กระตุ้นสื่อวิทยุ หนุนพื้นที่ “เด็ก”

ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสื่อสารพัดจำนวนมาก สามารถชักจูงเด็กและเยาวชนไปในทางดีและไม่ดี แต่ด้วยกระแสโลกกำลังเป็นเสรีมากขึ้น จึงทำให้ข้อมูลต่างๆ ไหลบ่าเข้ามาโดยไม่มีการควบคุม สื่อดี สื่อคุณภาพ และสร้างสรรค์กลับลดลง เพราะไม่ค่อยตอบสนองความต้องการของสังคม และผลกำไรของผู้ผลิต แม้จะมีกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ก็ตาม ว่าสื่อต้องจัดช่วงเวลานำเสนอข้อมูลที่มีสาระ และยิ่งไปดูเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน วันนี้กลับถูกมองข้ามอย่างน่าใจหาย

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว และมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จัดงานสัมมนาเครือข่ายวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว “ก้าวสำคัญ ร่วมสร้างสรรค์อนาคตวิทยุเพื่อเด็กไทย” เพื่อร่วมผลักดันและพัฒนาหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่รายการวิทยุเพื่อเด็กและครอบครัวอย่างยั่งยืน

พร้อมทำความเข้าใจประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.2556 ทั้งนี้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ได้มอบประกาศนียบัตรให้เครือข่ายวิทยุฯ จำนวนกว่า 50 สถานีด้วย

โดย รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า จากการทำงานสื่อสร้างสรรค์ของ สสส. พบว่าในพื้นที่ห่างไกลที่ยังเข้าไม่ถึงระบบอินเทอร์เน็ต สื่อวิทยุถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการเสริมสร้างความรู้และกระตุ้นจินตนาการ รวมถึงเป็นสื่อกลางของครอบครัว สร้างการมีส่วนร่วม เพราะไม่ว่าจะทำกิจกรรรมใดก็สามารถเปิดวิทยุฟังได้

โดยเมื่อปี 2552 สสส.ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ในการจัดตั้งคลื่นวิทยุสีขาวต้นแบบ ที่คลื่น fm 105 ที่มีเนื้อหาเหมาะสมสำหรับเด็กและครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีคลื่นวิทยุเฉพาะสำหรับเด็ก แม้จะมีคลื่นวิทยุหลักถึง 500 กว่าสถานี แต่ส่วนใหญ่เป็นคลื่นของราชการหรือพาณิชย์ ซึ่งเน้นผลกำไรหรือตอบสนองเป้าหมายของหน่วยงานมากกว่าให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของเด็ก

รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวต่อว่า ในปี 2554 ได้มีการเชื่อมโยงสัญญาณในบางช่วงเวลาไปยังคลื่นวิทยุชุมชน เพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงวิทยุที่มีเนื้อหาดีๆ มากขึ้น ปัจจุบันมีการพัฒนาเครือข่ายวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว มีสมาชิกมากกว่า 200 สถานี เป็นการสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายการวิทยุนำเสนอเรื่องราวของเด็กในท้องถิ่นที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

ซึ่งตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.2556 กำหนดให้ผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงทั้งประเภทบริการสาธารณะ ประเภทกิจการบริการชุมชน และประเภทกิจการบริการทางธุรกิจ ต้องจัดให้มีรายการที่มีรายการเนื้อหาสร้างสรรค์สังคม หรือรายการสำหรับเด็กและเยาวชน อย่างน้อยวันละ 60 นาที ในช่วงเวลาที่กำหนดคือ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.00-18.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 07.00-09.00 น.

“ในอนาคต กสทช.ยังจะดำเนินการในเรื่องของ “ดิจิตอล เรดิโอ” ซึ่งสามารถฟังผ่านเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย การทำงานเรื่องสื่อวิทยุจึงไม่ได้ติดขัดที่เทคโนโลยี แต่จะทำอย่างไรให้เนื้อหามีความสร้างสรรค์ ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกับผู้ผลิตรายการวิทยุให้ดึงเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตรายการวิทยุ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายกว่าการผลิตรายการโทรทัศน์ เพราะใช้ทุนน้อยมาก” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว

นายวันชัย บุญประชา เลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้ของเด็กมีหลากหลาย โดยพ่อแม่เป็นหัวใจ สื่อเป็นตัวช่วยหนุนเสริม การมีสื่อที่หลากหลายทำให้เด็กและพ่อแม่เข้าถึงการเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะถ้าได้รับสื่อดี เนื้อหาสาระเหมาะสม รูปแบบการนำเสนอน่าสนใจ จะเป็นการสร้างการเรียนรู้ที่ดี สร้างเสริมให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีโอกาสสร้างและพัฒนาการเรียนรู้ได้ดี

ซึ่งในส่วนของสื่อวิทยุจะช่วยสร้างจินตนาการที่ดีให้กับเด็ก เพราะวิทยุเป็นสื่อที่ใช้ฟังเสียง ผู้ฟังสามารถนึกภาพและจินตนาการสิ่งที่ฟังได้ดีกว่าสื่อโทรทัศน์ที่บอกทุกอย่างให้กับผู้ชมทั้งหมดแล้ว แต่ทั่วประเทศคลื่นวิทยุดีเพื่อเด็กและครอบครัวแทบไม่มีเลย มีเพียงสถานีเดียวคือ fm 105

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสื่อสนุกเพื่อเด็กหลากหลายมาก โดยเฉพาะสื่อภาพเคลื่อนไหว ทั้งเกม แท็บเล็ต โทรทัศน์ ซึ่งทำให้เด็กติดได้ง่าย พ่อแม่จึงควรให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านสื่อที่หลากหลายรูปแบบ ซึ่งเด็กจะเลือกสื่อที่ชอบเอง บางคนอาจจะชอบออกไปเล่นนอกบ้าน บางคนชอบอ่านหนังสือ หรือบางคนชอบฟังวิทยุ เป็นต้น

นอกจากนี้ ลองมาฟังความเห็นกับเรื่องดังกล่าวจากผู้ที่ติดตามสื่อวิทยุเพื่อเด็ก นางริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด กล่าวถึงรายการวิทยุเพื่อเด็กและเยาวชนว่า เสียงเอฟเฟ็กต์ต่างๆ จะช่วยให้เกิดจินตนาการกับเด็ก ประกอบกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างพ่อแม่กับลูก ก็จะช่วยทำให้ลูกได้เกิดการเรียนรู้ ขณะที่รายการวิทยุต้องจัดให้เหมาะสมกับช่วงวัย เช่น เด็กเล็กพูดคุยกับพ่อแม่ เด็กโตเน้นการสร้างจินตนาการ พ่อแม่เองก็ต้องเป็นตัวอย่างให้กับลูก ที่สำคัญก็คือองค์กรสื่อต้องช่วยกันสนับสนุน

นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวถึงความท้าทายในการทำรายการวิทยุว่า ต้องนำรายการเด็กกลับมาและผลักดันให้เป็นโยบายของรัฐให้ได้ ดึงเด็กเข้ามาส่วนร่วม และการสร้างช่องวิทยุเด็กให้เกิดขึ้น อาจจะออกหรือออนไลน์อินเทอร์เน็ตเหมือนสถานีวิทยุที่ จ.ชลบุรี ที่ให้เด็กเข้ามาเป็นผู้ร่วมบริหารสถานี

“ต้องมีความหวังว่าวิทยุจะกลับมา และต้องทวนกระแสเหมือนปลาแซลมอนที่ว่ายทวนน้ำ ผลักดันเชิงนโยบาย ทำให้วิทยุเป็นของเล่นของเด็ก ต้องสนุก ให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วม เช่น เข้าไปในโรงเรียน ในชุมชน ที่สำคัญอีกอย่างก็คือการร่วมผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่อยู่ในสภาขณะนี้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ ต้องมองรอบด้านทั้งเด็กเมืองและเด็กต่างจังหวัด เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นนโยบาย” ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกล่าว

ด.ช.แสงจ้า ทาภา ตัวแทนเยาวชนที่เคยเป็นผู้จัดรายการเด็กในคลื่น fm 105 กล่าวว่า อยากให้มีรายการวิทยุเด็กต่อไป และให้ดีเจใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องและชัดเจน

“ผมว่ารายการวิทยุเด็กไม่มีวันตายครับ ถ้ายังมีการรายการอยู่ ก็มีคนฟัง อยากให้รายการวิทยุเด็กเข้าถึงโรงเรียน ไม่ใช่แค่เป็นตัวฆ่าเวลาฟังในรถ ปัจจุบันมีสื่อที่มีภาพเต็มไปหมด รายการวิทยุเด็กจะฝึกให้เด็กได้คิด ได้ใช้จินตนาการ และมีสมาธิในการฟังมากขึ้น” ด.ช.แสงจ้า กล่าว

หากผู้ประกอบการนึกถึงผลกำไรน้อยลง คิดถึงสังคมมากขึ้น ขณะที่ผู้ใหญ่ก็ควรนึกถึงอนาคตของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง รายการดีมีคุณภาพสำหรับเด็กและเยาวชนจะเพิ่มมากขึ้น

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code