กม.ห้ามสูบบุหรี่ลดผู้ป่วยโรคหัวใจฉุกเฉินได้

เผยพิษควันบุหรี่มือสองส่งผลหัวใจ-หลอดเลือด

 กม.ห้ามสูบบุหรี่ลดผู้ป่วยโรคหัวใจฉุกเฉินได้

          ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า จากการรายงานการวิจัยจากประเทศสกอตแลนด์ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชื่อดังนิวอิงแลนด์เจอร์นัล ฉบับที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจฉุกเฉินช่วง 10 เดือน หลังกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะและที่ทำงานทุกแห่งมีผลบังคับใช้ ลดลง 17% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยอัตราลดลงก่อนหน้านี้เฉลี่ยเท่ากับ 3% ต่อปีโดยจำนวนผู้ป่วยที่เข้าอยู่โรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจฉุกเฉินลดลงจาก 3,235 คน ระหว่างมิ.ย.48-มี.ค.49 เหลือ 2,684 คน ระหว่างมิ.ย.49-มี.ค.50 โดยเป็นการลดลง 14% ในคนที่สูบบุหรี่ 19% ในคนที่เคยสูบบุหรี่แต่เลิกสูบแล้ว และ 21% ในคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ทั้งนี้สกอตแลนด์เริ่มห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะและที่ทำงานตั้งแต่เดือน มีนาคม 2549

 

          ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า หลักฐานการวิจัยพบว่าการได้รับควันบุหรี่มือสองแม้ในระยะเวลาอันสั้นก็สามารถส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยทำให้เกร็ดเลือดเกาะตัวกันง่ายขึ้น ผนังเส้นเลือดเกิดการอักเสบ เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง การเปลี่ยนแปลงของการเต้นของหัวใจลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้นำไปสู่การป่วยด้วยโรคหัวใจฉุกเฉินได้ คนไม่สูบบุหรี่ที่ได้รับควันมือสองในที่ทำงานหรือที่บ้าน เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจขึ้น 20-30% และในปี 2547 ที่คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 7,907 คน จากการสูบบุหรี่นั้น ไม่ได้รวมที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจ จากการได้รับควันบุหรี่มือสองซึ่งจะต้องมีการวิจัยว่ามีจำนวนเท่าไรต่อปีด้วย

 

          ทั้งนี้ ในวันที่ 8 พ.ย.2552 ประเทศไทยต้องทำให้สถานที่สาธารณะและที่ทำงานทุกแห่งปลอดบุหรี่ 100% ตามพันธกรณีที่ประเทศภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบจะต้องปฏิบัติ คนไทยทุกคนต้องผลักดันให้สถานที่สาธารณะและที่ทำงานทุกแห่งปลอดบุหรี่ 100% ร่วมกัน หากต้องการสติ๊กเกอร์หรือสัญลักษณ์ ห้ามสูบบุหรี่สามารถขอรับได้ที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทร.0-2278-1828

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

 

 

update : 19-08-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code