กรมสุขภาพจิตสำรวจคนไทย หวั่นภาวะโรคเครียด-ซึมเศร้า

แพทย์ชี้  เพราะแรงกดดันทางสังคมและสภาพสิ่งแวดล้อม

 กรมสุขภาพจิตสำรวจคนไทย   หวั่นภาวะโรคเครียด-ซึมเศร้า

          กรมสุขภาพจิต เตรียมสำรวจสุขภาพจิตคนไทยรอบ 5 ปีทั่วประเทศ ห่วงปัญหารุมเร้า หลังมีแรงกดดันภาวะครองชีพ ราคาน้ำมันพุ่ง วิกฤติอาหาร แต่เชื่อไม่รุนแรงเท่ายุคฟองสบู่แตก เพราะปรับตัวได้ทัน

 

          นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ทางกรมสุขภาพจิตเตรียมสำรวจสุขภาพจิตคนไทยในรอบ 5 ปี ซึ่งคล้ายกับการสำรวจเชิงระบาดวิทยา ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกรมได้สำรวจไปเมื่อปี 2546 จนถึงขณะนี้ครบ 5 ปีแล้ว ทั้งนี้เพื่อดูปัญหาสุขภาพจิตของคนไทย โดยเน้นที่สุขภาพจิต ภาวะโรคซึมเศร้า ความเครียด โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างกว่าหมื่นคนจากทั่วประเทศ จัดเก็บข้อมูลและประเมินโดยนักสุขภาพจิตและนักจิตวิทยา ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนหลังจากนี้

 

          นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า สุขภาพจิตปีนี้ของคนไทยเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะมีแรงกดดันจากภาวะสังคมและสภาพแวดล้อมมาก โดยเฉพาะอัตราค่าการครองชีพที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันขึ้นราคาและอาจไปแตะถึง 50 บาทต่อลิตร ราคาข้าว วิกฤติด้านอาหาร ส่งผลต่อสินค้าและการครองชีพของประชาชน ซึ่งนอกจากคนไทยจะต้องเตรียมใจแล้ว ทางรัฐบาลเองจะต้องช่วยและหาวิธีช่วยแก้ไขปัญหาปากท้องให้ชัดเจน ซึ่งจะทำให้คนสามารถพออยู่ได้ ปรับตัวได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่รุนแรง

 

          ขณะนี้ต้องยอมรับว่าเราหนีไม่ได้ ต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ และวางแผนแก้ไขปัญหาจากแรงกดดันที่เกิด แต่ทั้งนี้ภาวะเศรษฐกิจที่เห็นขณะนี้ เป็นแบบชนิดค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เพิ่มราคาสินค้า ค่าโดยสาร คนจะค่อยๆ ปรับตัวตาม เน้นในเรื่องการประหยัดได้ ต่างจากในยุคที่เศรษฐกิจเป็นฟองสบู่แตก ที่แตกเพียงชั่วข้ามคืน ทำให้บางคนเปลี่ยนฐานะจากหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นผู้ล้มละลาย ตกงาน ซึ่งจะปรับตัวได้ยากกว่า

 

          ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้สำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตระดับประเทศ ปี 2546 ในกลุ่มตัวอย่างกว่า 10,000 คนทั่วประเทศโดยศึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชที่สำคัญ ผลปรากฏว่า พบความชุกโรคซึมเศร้า 3.20% โรควิตกกังวล 1.85% โรคซึมเศร้าเรื้อรัง 1.18% โรคภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายระดับปานกลาง 1.16% ระดับสูง 0.9% โรคกลัวที่ชุมชน 0.89% โรคจิต 0.59% โรคความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดคลั่ง 0.46% โรคความผิดปกติทางอารมณ์แบบมีอาการทางจิต 0.46% โรคความผิดปกติทางอารมณ์เป็นครั้งคราว 0.38% และโรควิตกกังวลชนิดกลัวสุดขีด 0.36%

  

ที่มา :  กรุงเทพธุรกิจ

ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th

update 25-04-51

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ