กรมควบคุมโรคเตือนโรคหน้าหนาว ‘สครับไทฟัส’

กรมควบคุมโรค เตือนโรคที่มากับหน้าหนาวออกเที่ยวป่า ระวังติดโรคสครับไทฟัส หลังพบสถิติปีนี้ป่วยแล้วกว่า 7,000 ราย

เมื่อ วันที่ 14 ธ.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ช่วงนี้หลายพื้นที่มีอากาศหนาวเย็น ตามป่าตามเขา จึงเป็นพื้นที่ที่คนมักนิยมไปเที่ยว เดินป่า หรือกางเต็นท์นอน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกตัวไรอ่อนที่อาศัยอยู่ในป่ากัด จนอาจติดเชื้อและป่วยเป็นโรคสครับไทฟัส (scrub typhus) หรือ โรคไข้รากสาดใหญ่ได้ โดยโรคสครับไทฟัสหรือโรคไข้รากสาดใหญ่เกิดจากตัวไรอ่อน (chigger) กัดหรือดูด เลือดซึ่งในตัวไรอ่อนจะมีเชื้อริกแกตเซีย (rickettsia) เชื้อนี้อาศัยอยู่ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น กระแต กระจ้อน หนู ซึ่งตัวไรอ่อนจะเข้าไปกัดตามตัวโดยเฉพาะที่พบบ่อยคือ บริเวณร่มผ้า เช่น ขาหนีบ เอว ลำตัวบริเวณใต้ราวนม รักแร้ และคอ โดยโรคนี้จะมีระยะฟักตัวของโรค 6-21 วัน หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 1 สัปดาห์

ลักษณะเฉพาะของโรคนี้อย่างหนึ่งที่พบได้คือรอยแผลเหมือนโดนบุหรี่จี้ ตรงบริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด แต่อาการของโรคจะค่อนข้างหลากหลาย ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา ตาอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต ไอแห้ง และอาจมีอาการอักเสบที่สมอง ปอดบวม ดีซ่าน ในรายที่อาการรุนแรงหัวใจจะเต้นเร็วมาก ความดันโลหิตต่ำ อาจถึงขั้นช็อกเสียชีวิตได้

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึง 18 พ.ย. 55 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส จำนวน 7,412 ราย เสียชีวิต 4 ราย พื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคสครับไทฟัสมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือรองลงมาคือภาคอีสาน อย่างไรก็ตาม อาการของโรคสครับไทฟัสไม่ได้รุนแรงเหมือนไข้มาลาเรีย แต่หากรักษาไม่ทันหรือไม่ทราบว่าเป็นอาการจากไรอ่อนกัด ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ไตเป็นพิษ ไตวาย ซึ่งการรักษาไม่สามารถรับประทานยาจำพวกแก้ไขแก้ปวดได้ เนื่องจากโรคนี้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะโดยแพทย์เท่านั้น ดังนั้นหลังกลับออกจากเที่ยวป่าภายใน 2 สัปดาห์ แล้วป่วยมีไข้ขึ้นสูง มีอาการปวดศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าให้แพทย์ทราบเพื่อรับการรักษา โดยเร็ว

“เนื่องจากโรคสครับไทฟัสยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ประชาชนที่จะไปเที่ยวป่า ต้องรู้จักป้องกันตัวเอง ระวังอย่าให้ไรอ่อนกัด ควรเก็บกวาดบริเวณตั้งแคมป์หรือกางเต็นท์ให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และทาโลชั่นกันยุงที่มีส่วนผสมของสาร deet หรือใช้สมุนไพรทากันยุงซึ่งสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้เช่นกัน และควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่หรือตั้งรกรากใหม่ ทุ่งหญ้า ชายป่าหรือบริเวณมีต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาด เพราะอาจมีตัวไรติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

Shares:
QR Code :
QR Code