กรมชลฯ เปิดตัวแอปพลิเคชั่นวัดระดับน้ำเรียลไทม์

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


กรมชลฯ เปิดตัวแอปพลิเคชั่นวัดระดับน้ำเรียลไทม์ thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมชลฯ เปิดตัวไม้บรรทัดวัดระดับน้ำ "แอปพลิเคชั่น SWOC WL” สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนตรวจวัดระดับน้ำได้ด้วยตนเองแบบเรียลไทม์


ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แอปพลิเคชั่น SWOC WL เป็นแอปพลิเคชั่นตรวจวัดระดับน้ำ ที่กรมชลประทานได้พัฒนาขึ้นมาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะมุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 และเป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทานภายใต้กรอบแนวคิด RID No.1 ซึ่งได้ตั้งเป้าที่จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาระบบการทำงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะให้ได้ภายในปี 2579 ตลอดจนยังเป็นการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทานอีกด้วย


สำหรับแอปพลิเคชั่น SWOC WL ดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดเปิดใช้งานได้บนโทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถตรวจวัดระดับน้ำได้ด้วยตนเอง ด้วยการแสกน AR MARKER แล้ววัดระดับน้ำในบริเวณที่สนใจ ระบบจะประมวลผลและส่งผลการประเมินพร้อมข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ เช่น สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน แนวโน้มของระดับน้ำในลำน้ำ กลับไปให้ผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้


โดยกรมชลประทานมีแผนต่อยอดจุดบริการ SWOC WL ทั้งสิ้น 935 จุด ให้ครอบคลุมลำน้ำต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ ภายในระยะเวลา 3 – 5 ปี ซึ่งในปีนี้เป็นปีนำร่อง เริ่มติดตั้งจุดบริการ 3 แห่ง คือ บริเวณท่าเรือวังหลัง (ศิริราช) (กรุงเทพฯ) ท่าเรือนนทบุรี (จ.นนทบุรี) และตลาดน้ำอยุธยา (วัดท่าการ้อง จ.อยุธยา) ในปีงบประมาณ 2562 จะดำเนินการติดตั้งจุดบริการเพิ่มเติมอีก 150 จุด กระจายตามลำน้ำสำคัญทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2563 ติดตั้งจุดบริการเพิ่มเติมอีก 300 จุด และในปีงบประมาณ 2564 ติดตั้งจุดบริการเพิ่มเติมอีก 482 จุด รวมเป็น 935 จุด ครอบคลุมลำน้ำต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้กรมชลประทานได้รับข้อมูลสถานการณ์น้ำ ณ เวลาจริง และประชาชนทั่วประเทศก็สามารถตรวจวัดระดับน้ำ ณ จุดต่างๆ ของลำน้ำที่ตนเองสนใจได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของลำน้ำนั้นๆ จากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) เพิ่มเติมด้วย ในปีแรกนี้ ประชาชนจะสามารถตรวจวัดระดับน้ำ และทราบสถานะของระดับน้ำในลำน้ำว่าอยู่ที่สถานะไหน ปกติ เฝ้าระวัง หรือเตือนภัย เท่านั้น แต่นับเป็นก้าวแรกในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ให้ประชาชนสามารถตรวจวัดระดับน้ำ และติดตามสถานการณ์น้ำได้ด้วยตนเอง ซึ่งในปีที่ 2 – 4 SWOC WL จะถูกพัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถประมวลผล และรายงานแนวโน้มของสถานการณ์น้ำในลำน้ำที่ตรวจวัดให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นทราบ รวมถึงสามารถติดตามสถานการณ์น้ำของลำน้ำต่างๆ ทั่วประเทศได้อีกด้วย ซึ่งระบบ SWOC WL คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ. 2564


ทั้งนี้ ในปัจจุบัน SWOC จะเป็นศูนย์บัญชาการในการประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ การติดตาม พยากรณ์สถานการณ์น้ำ การจัดสรรน้ำ การเฝ้าระวังเพื่อการเตือนภัยจากน้ำ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาจัดการกับข้อมูลให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงและจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลาง สะดวกต่อการใช้งาน สามารถนำมาติดตาม วิเคราะห์ และพยากรณ์สถานการณ์น้ำ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว น่าเชื่อถือ ทันเหตุการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการน้ำสำหรับการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย และทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


นอกจากนี้ ดร.ทองเปลวยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า ได้กำหนดเป้าหมายให้ประชาชนมีความสุข ความปลอดภัย ความก้าวหน้า และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับ วิสัยทัศน์เชิงนโยบาย Thailand 4.0 โดยการปรับเปลี่ยนให้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน “สานพลังประชารัฐ” ส่งเสริมโครงสร้างด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ


"ที่ผ่านมาการดำเนินงานของกรมชลประทาน นอกจากจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้ว ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลอีกด้วย" ดร.ทองเปลว กล่าวในตอนท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code