กรมชลฯ เตรียมรับมือพายุโซนร้อน `ปาบึก`

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


กรมชลฯ เตรียมรับมือพายุโซนร้อน 'ปาบึก' เคลื่อนตัวสู่อ่าวไทย thaihealth


แฟ้มภาพ


"รมว.เกษตรฯ" สั่งกรมชลฯรับมือพายุโซนร้อน"ปาบึก"เคลื่อนตัวสู่อ่าวไทย 16 จ.ภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ระดมแผนปฏิบัติการป้องกันพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย


นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าจากประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่า พายุโซนร้อนปาบึกซึ่งคาดว่า จะเคลื่อนลงอ่าวไทย รวมทั้งจะส่งผลให้วันที่ 3 – 5 ม.ค.62 เกิดฝนตกหนักทั้ง 16 จังหวัดภาคใต้ โดยจะเริ่มจากบริเวณตอนล่างของภาคก่อน แล้วขยับขึ้นมาทางตอนบน ทั้งนี้นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ห่วงใยสถานการณ์น้ำจึงสั่งการด่วนให้กรมชลประทานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดเป็นข้อมูลในการวางแผนการระบายน้ำ


นายทองเปลว กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เร่งพร่องน้ำออกจากลำน้ำต่าง ๆ ทำให้ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2-3 เมตรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับน้ำจากฝนที่ตกลงในพื้นที่ สำหรับเขื่อนต่างๆ ได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนไว้ล่วงหน้าแล้วเช่นกัน จากที่เขื่อนขนาดกลางส่วนใหญ่มีปริมาตรน้ำร้อยละ 70 -80 ของความจุอ่าง ได้ให้โครงการชลประทานแต่ละแห่งระบายน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมทั้งนี้ต้องไม่เร่งระบายออกมากเกินไป จนเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนแล้ว ภาคใต้จะยังคงมีน้ำเก็บกักเพียงพอ


นายทองเปลว กล่าว่า พื้นที่ที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบมีทั้งพื้นที่เกษตร พื้นที่เศรษฐกิจ และเขตเมือง ซึ่งหากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง กรมชลประทานจะทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยงอุทกภัย ที่สำคัญได้บูรณาการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนข่าวสารสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบข่าวสารอย่างถูกต้อง ชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นการป้องกันหรือลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด  


นอกจากนี้ได้สำรวจตรวจสอบระบบอาคารชลประทานให้มีพร้อมใช้งานตลอดเวลา ให้โครงการชลประทานทุกแห่งในพื้นที่ภาคใต้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิมได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่ หากเกิดฝนตกหนักจะได้เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำนั้น ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องมืออื่นเตรียมพร้อมไว้ด้วยแล้ว


ส่วนพื้นที่เสี่ยง 75 จุดตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงมาทั้ง 16 จังหวัดที่ก่อนฤดูฝนสำรวจพบว่า มีอุปสรรคในการระบายน้ำ ได้แก้ปัญหาทั้งด้วยการขุดลอกลำน้ำ นำสิ่งกีดขวางทางน้ำออก ขุดขยาย และขุดคลองลัด สำหรับเครื่องจักร-เครื่องมือที่กรมชลประทานจัดเตรียมไว้ตามโครงการชลประทานต่าง ๆ รวมไปถึงพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในภาคใต้ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ 453 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 300 ชุด เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 82 เครื่อง    รถขุด`/รถแทรกเตอร์ 108 คัน รถบรรทุก/ยานพาหนะ 324 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ 245 หน่วยสะพานเหล็กแบบถอดประกอบได้ 1 ชุดซึ่งสำรองไว้ที่ภาคใต้แล้วเพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยได้อย่างรวดเร็วทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำชับให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ บูรณาการช่วยเหลือดูแลเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมและเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วม น้ำหลาก  ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนของภาคใต้ กระทรวงเกษตรฯ ตั้งศูนย์อำนวยการและบัญชาการสถานการณ์ เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์และเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปริมาณฝนและน้ำท่าที่จะเพิ่มขึ้น โดยทุกพื้นที่ต้องประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 16 จังหวัดเพื่อบูรณาการหน่วยงานแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วมเป็นประจำ


ได้มอบให้รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานศูนย์ฯ โดยมีสำนักแผนงานและโครงการพิเศษเป็นฝ่ายเลขานุการประสานงานกรมต่างๆ เข้าพื้นที่สำรวจความเสียหาย หากมีพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งประสานความร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อช่วยเหลือประชาชน กำหนดให้ศูนย์อำนวยการฯ สรุปสถานการณ์เป็นรายวันจนกว่าสถานการณ์กลับสู่ปกติเพื่อให้ช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันเหตุการณ์  


นอกจากนี้ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ไปตรวจติดตามการทำงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมตรวจสอบส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทุกหน่วยในพื้นที่บูรณาการกันไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกรตามที่ได้กำหนดแนวทางไปปฎิบัติไว้หรือไม่ รวมถึงกำชับให้มีประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ (อ.พ.ก.) จังหวัด และรายงานสถานการณ์แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในพื้นที่ด้วย เพื่อจะได้รับสถานการณ์และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้มากที่สุด และทันทีที่น้ำลดให้เร่งสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตรเพื่อช่วยเหลือโดยด่วนที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code