กรมอนามัยแนะคนไทยลดหวานมันเค็มหนีโรคเรื้อรัง

อาหารประเภท หวาน มัน เค็ม ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยของการเกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน  และโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการรณรงค์ให้คนไทยหันมาดูแลในเรื่องอาหารการกินอย่างจริงจัง กรมอนามัยจึงได้มีนยโบายเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็มขึ้น โดยได้ดำเนินการในโรงพยาบาลของรัฐ และร้านอาหารทั่วประเทศ

กรมอนามัยแนะคนไทยลดหวานมันเค็มหนีโรคเรื้อรัง

ที่ผ่านมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย พาสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานเมนูชูสุขภาพ ลด หวาน มันเค็ม ในโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ภาคีภาครัฐตามแนวทางการดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล และชาวบ้านมีสุขภาพดี ลดอัตราป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน

นพ.สมยศ กล่าวว่า  จากผลการสำรวจสุขภาพคนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552 ในกลุ่มตัวอย่าง 20,290 คน เปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งที่ 3 พ.ศ.2546-2547 พบว่า ผู้หญิงมีความชุกของภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นจาก 34.4% เป็น 40.7% ส่วนในผู้ชายเพิ่มขึ้นจาก 22.5% เป็น 28.4% ในรอบปี 2552 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 558,156 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่า ในรอบ 10 ปี มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น 3.8 เท่า เสียชีวิตวันละ 36 คน ปี 2552 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน 7,019 คน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม บริโภคอาหารที่ไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย เช่น บริโภคอาหารมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย มีภาวะเครียด และเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ เป็นต้น

“อีกหนึ่งสาเหตุของปัญหาคือวิถีชีวิตการบริโภคอาหารประจำวันในเรื่องการปรุงอาหารรสหวาน มัน เค็มมากจนเกินไป ซึ่งทุกปัญหาไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเนื่องถึงภาวะเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอีกด้วยโดยในปี 2551 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคดังกล่าว 302,307 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น แนวทางการแก้ไขที่ถูกต้องและยั่งยืนคือการให้ความรู้เรื่องการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่เป็นเมนูชูสุขภาพควรมีการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และขณะเดียวกันกลุ่มวัยผู้ใหญ่ก็ยังต้องให้ความรู้ในด้านโภชนาการอย่างต่อเนื่อง” นพ.สมยศ กล่าว

ด้าน พ.อ.สมชาย ภัทรศุกล หัวหน้ากองส่งเสริมสุขภาพและเวชกรรมป้องกันโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม กล่าวว่า โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเกิดจาก ที่ผ่านมา คนหนุ่มสาวในพื้นที่เริ่มเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งเดิมโรคเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับคนสูงอายุ จากการสำรวจพบว่าพฤติกรรมการกินของคนในพื้นที่ที่เปลี่ยนไป มีดัชนีมวลกายที่เกินมาตรฐาน จึงได้นำกลุ่มเสี่ยงเข้าโครงการ โดยในปี 54 มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 150 คน น้ำหนักตัวลดลงตามเกณฑ์ 31.33%  หลักในการดำเนินกิจกรรม คือ  3 อ. ได้แก่ 1. อ อาหารผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องรู้ว่าอาหารแต่ละชนิดให้พลังงานเท่าใด มีประโยชน์มากร้อยแค่ไหน  2.อ. ออกกำลังกาย  ด้วยการเต้นลีลาศ หรือแอร์โรบิค และ อ.ที่ 3 คืออารมณ์ ซึ่งอารมณ์ที่ดีจะเป็นการเสริมสร้างอำนาจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังได้ให้ความรู้แก่ร้านค้าในการรังสรรค์เมนูอาหารที่มีประโยชน์ให้กับผู้ป่วยและผู้มาใช้บริการในโรงพยาบาล  นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ อสม.ในการช่วยคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเข้าร่วมกิจกรรมกับโรงพยาบาลเพื่อเป็นการป้องกันก่อนการเกิดโรค ทั้งนี้ การส่งเสริมให้ประชาชนเลือกกินอาหารที่เป็นเมนูชูสุขภาพ ลด หวาน มัน เค็ม ควบคู่กับออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามแนวทางการดำเนินงานของกรมอนามัย นอกจากจะช่วยให้ได้กินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม อันส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดอัตราป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทางโภชนาการที่สำคัญ ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ซึ่งล้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขให้น้อยลงด้วย

         

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

Shares:
QR Code :
QR Code