กรมสุขภาพจิต ชี้ไทยมีจุดแข็งสู้โควิด-19

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


กรมสุขภาพจิต ชี้ไทยมีจุดแข็งสู้โควิด-19 thaihealth


เเฟ้มภาพ


กรมสุขภาพจิต ชี้ไทยมีจุดแข็งสู้โควิด แนะคนไทยดึงพลัง “อึด ฮึด สู้” ก้าวผ่านสู่สังคมที่ดีกว่าไปพร้อมกัน


กรมสุขภาพจิต ชี้ประเทศไทยมีจุดแข็งทั้งด้านระบบการควบคุมโรคที่ดีในระดับแนวหน้าของโลก การมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากว่า   40 ปี และประเทศเรามีจิตอาสาที่ประเทศอื่นไม่มีที่พร้อมดูแลช่วยเหลือกัน และกันในสถานการณ์ที่ยากลำบาก มีระบบการเกษตร และธรรมชาติที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ในสถานการณ์ขณะนี้จึงขอเพียงให้ทุกคน ดึงพลัง “อึด ฮึด สู้”ที่มีอยู่ในตัวเองออกมาใช้ ก็จะสามารถก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 สู่สังคมที่ดีกว่าไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันหากรู้สึกหมดพลัง เครียดไปต่อไม่ไหวอย่าเก็บไว้คนเดียว ขอให้หาคนปรึกษา หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323


นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต   เปิดเผยกรณีปัญหาความเครียด วิตกกังวล จากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประชาชนในขณะนี้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทั่วโลก และเมื่อเทียบกันแล้วความรุนแรงของผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับยังนับว่าน้อยกว่าอีกหลายๆประเทศมาก ดังที่ปรากฏแล้วว่าอัตราการติดเชื้อรายใหม่ของเราลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป จึงทำให้เกิดภาพการขอกลับประเทศของคนไทยในต่างแดนก็มีจำนวนมาก


ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีจนเป็นที่ยอมรับ เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้าน เช่น ประเทศเรามีระบบการควบคุมโรคที่ดีในระดับแนวหน้าของโลก มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากว่า 40 ปี และประเทศเรามีจิตอาสาที่ประเทศอื่นไม่มีที่พร้อมดูแลช่วยเหลือกันและกันในสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมทั้งมีระบบการเกษตร และธรรมชาติที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานได้


ดังนั้นในสถานการณ์นี้ขอเพียงให้คนไทย ดึงพลัง “อึด ฮึด สู้” ที่มีอยู่ในตัวเองของทุกคนออกมาใช้ ก็จะสามารถก้าวผ่านวิกฤติ โควิด-19 ไปได้ แต่หากใครรู้สึกพลังหมด เครียดไปต่อไม่ไหว และมีสัญญาณที่บ่งบอก 3 ด้าน คือ ด้านร่างกาย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ตื่นเต้นตกใจง่าย ปวดศีรษะ ความดันสูง  ด้านอารมณ์ หงุดหงิดง่าย มีความเครียด รู้สึกโกรธ ฉุนเฉียว ท้อแท้ ซึมเศร้า ด้านพฤติกรรมมี ความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้างลดน้อยลง มีความก้าวร้าวมากขึ้น อดทนต่อสิ่งกระตุ้นได้น้อยลง ขออย่าเก็บไว้คนเดียวให้หาคนปรึกษา หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323

Shares:
QR Code :
QR Code