแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงคอนเสิร์ต ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสืบสานกิจกรรมลอยกระทงกรุงเก่าตามประทีป ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ
ราชบุรีก็จัดมหัศจรรย์ลอยกระทงราชบุรี ประเพณี 8 ชาติพันธ์ ริมลำน้ำแม่กลอง อ.เมืองฯ มีแข่งเรือยาว ขบวนแห่กระทง ประกวดนางนพมาศ มีสืบสานประเพณีลอยกระทงสายมอญงดงาม เพชรบุรี สุพรรณบุรีบริเวณริมน้ำท่าจีนสายเก่ามีงานวัด ตลาดย้อนยุค ส่วนที่วัดอัมพวันมีพิธีแห่กระทงเวียนรอยพระพุทธบาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุโขทัย เตรียมจัดประเพณีลอยกระทงอย่างยิ่งใหญ่งดงามตระการตา
เมื่อเทศกาลงานลอยกระทงมีการพัฒนาไป นอกจากการสืบสานศิลปวัฒนธรรมแล้ว จังหวัด เทศบาลนครต่างๆ เน้นเชิญชวนคนมาร่วมลอยกระทง จัดงานให้มีบรรยากาศสนุกสนาน มีคอนเสิร์ต การแสดงดนตรีลูกทุ่ง นักร้องชื่อดัง มีมหกรรมอาหารท้องถิ่น ออกร้านขายสินค้า บวกกับการเข้ามาของกลุ่มทุนธุรกิจหรือค่ายน้ำเมาต่างๆ กลายเป็นช่องทางส่งเสริมการขายของแต่ละยี่ห้อ
หลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีหลายพื้นที่ที่จัดงานลอยกระทง ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชัดเจน สโลแกนลอยกระทงปลอดเหล้ายังเป็นที่รับรู้ของคนส่วนใหญ่ เพื่อสืบสานเอกลักษณ์ที่ดีงาม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยไม่เอาเหล้า-เบียร์มาเกี่ยวในเทศกาลงานบุญสำคัญๆ ทว่ายังมีอีกหลายจังหวัดยังไม่ควบคุมเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง ในขณะที่ชุมชนรอบพื้นที่จัดงานเทศกาลส่วนใหญ่อยากเห็นการจัดงานที่ควบคุมน้ำเมา เพราะเบื่อหน่ายจากปัญหาทะเลาะวิวาทผลจากการเมาขาดสติ รวมถึงการลวนลามหญิงสาวด้วยฤทธิ์น้ำเมา
เมื่อวานนี้ ภาคีเครือข่ายที่องค์กรงดเหล้า นักศึกษาจากเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่กว่าครึ่งร้อย เคลื่อนขบวนไปที่กระทรวงมหาดไทย ด้วยความวิตกเทศกาลลอยกระทงที่ใกล้เข้ามา โดยร้องขอให้เจ้ากระทรวงซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศให้เร่งรัดบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี
รวมถึงพื้นที่ห้ามขายห้ามดื่ม อาทิ สถานที่ราชการ สถานศึกษา สวนสาธารณะ วัด ซึ่งมักจะมีการจัดงานกาชาด ลอยกระทง สงกรานต์หรือปีใหม่ และควรนำเรื่องประสิทธิภาพในการควบคุม และลดปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวประเมินผลงานของจังหวัดด้วย
อีกข้อเรียกร้องผ่านผู้ใหญ่คือ ขอให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดดำเนินการให้งานบุญประเพณี อาทิ งานศพ งานบวช งานบุญอื่นๆ เป็นงานปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามที่มีบางจังหวัดทำสำเร็จมาแล้ว เช่น ศรีสะเกษ มหาสารคาม และน่าน เป็นต้น เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้เกือบครึ่ง นอกจากนั้นพวกเขาร้องขอให้ท่านรัฐมนตรีใหม่มอบหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานในสังกัด เร่งประชาสัมพันธ์และรณรงค์กฎหมายใหม่ 3 ฉบับ ได้แก่ ห้ามดื่มสุราบนรถ ห้ามขายห้ามดื่มในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน และห้ามขายห้ามดื่มในรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเข้มงวดสถานบริการ โดยเฉพาะร้านเหล้า ผับ บาร์ที่ตั้งอยู่รอบสถานศึกษาไม่ให้มีการทำผิดกฎหมาย ห้ามเด็กเข้าใช้บริการเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน และลดพื้นที่เสี่ยง
เวลานี้หลายพื้นที่เตรียมจัดงานประเพณีลอยกระทง ตรงกับวันที่ 28 พ.ย. ส่วนใหญ่สถานที่ที่ใช้จัดงานมักจะเป็นวัด สวนสาธารณะของทางราชการ สถานศึกษา บางพื้นที่อาจไม่มีการเข้มงวดหรือมีนโยบายควบคุมการห้ามขายห้ามดื่มสุรา ซึ่งตามกฎหมายแล้วถือว่าผิด มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ
รายละเอียดในการบุกกระทรวงมหาดไทยครั้งนี้ จึงเน้นคนมาเที่ยวผู้มาร่วมงานลอยกระทงสนุกได้แบบไร้แอลกอฮอล์ เจ้าภาพมีจิตสำนึกที่ดี ขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายด้วย เพื่อทำให้งานลอยกระทงเป็นประเพณีที่ดีงาม เพราะช่วยลดปัญหาอาชญากรรม การล่วงละเมิดทางเพศ เมาทะเลาะวิวาทนั่นเอง
ตอกย้ำลอยกระทงปลอดเหล้า วาระสำคัญอีกครั้งด้วยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนล่าสุด เรื่อง “ประเพณีลอยกระทงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เมื่อวันที่ 20–30 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา โดยสำรวจประชาชนจำนวน 1,893 ราย อายุ 15 ปีขึ้นไป อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเลือกสำรวจชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยจัดงานลอยกระทง อาทิ สวนสันติไชยปราการ สะพานพระราม 8 เป็นต้น
พบว่า เทศกาลลอยกระทงเป็นวันที่คนนิยมดื่มสุรา รองจากเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ นอกจากนี้ 92% รับรู้รับทราบถึงกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มสุราในสถานที่ราชการ สถานศึกษา วัด หรือสวนสาธารณะ แต่ที่น่าเป็นห่วง ปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 80% ยังพบเห็นการขายการดื่มในประเพณีลอยกระทงปีที่ผ่านมา สะท้อนชัดเจนว่ารู้กฎหมาย แต่ยังฝ่าฝืน
ในผลสำรวจยังเผยว่า สิ่งที่ประชาชนไม่อยากให้เกิดขึ้นในวันลอยกระทงคือ การจุดประทัด พลุไฟ 29% การทะเลาะวิวาท 26% ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์มีถึง 23% รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ 19% เป็นที่ทราบกันดีว่า ในเทศกาลลอยกระทงพบปัญหาเหล่านี้ โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นปัจจัยสำคัญก่อเกิดปัญหา และสร้างความสูญเสียถึงขั้นเสียชีวิต ตลอดจนทำลายวิถีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเก่าแก่
ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนกว่า 84% เชื่อว่าการจัดงานลอยกระทงที่ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานจะช่วยลดปัญหาต่างๆ ได้ และทำให้มีคนมาเที่ยวงานนั้นมากขึ้น พวกเขาเรียกร้องให้พ่อค้าแม่ค้าเคารพกฎหมาย และเจ้าหน้าที่เข้มงวดไม่ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งประชาชนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวังในหลายพื้นที่ หากพบเห็นการทำผิดกฎหมายแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที
ถือเป็นผลสำรวจความคิดเห็นที่อยากเห็นลอยกระทงเป็นประเพณีแห่งความศรัทธาและความสุข โดยปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิง นอกจากเป็นความจริงจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ยังอาจกระตุกเจ้าภาพผู้จัดงานลอยกระทงที่เห็นแก่ได้ จัดพื้นที่นั่งชิลจิบเบียร์ดื่มเหล้าทำลายประเพณี ตอนนี้ต้องรีบสร้างวัฒนธรรมที่ดี และผลักดันให้ลอยกระทงปลอดเหล้าในทุกพื้นที่อย่างเร็วที่สุด บุญประเพณีปลอดเหล้าเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนัก
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์